กำเนิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง ฉบับที่แล้วกล่าวถึง บ้านศาลาแดง ของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ได้รับพระราชทานจากพระพุทธเจ้าหลวง เสียดายว่า เรื่องราวตอนจบไม่แฮปปี้เอนดิ้ง เหมือนในนวนิยาย จนต้องถวายคืนในเวลาต่อมา

บ้านศาลาแดง ที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ บนที่ดินกว้างขวาง จึงไร้การใช้สอยอยู่นานหลายปี กลายเป็นภาระของกรมพระคลังข้างที่ ต้องดูแลรักษาซ่อมบำรุง จึงมีแนวคิดที่จะนำไปใช้ประโยชน์อื่นของทางราชการ

ในช่วงเวลาใกล้กันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นงานของสภาอุณาโลมแดง ที่ก่อตั้งเมื่อคราวเกิดเหตุ ร.ศ.112 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จึงส่งนายพันโท หลวงดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) ไปสำรวจเพื่อหาสถานที่ สำหรับเป็นที่ตั้งของสภาอุณาโลมแดง

 

นายพันโทหลวงดำรงแพทยาคุณ เห็นว่าบ้านของนายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ตำบลศาลาแดงนั้น เหมาะเป็นที่ตั้ง

…ด้วยสถานที่นั้นได้ปราบพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ตึกใหญ่งามตระหง่าน ทั้งกว้างขวางพอที่จะทำการได้ดี อวดต่างประเทศได้…อีกทั้งสถานที่นี้เป็นไชยภูมิอันเหมาะแก่การรับสั่งคนไข้คนเจ็บ หรือรับส่งสรรพสิ่งใดๆ อันจะต้องเกี่ยวกับสภาอุณาโลมแดง โดยมีทางรถไฟปากน้ำผ่านตลอดขึ้นมาถึง รถเข้าในพระนครได้โดยสะดวก ทั้งถนนหนทางกับทางน้ำ และทางบก แลน้ำใช้บริบูรณ์พร้อมทุกอย่าง…

แต่ดูเหมือนว่า บ้านศาลาแดง ที่มีอาคารใหญ่โต และที่ดินกว้างขวาง พอรองรับกิจการของสภาอุณาโลมแดง แต่ยังไม่เพียงพอ ถ้าจะสร้างโรงพยาบาล ให้บริการรักษาผู้ป่วยตามแบบแผนสมัยใหม่ พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช จึงเสนอที่ดินฝั่งตรงข้ามบ้านศาลาแดง ที่อยู่ทางด้านใต้ของสนามม้า ลงมาจนถึงคลองถนนตรง และติดกับสถานีรถไฟศาลาแดง ด้วยมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่า

นี่คือที่มาของ สภาอุณาโลมแดง ปัจจุบันคือ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลแผนใหม่ ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบัน •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส