‘อียู’ สรุปปมโลกเดือด (1)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สํานักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เผยแพร่รายงานการประเมิน 36 ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วยุโรป พร้อมกับจัดลําดับความสําคัญการดําเนินนโยบายของสหภาพยุโรป

ผมเห็นว่าเป็นรายงานที่น่าสนใจมากเพราะฉายภาพให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศผลักให้ทวีปยุโรปเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว

ในรายงานสรุปสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จากน้ำมือมนุษย์จำแนกออกมาเป็นประเด็นสำคัญ

ดังนี้

 

ปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และค่าเฉลี่ยทั่วโลกอุณหภูมิในช่วง 12 เดือน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 และเดือนมกราคม 2567 เกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนโลกใบนี้จะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ยุโรปเป็นทวีปที่มีอากาศร้อนเร็วที่สุดในโลก อากาศที่ร้อนสุดขั้วนี้ในอดีตค่อนข้างจะเกิดขึ้นยาก แต่เวลานี้เกิดถี่บ่อย

ขณะที่รูปแบบของฝนตกมีความเปลี่ยนแปลง ฝนที่ตกลงมามีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเดิม เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เห็นความหายนะที่เกิดจากน้ำฝนในหลายพื้นที่ แต่ในเวลาเดียวกัน บริเวณยุโรปตอนใต้กลับมาปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างมากและภัยแล้งแผ่ขยายรุนแรง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เมื่อผนวกกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อให้เกิดความท้าทายที่สําคัญทั่วยุโรป โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงทางการเงินและสุขภาพของประชากรทั่วไปและสุขภาพคนงานกลางแจ้ง

ในทางกลับกัน เหตุการณ์นี้ยังส่งผลต่อกระบวนการทํางานร่วมกันและความมั่นคงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่ออาณาบริเวณอื่นๆ ของโลก ส่งผลต่อแหล่งน้ำจืด และระบบนิเวศทางทะเล

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเสี่ยงเพิ่มเป็นทวีคูณเพิ่มความเสี่ยงที่มีอยู่ให้รุนแรงและวิกฤตมากขึ้น ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศยังไปเพิ่มหรือลดระบบอื่นๆ ของโลก พื้นที่อื่นๆ นอกอาณาเขตยุโรปและกระทบต่อระบบสภาพภูมิอากาศที่มีมิติซับซ้อน อีกทั้งยังนําไปสู่ความท้าทายทั่วทั้งระบบที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสังคมที่อ่อนแอได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ

ยกตัวอย่างเช่น ภัยแล้งครั้งใหญ่นําไปสู่ความไม่มั่นคงด้านน้ำและอาหาร โครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของชุมชนเมืองเกิดความเสียหาย และภัยคุกคามต่อตลาดการเงินและความมั่นคง

เมื่อคำนวณสัดส่วนความเสี่ยงรุนแรงของสภาพอากาศในยุโรป สามารถประเมินได้ว่ายุโรปได้เข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว หากไม่มีมาตรการเด็ดขาดจริงจังในตอนนี้ ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศเข้าถึงระดับหายนะภายในสิ้นศตวรรษนี้ จะมีผู้เสียชีวิตนับแสนคนจากคลื่นความร้อน จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมชายฝั่ง

ประเมินว่าน้ำท่วมในแต่ละปีอาจเกิดความเสียหายมากถึง 1 ล้านล้านยูโร (อยากรู้ว่าเป็นเงินไทยเท่าไหร่ เอาอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 ยูโร เท่ากับ 39.7 บาท ไปคูณกันเอง)

 

การกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับภูมิภาคของยุโรปและระดับนานาชาติจะช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ผู้คน และเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้เร็วแค่ไหน และเตรียมความพร้อมของสังคม ให้ผู้คนปรับตัวเข้ากับผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กล่าวได้ว่า ในขณะนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกมีความก้าวหน้าอย่างมากในการทําความเข้าใจความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่กําลังเผชิญและเตรียมพร้อม

สหภาพยุโรปนำการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพอากาศมาใช้มากขึ้นเพื่อพัฒนาแนวนโยบายการปรับตัวให้เข้ากับเสี่ยง

แต่ถึงกระนั้นนโยบายการเตรียมความพร้อมของผู้คนในสังคมยังอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น การร่วมมือประสานงานต้องเพิ่มความเข้มในทุกระดับทั้งการกํากับดูแลนโยบายและเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

นโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ในอนาคต เช่น การวางแผนใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่มีอายุการใช้งานนานๆ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ชุมชนอาจตกอยู่ในวงล้อมของพายุฝนน้ำท่วมหนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบูรณาการนโยบาย โดยเอาเป้าหมายมาพิจารณาเช่นนโยบายใหม่ๆ สามารถรองรับการปรับตัวของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน

ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปผู้บริหารในรายงานชิ้นล่าสุดของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป

 

ในลำดับถัดมา รายงานฉบับนี้ได้บรรยายรายละเอียด สภาพภูมิอากาศของยุโรปที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กิจกรรมของมนุษย์นําไปสู่ภาวะโลกเดือดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

รายงานตอกย้ำให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอุณหภูมิในช่วง 12 เดือน ระหว่างกุมภาพันธ์ 2566 ถึงมกราคม 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ร้อนมากกว่าเมื่อ 100,000 ปีก่อน

อุณหภูมิของน้ำทะเลก็ถึงจุดสูงสุดเช่นกัน ยุโรปมีภาวะร้อนเร็วที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา และอากาศร้อนในทวีปยุโรปนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกประมาณสองเท่าตัว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายุโรปทำสถิติใหม่ๆ ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งคลื่นความร้อนเกิดถี่บ่อยและยืดเยื้อยาวนาน เกิดภัยแล้งต่อเนื่อง เกิดฝนตกหนักนําไปสู่น้ำท่วมและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นนําไปสู่น้ำท่วมชายฝั่ง

อันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในยุโรปประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงศตวรรษที่ 21 เฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมชายฝั่งเพียงอย่างเดียวอาจเกิน 1 ล้านล้านยูโรต่อปีภายในสิ้นศตวรรษนี้

 

ยุโรปไม่เพียงแต่เผชิญกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่มีผลต่อการเตรียมพร้อมของสังคมด้วย

ยกตัวอย่างเมื่อเกิดคลื่นความร้อน ประชาชนเกิดความเครียด โดยเฉพาะในพื้นที่ยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันตกประชากรต้องเครียดจากความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปใต้และยุโรปตะวันตก

คลื่นความร้อนในฤดูร้อนปี 2546 เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของผู้คนก่อนวัยอันควรระหว่าง 60,000 ถึง 70,000 ราย

แม้ประเทศต่างๆ ในยุโรปจะทุ่มเงินงบประมาณในแผนปฏิบัติการรับมือกับคลื่นความร้อนแต่ยังมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในยุโรปตอนใต้เป็นปัจจัยสำคัญให้ฝูงยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคร้ายไปแพร่กระจายในพื้นที่อื่นๆ ของยุโรปมากขึ้น

ส่วนคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่ยืดเยื้อ ผลักให้ยุโรปนําไปสู่วิกฤตการณ์ที่รุนแรง เช่น ไฟป่า ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของชุมชน ทำให้กระแสไฟฟ้าดับ ไฟป่ามีผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ

ภาวะภัยแล้งที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่และเกิดต่อเนื่องนานเป็นปี ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในหลายภาคส่วน

ปริมาณน้ำฝนที่รุนแรงเพิ่มขึ้นในส่วนใหญ่ของยุโรป นําไปสู่น้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงและน้ำท่วมที่รุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ระดับน้ำทะเลในยุโรปสูงขึ้นทุกปีอย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อน้ำท่วมชายฝั่งและคลื่นพายุ การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำเค็มซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน นี่เป็นภัยคุกคามที่สําคัญต่อเมืองชายฝั่ง ภูมิภาค และระบบนิเวศในยุโรป

 

ในรายงานชิ้นนี้ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในยุโรป ช่วงปี 2564, 2565, 2566 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับสังคมยุโรปอย่างมาก

ปี 2564 น้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีและเบลเยียม มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และเศรษฐกิจเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 44,000 ล้านยูโร

น้ำท่วมใหญ่ในสโลเวเนียปี 2566 ทำลายเศรษฐกิจคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป ได้ประมวลภาพความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่มีเชื่อมโยงมีผลต่อระบบนิเวศ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจการเงิน (ตามผังภาพประกอบ)

พื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติบ่อยๆ เช่นเกิดภัยแล้งรุนแรงกินเวลานาน ในยุโรปตอนใต้มีผลต่อการความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นๆ มีผลต่อสุขภาพ ผลผลิตการเกษตรลดลง จะส่งแรงสะเทือนต่อชุมชน อาจเกิดการเคลื่อนย้ายอพยพ เกิดความยากจนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีนโยบายการปรับตัวทางสังคมป้องกันภัยพิบัติจากภาวะโลกเดือดที่บ่อนเซาะกัดกร่อนทำลายชุมชน

คราวหน้าค่อยมาว่ากันต่อกับรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปชิ้นนี้ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]