ครัวโลกในมุมประธาน ‘สศช.’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ไปนั่งคุยกับคุณศุภวุฒิ สายเชื้อ ทีไรมักจะได้ความรู้ได้ข้อมูลใหม่ๆ หลายด้านเติมก้อนสมองเล็กๆ ของผมให้ขยายใหญ่ขึ้น ทั้งมุมมองเศรษฐกิจการเมืองและสุขภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ คุณศุภวุฒิได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็เลยขออนุญาตเข้าไปเติมความรู้อีกครั้ง

ประธาน สศช.ให้ความสนใจกับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรซึ่งถือว่าเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ภาคการเกษตรของบ้านเรามีปัญหาจะต้องปรับปรุงมากๆ

สาเหตุต้องปรับปรุง เพราะภาคการเกษตรมีผลผลิตเท่ากับ 12 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานถึง 30% ใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกเกือบ 50%

ตัวเลขนี้เห็นได้ชัดเลยว่า ภาคการเกษตรของบ้านเรายังขาดประสิทธิภาพ ถ้าเทียบกับภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนเท่ากับ 30% ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานต่ำกว่ามาก

เมื่อถามว่าจะปรับปรุงประสิทธิภาพการเกษตรต้องทำอย่างไร ดร.ศุภวุฒิตอบทันควันว่า ยังไงก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ประธาน สศช.เชื่อว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ที่เห็นว่าจะต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูง ผลผลิตสูง มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

 

ถ้ามองภาพใหญ่ ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือภาวะโลกร้อน น้ำจะขาดแคลนทั้งโลก เป็นปัจจัยสำคัญบังคับให้ภาคเกษตรต้องใช้เทคโนโลยี

“ศุภวุฒิ” ยกตัวอย่าง คุณรัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ซึ่งเป็น 1 ในบอร์ด สศช.ที่มีความรู้เรื่องของเทคโนโลยีการเกษตร

“รัสรินทร์” จบปริญญาตรีคอมพิวเตอร์ ระหว่างเรียนปริญญาโททำวิจัยระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ทางญี่ปุ่นให้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยซูบุ

ระหว่างนั้น “รัสรินทร์” ทำวิทยานิพนธ์แพลตฟอร์มสำหรับภาคการเกษตรและทดลองใช้กับเกษตรกรในญี่ปุ่น

จากนั้นนำผลงานไปต่อยอดด้วยการตั้งบริษัทลิสเช่นฟิวด์ (Listen Field Inc.) ในประเทศญี่ปุ่น ทำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลบริหารจัดข้อมูลและสร้างโมเดลเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาคเกษตรในญี่ปุ่น

ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ธุรกิจเติบโตทำรายได้นับร้อยล้านบาท

บริษัทลิสเช่นฟิวด์ ขยายกิจการมาตั้งในไทยทำแอพพลิเคชั่นฟาร์มเกษตรอัจฉริยะให้เกษตรกรไทยใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าว ข้าวโพดหวานมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

 

ประธาน สศช.บอกว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน เช่น ใช้สแกนดิน เก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ร่วมกับบริษัทในเนเธอร์แลนด์แล้วเอาข้อมูลมาวิเคราะห์จำลองสถานการณ์ เอาข้อมูลใส่ในเครื่องสแกนเนอร์ เอาสแกนเนอร์ไปจิ้มที่หน้าดิน จะมีผลวิเคราะห์ออกมาในทันที ไม่ต้องไปทำ 3-4 ขั้นตอนเหมือนก่อน

จากขั้นตอนวิเคราะห์ดิน ก็มาระบบที่เรียกว่า “มัลติ สปีเชียล เวอร์ช่วล” ( Multi Special Virtual) เป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมลงบนท้องนาตรงที่เกษตรกรต้องการปลูกข้าว

Multi special virtual มันไม่ได้ดูแบบตาคนดู แต่มันพยายามดูว่าพืชนี่โตขึ้นแค่ไหน ดูยังไง คือถ้าเขารู้พระอาทิตย์อยู่ทางนี้ แล้วดาวเทียมอยู่ตรงนี้ มันก็จะมีเงา ก็คำนวณได้ว่าเงาอย่างนี้เวลาเท่านี้ ต้นไม้จะสูงแค่ไหน แล้วจะดูสีของใบ ใช้ข้อมูลตรงนี้คำนวณได้ว่าต้นไม้จะโตแค่ไหน โตมากน้อย ผิวของใบเหลืองมากหรือเขียว จะรู้ว่าสุขภาพพืชชนิดนี้เป็นอย่างไร

อันนี้เก็บข้อมูลมาทำแบบจำลอง ทำให้มอนิเตอร์ได้ว่าพื้นที่ตรงนี้ ตรงไหนน้ำน้อยเกินไป ตรงไหนน้ำมากเกินไป แล้วดาวเทียมมันหมุนไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปเดินดูเอง หรือถ้าจะไปเดินดูก็ไปเดินดูเฉพาะบางพื้นที่ที่มีปัญหา หรือส่งโดรนบินขึ้นไปดูก็ได้ นี่คือเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อภาคเกษตร

“เมื่อเทคโนโลยีมันรู้ ก็จะคาดการณ์ได้ว่าพืชชนิดนี้ควรจะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ แล้วเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตเท่าไหร่ โดยคุณนั่งอยู่แล้วใช้มือถือ แม้ดูเหมือนกลายเป็นว่าคนที่รับเทคโนโลยีนี้กลายเป็นไม่ใช่ชาวนารายย่อยๆ แต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่พร้อมจะทำ แต่มันก็ต้องเริ่มจากตรงไหนสักที่ บริษัทลิสเช่นฟิวด์ทำมา 4-5 ปีแล้ว”

 

เมื่อถามว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างนี้ ชาวนาจะสูญพันธุ์หรือเปล่า? ประธาน สศช.ยืนยันว่า ชาวนาก็ยังส่งผลผลิตหรือปลูกข้าวให้กับบริษัท อาจจะทำเป็นคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง บริษัทมีเทคโนโลยี ชาวนาเอาไปใช้ จ่ายค่าเทคโนโลยี ในหลักการถ้าจ่ายแล้วคุ้มค่ามีผลกำไรทำไมจะไม่จ่าย

แต่ปัญหาคือการยอมรับเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคการเกษตร “ศุภวุฒิ” บอกว่า เป็นการเล่าสู่กันฟัง แต่ไม่ใช่นำเสนอกับรัฐบาล เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย

“เราจะเห็นว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทย ที่อื่นก็ทำ เช่น บริษัทลิสเช่นฟิวด์ ทำที่ญี่ปุ่นด้วยนะ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก มีการจ่ายเงินเพราะไม่ได้ทำฟรี เทคโนโลยีมีแล้วและกำลังพัฒนา ทุกอย่างที่ทำโครงสร้างเหมือนเดิมหมด แต่อยู่ๆ ต้นทุนลดลง ปุ๋ยไม่ต้องใช้เยอะเหมือนแต่ก่อน และยังรู้ด้วยว่าผลผลิตจะได้เท่าไหร่ จะขายของได้เท่าไหร่ ไปหาตลาดมาตรงกับผลผลิตได้อย่างไร”

“ชาวนาต้องได้ประโยชน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และสบายขึ้นด้วยเพราะตรวจสอบได้จากมือถือได้ แต่ถ้าไปบอกเกษตรกรแต่ละรายให้ทำเชื่อไหมเขาไม่ทำหรอก เพราะยังไม่กล้า แต่ถ้าเห็นรายใหญ่ทำแล้วทำได้ผล เดี๋ยวก็ทำตาม”

 

เมื่อถามว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตอนนี้มีมลพิษสูงจะทำให้เป็นครัวโลก เป็นศูนย์สุขภาพหรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวได้อย่างไร

ประธาน สศช.บอกว่า จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ก่อน แต่แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีต้องร้องว่าโอ้โห เพราะไม่รู้เลยยุทธศาสตร์จริงๆ คืออะไร ฉะนั้น เราต้องรู้ว่าต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง อะไรสำคัญสูงสุด ทุ่มเททรัพยากรลงไป

ในความคิดเห็นของผมคือเราต้องดูให้ถ่องแท้ ให้รู้ว่ายุทธศาสตร์ชาติเราคืออะไร เราจะเป็นอะไรในอนาคตข้างหน้า เราจะหากินอะไรใน 10-20 ปีข้างหน้า เราผลิตอาหารคุณภาพดี เราจะให้บริการการท่องเที่ยวและเวลเนสเซ็นเตอร์ มันชัด แต่ว่าอุตสาหกรรมมีบ้างไม่ว่ากัน ก็มีไป แต่มันคงไม่โตเร็ว

ที่โตเร็วคือภาคเกษตรและบริการ เราจะได้ทุ่มเททรัพยากร งบประมาณลงไปให้ทั้งภาคเกษตรและภาคบริการ พอรู้ว่าจะไปทางไหนก็จะรู้ว่าต้องทำอะไร เวลาคิดเราต้องคิดให้ตกผลึก ภาคบริการก็ต้องอัพเกรด ต้องไปแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5

กระทรวงการต่างประเทศต้องไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ลดการเผาป่า

 

เมื่อพูดถึงไทยจะเป็นครัวโลก ก็ต้องกลับมาดูที่คุณภาพการเกษตร อยากให้ผลผลิตการเพาะปลูกสูงขึ้น เป็นออร์แกนิกส์ไม่มีสารเคมี สารเคมีเริ่มจากดินไม่ต้องไปใส่ปุ๋ยเยอะมันยาก แล้วไง ถ้าไปขุดโพแทสขึ้นมาทำปุ๋ยอีก ดีไม่ดีเดี๋ยวเกิดมลพิษหนักขึ้นไปอีก ประชาชนแถวนั้นไม่พอใจด้วย คุณก็จะไม่เปลี่ยนวิธีทำเกษตร

ถ้าคุณคิดจะเป็นครัวโลกโดยการผลิตอาหารที่ปลอดสารเคมี ต้องคิดทำให้ดินออร์แกนิกส์ ทำยังไงแล้วออร์แกนิกส์ต้องยอมรับว่าผลผลิตต่อปีแรกๆ จะต่ำ เอาเทคโนโลยีมาทำให้มันไม่ต่ำได้ไหม ก็ไปนั่งคิดเอาว่าจะทำยังไง

“คุณกล้าลงทุนระยะยาว 3-4 ปีไหมที่จะแปลงจากผลผลิตเปื้อนสารเคมีเป็นออร์แกนิกส์ แนวทางก็ชัดขึ้นมา ที่จริงหน้าที่ในการโน้มน้าวประชาชน หน้าที่ในการขับเคลื่อน เป็นหน้าที่นักการเมือง สศช.เป็นเพียงกลุ่มนักคิดเท่านั้น” ประธาน ศสช.เติมความรู้ในท้ายสุด •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]