งัดสารพัดเครื่องมือ กระตุกเชื่อมั่น ‘นักลงทุน’ พาหุ้นไทย…พุ่งทะยาน

บทความเศรษฐกิจ

 

งัดสารพัดเครื่องมือ

กระตุกเชื่อมั่น ‘นักลงทุน’

พาหุ้นไทย…พุ่งทะยาน

 

ต้องยอมรับว่า “ภาคตลาดทุนไทย” ในปี 2566 เผชิญมรสุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ดัชนีหุ้นปรับลดลงวันละกว่า 100 จุด จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หน่วยงานผู้ดูแลโดยตรง ต้องงัดทุกมาตรการ เพื่อพยุงไม่ให้ระดับดัชนีร่วงหนักเกินควบคุมได้ไหว

มาถึงปี 2567 แม้ผ่านโควิดมาแล้วกว่า 4 ปี แต่ระดับดัชนียังไต่ระดับอยู่ 1,300-1,400 จุด สร้างความกังวลให้นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ จะกลับมาวิ่งขึ้นสู่ระดับ 1,600 จุดขึ้นไปเหมือนในช่วงก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะหุ้นไทยในปี 2561 ดัชนีหุ้นเคยพุ่งทะลุ สามารถยืนเหนือระดับ 1,800 จุดได้ ซึ่งทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 43 ปี ก่อนจะทิ้งตัวลงอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

สาเหตุอาจเป็นเพราะสภาวะตลาดที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุน เม็ดเงินทุนที่จมในสินทรัพย์ลงทุนอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงความไม่เชื่อมั่น ซึ่งถูกส่งผ่านการตั้งคำถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้ช่วงที่ผ่านมา เห็นการตั้งโต๊ะแถลงคู่กันแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป้าหมายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา และทำความเข้าใจกับนักลงทุน

แต่ยังไม่วายมีเสียงสะท้อนออกมาว่าไม่ใช่การแก้เหตุ

 

ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าปิดช่องโหว อุดรูรั่วแบบเต็มแรง โดยวันที่ 1 เมษายน 2567 เปิดรับฟังความคิดเห็นการยกระดับมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ

1. การควบคุมขายชอร์ตใหม่

2. การควบคุมโปรแกรมเทรดใหม่

3. การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นธรรมมากขึ้น

และ 4. การเพิ่มบทลงโทษต่อสมาชิกที่ทำผิดกฎ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่น

รวมถึงปรับเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ได้แก่

1. ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน โดยมีการปรับเกณฑ์ฐานะการเงินและผลประกอบการ รวมทั้งความมั่นคงของบริษัทในมิติต่างๆ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568

2. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนโดยอ้อม และการย้ายกลับมาซื้อขาย มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) บังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567

3. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนผู้ลงทุน และการเพิกถอนบริษัทที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม บังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567

4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์ และกองทุนต่างๆ บังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม 2567

และ 5. กำกับดูแลโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติ คาดว่าจะมีการยกระดับมาตรการเดิม รวมถึงมีมาตรการใหม่ๆ ที่ชัดเจนเข้ามาเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ มองว่า มาตรการควบคุมหุ้นใหม่ จะช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับปี 2566 นักลงทุนรายย่อยมีความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่างๆ ของตลาดหุ้นไทยมาตลอด

สะท้อนจากข่าวที่ออกมาทั้งธรรมาภิบาลบริษัท โปรแกรมเทรด รวมถึงหุ้นรายตัวที่มีปัญหาจนกลายเป็นบทเรียนถึงปัจจุบัน ทำให้เมื่อมีมาตรการออกมาใหม่ จะช่วยลดผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2566 จนเป็นแรงฉุดรั้งต่อเนื่องลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยมาตรการที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจมากที่สุด คือ การควบคุมโปรแกรมเทรดใหม่ เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุหลักทำให้ระดับดัชนีหุ้นไม่ไปไหน หากมีการควบคุมโปรแกรมเทรด จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกมาปฏิเสธถึงความกังวลเหล่านี้ก็ตาม

ซึ่งต้องยอมรับโปรแกรมเทรดค่อนข้างมีอิทธิพล แต่มาจากแหล่งเดียว ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่กล้าซื้อขาย ทำให้ปริมาณการซื้อขายลดลงตั้งแต่ปี 2566 จากหลัก 7-8 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 4 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน รวมถึงเคยเห็นมูลค่าการซื้อขายแตะหลักแสนล้านต่อวันก็มีด้วย โดยประเมินหากมีเกณฑ์ควบคุมที่เป็นธรรมมากขึ้น จะทำให้นักลงทุนรายย่อยกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นและดีกว่าแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาเงื่อนไขกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่ออกมานั้น ยังมองข้อเสียแทบไม่เห็น หากจะมีผลกระทบเชิงลบจริง จะกระทบคนส่วนน้อยที่เคยได้ประโยชน์ก่อนหน้านี้ แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป หรือแม้แต่รายใหญ่ขึ้นมา ต่างมองมีแต่ข้อดีที่จะเกิดขึ้น เพราะถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้นไทยด้วย

 

สําหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยทั้งปี 2567 สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด มองว่า เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2/2567 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้อัตราการเติบโตจะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่การที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในทิศทางชะลอตัว ทำให้เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้

ส่วนเศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน โดยหากเศรษฐกิจจีนเติบโตตามแผนของรัฐบาลจะส่งผลบวกต่อทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเอเชียโดยเฉพาะไทย ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการเบิกจ่ายภาครัฐเป็นหลัก และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นและจะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย จึงให้เป้าหมายหุ้นไทยสูงสุดสิ้นปี 2567 ที่ระดับ 1,550 จุด

คงต้องลุ้นกันต่อ ก้าวต่อไปตลาดหุ้นไทย หลังสารพัดเครื่องมือถูกงัดมาใช้แล้ว จะติดเครื่องให้เดินหน้าไปได้ไกลแค่ไหน ท่ามกลางโลกเดือด!