การปฏิวัติ 2475 -2476 ประชาชนคือผู้ชม หลัง 2516 จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

การปฏิวัติ 2475 -2476

ประชาชนคือผู้ชม

หลัง 2516 จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท (จบ)

 

การลุกขึ้นสู้ของประชาชน

ช่วงที่ 1 (2516-2525)

วิเคราะห์การเข้าร่วมของประชาชนที่อยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ช่วงที่ 1 อยากพ้นจากอำนาจเผด็จการที่สืบทอดมา 2490-2515

รูปแบบการเคลื่อนไหว มีทั้ง 3 รูปแบบ คือ

1. การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบชุมนุมเดินขบวน

2. เข้าร่วมกับพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

3. เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ

เริ่มจาก 14 ตุลาคม 2516 โดยการชุมนุมเดินขบวนของประชาชน จึงขับไล่เผด็จการได้ และได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร มีการแต่งตั้ง ส.ว.ได้ 100 คน แต่ข้าราชการมาเป็น ส.ว.ไม่ได้ มีการเลือกตั้ง ส.ส. 2 ครั้ง พ.ศ.2518 และ 2519 รัฐธรรมนูญใช้ได้เพียง 2 ปีก็เกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

การรัฐประหารครั้งนี้มีการปราบอย่างรุนแรงทำให้นักศึกษาเสียชีวิต และส่วนหนึ่งได้หนีเข้าป่า ใช้วิธีติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล

การพัฒนาประชาธิปไตยมีเพียง 3 ปีก็จบลง ต่อด้วยเผด็จการอีก 3 ปี ช่วงนั้นไม่มีทั้งการเลือกตั้งและการชุมนุม มีเพียงแต่การต่อสู้ด้วยอาวุธ จบลงประมาณปี 2525

จากนั้นการปกครองก็ถอยหลังไปสู่ระบบอำนาจนิยมเป็นใหญ่ ผู้มีอำนาจได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ประเทศนี้จึงมีการปกครองด้วยระบอบเผด็จการครึ่งใบ ที่มีรัฐธรรมนูญ และมีเลือกตั้ง แต่ก็มี ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ ได้ สืบทอดมาอีก 8-9 ปี ภายใต้รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

อาจเรียกได้ว่าเป็นการแบ่งอำนาจให้ประชาชนบ้าง แต่ตำแหน่งนายกฯ ไม่ให้ ฝ่ายประชาชนเหลือเพียงการเลือกตั้งไม่ว่าจะได้ประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ต้องยอม

 

ช่วงที่ 2 การเข้าร่วมของประชาชน

ในยุคประชาธิปไตยเปิด

เมื่อรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นบริหารประเทศ ปี 2531 ต่อจากนายกฯ เปรม เหมือนจะเปิดฟ้าประชาธิปไตยใหม่ แต่ในปี 2534 ก็ถูกทหารคณะ รสช. รัฐประหาร ทว่า การสืบทอดอำนาจไปไม่รอด เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 คณะ รสช.ถูกโค่นลง จากการต่อสู้ของประชาชน ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก

ช่วง 2531-2549 มีการเลือกตั้งถึง 7 ครั้ง มีการพัฒนาประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ นานถึง 18 ปี

การต่อสู้ช่วงนี้ประชาชนเริ่มเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงด้วยการชุมนุมเดินขบวนในปี 2535 จากนั้นประชาชนก็ใช้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินตลอดสิบกว่าปี

น่าเสียดายที่วงจรอุบาทว์กลับมาอีกครั้ง โดยการยึดอำนาจปี 2549 ของกลุ่มอำนาจเก่า ทำลายประชาธิปไตย จากนั้นก็พยายามรักษาอำนาจด้วยการออกไข่เป็นร่างรัฐธรรมนูญ ที่ดีไซน์ให้ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม และยังเพิ่มอำนาจที่ชี้ถูกผิด เป็นตาย ให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แม้ฝ่ายประชาชนชนะเลือกตั้ง ก็ยังไร้อำนาจ

ประชาธิปไตยจึงไม่เดินหน้าต่อ แต่ย้อนกลับ

 

ช่วงที่ 3 การร่วมสู้

ในยุคอำมาตยาธิปไตย 2549-2562

การมีรัฐประหาร 2549 และ 2557 ทำให้ประเทศไทยเดินย้อนไปสู่ยุคอำมาตยาธิปไตย ที่จะยาวนาน นี่คือตัวขัดขวางประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา เสียงประชาชนไม่มีความหมาย

ตัวอย่างเช่น หลังการเลือกตั้ง 2548 เมื่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะท่วมท้น 377 เสียงจาก 500 จึงถูกรัฐประหาร 2549 แม้ประชาชนจะยืนยันเลือกพรรคฝ่ายทักษิณอีก กลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่ยอม มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและบูรณาการกำลังต่างๆ เพื่อทำการยึดอำนาจ สืบทอดอำนาจและปกครอง

มีการใช้ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน และตุลาการภิวัฒน์ อำนาจทหาร รวมทั้งใช้พรรค ปชป.มาเปลี่ยนขั้วในปี 2551

ในปี 2556 หลัง ปชป.แพ้เลือกตั้งปี 2554 กลุ่มอำนาจเก่า ใช้ม็อบ กปปส.ปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง ใช้ตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหารในปี 2557

สถานการณ์การเมือง ณ ช่วงเวลานั้นอาจวิเคราะห์ได้ว่ากลุ่มอำนาจเก่ารู้อยู่แล้วว่าผลการเลือกตั้ง กลุ่มอนุรักษนิยมหลายพรรครวมกันก็ยังไม่ชนะ พวกเขาจึงเดินแนวทางชิงอำนาจ

การที่ประชาชนได้เข้าร่วมต่อสู้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำของพรรคไทยรักไทยแม้จะถูกยุบพรรคก็ตั้งใหม่จนกระทั่งกลายเป็นพรรคเพื่อไทย ภายใต้แนวทางที่ใช้การเลือกตั้งเป็นหลักในการต่อสู้ จนกระทั่งมามีการชุมนุมครั้งใหญ่ในปี 2553 และเกิดการปะทะกับทหารตั้งแต่ 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม 2553 มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

กลายเป็นแผลที่ร้าวและลึกไปทั่วแผ่นดิน

 

การเข้าร่วมของประชาชน

ในยุคปัจจุบัน 2562-2567

เกิด ‘คณะราษฎร’ ชุดใหม่

การเลือกตั้ง 2562 ตัวละครตัวใหม่ที่โผล่ขึ้นมาคือพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าและแรงกว่าพรรคเพื่อไทย ในการเข้าต่อกรกับอำนาจเก่าจนกระทั่งถูกยุบพรรค

แต่ปี 2563 ก็ได้มีตัวละครที่แรงยิ่งกว่า คือกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมเดินขบวนประท้วง

8 ตุลาคม 2563 ตัวแทนจากกลุ่มองค์กรหลากหลาย เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มประชาชนปลดแอก, เยาวชนปลดแอกได้ประกาศหลอมรวมเป็น ‘คณะราษฎร’ และนำในการเคลื่อนไหวในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยมีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง, เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอข้อเรียกร้องที่ออกมาใหม่นี้ ถือว่ากระทบต่อความคิดอนุรักษนิยมอย่างแรง อุดมการณ์เชิงประชาธิปไตยของพรรคไทยรักไทยที่เติบโตมาจนถึงพรรคเพื่อไทย เมื่อเทียบแล้วจึงกลายเป็นพรรคการเมืองกลางๆ ธรรมดา

เมื่อมาถึงการเลือกตั้ง 2566 ก็ได้พิสูจน์ความคิดของประชาชนจากการลงคะแนนเสียง เพราะไม่ว่าพรรคก้าวไกลที่เปลี่ยนชื่อมาจากอนาคตใหม่จะถูกโจมตีว่าเป็นฝ่ายซ้ายมากเท่าไรก็ยังมีคนเลือกถึง 14 ล้านกว่า ในขณะที่พรรคเพื่อไทยมีคนเลือกเกือบ 11 ล้าน

พรรคอนุรักษนิยมและฝ่ายขวารวมกันทุกพรรคแล้วได้ประมาณ 8-9 ล้านเท่านั้น

สิ่งที่อำนาจเก่ากำลังจะทำซ้ำ ก็คือการยุบพรรคก้าวไกล เป็นสูตรเก่าที่ทำมาตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่

แต่สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมก้าวเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าใครล้าหลัง ก็ก้าวตามมาทีหลัง ใครไม่เห็นด้วย ก็จะหลุดจากขบวนไป พวกเขาก้าวไปตามอุดมการณ์ความคิดของยุคสมัย

มีการเข้าร่วมทางการเมืองผ่านระบบสื่อสารสมัยใหม่ตลอดทั้งปี

และจากนี้จะเป็นการเข้าร่วมปฏิบัติการ ผ่านระบบเลือกตั้งต่างๆ ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเลือก ส.ว. อบจ. อบต. เทศบาล และเลือกตั้ง ส.ส.

กลุ่มอำนาจเก่ายังเข้าใจผิดว่า…กำลังสู้อยู่กับพรรคการเมือง แต่สิบกว่าปีมานี้ ประชาชนลงสนามเต็มตัว คู่ต่อสู้แท้จริงคือประชาชนซึ่งไม่ได้สนใจว่าชื่อพรรคอะไร ใครเป็นผู้นำ