ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งส่งผลให้ชาวยิวกว่า 1 ใน 3 ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมด้วยชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จำนวนนับไม่ถ้วน
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงมีมติภายหลังการประชุมวาระพิเศษ เพื่อรำลึกครบรอบ 60 ปีการปลดปล่อยค่ายกักกันของนาซีเยอรมนีและการสิ้นสุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
โดยกำหนดให้วันที่ 27 มกราคม เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล ซึ่งตรงกับวันรำลึกถึงการปลดปล่อยค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) ในปี 1945
มีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในวันดังกล่าวนี้ด้วย
“ผมได้รับเกียรติเข้าร่วม “วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในกรุงเทพฯ ร่วมกับนางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เธอพูดถึงภาพสะท้อนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในอดีต โดยเธอเป็นลูกของผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะมารดาของเธอซึ่งเกิดที่โปแลนด์ ถูกจำคุกในค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นจึงไปอาศัยอยู่ในอิสราเอล”
นายอาร์ตูร์ ดมอฮอฟสกี (H.E. Mr. Artur Dmochowski) เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำ
“นับเป็นช่วงเวลาที่สะเทือนอารมณ์มากสำหรับผม เพราะบิดาของผมตอนที่ยังเป็นหนุ่มตกเป็นนักโทษในค่ายกักกันคราคูฟ-พลาซูฟ (Krakow-Plaszow) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เรื่องชะตากรรมที่โลกไม่ลืม (Schindler’s List) แต่ในที่สุด บิดาก็สามารถเอาชีวิตรอดเพื่อดูวันสิ้นสุดของสงครามได้”
“ผมเกิดและเติบโตในเมืองคราคูฟในเวลาต่อมา หนึ่งในสัญลักษณ์อันล้ำค่าที่สุดของการรำลึกถึงครอบครัวและบ้านของเราคือจดหมายหลายฉบับ ซึ่งก็คือข้อความสั้นๆ ที่เขียนบนกระดาษห่อของชิ้นเล็กๆ ที่บิดาของผมสามารถแอบส่งออกไปนอกค่ายกักกัน ถึงคู่หมั้น-ภรรยาในอนาคต ซึ่งก็คือมารดาของผม”
“มาถึงตอนนี้เป็นเวลาหลายสิบปีหลังอดีตอันโศกเศร้าและเราได้มาพบกันที่นี่ ในประเทศไทย…เอกอัครราชทูตอิสราเอลและผม เอกอัครราชทูตโปแลนด์ ซึ่งทั้งคู่ต่างมีบิดา/มารดาเคยเป็นนักโทษในค่ายกักกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสามารถเอาชีวิตรอดมาได้…”
เอกอัครราชทูตโปแลนด์บอกว่า “เมื่อเราพูดถึงความทรงจำส่วนตัวของเรา ก็ยากที่จะไม่เกิดความรู้สึก หนึ่งในภาพแรกๆ ที่เข้ามาในความคิดก็คือ รากเหง้าของครอบครัวเรา มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์และความเป็นชาติของเรา”
“โปแลนด์ซึ่งเป็น ‘หัวใจของยุโรป’ ตามที่นักเขียนชื่อดัง นอร์แมน เดวีส์ (Norman Davies) กล่าวอย่างถูกต้องแม่นยำว่าประเทศของผม เป็นที่ลี้ภัยของชาวยิวมานานหลายศตวรรษ เขาเหล่านั้นพบว่าโปแลนด์เป็นสถานที่พักพิงที่ปลอดภัยและได้รับการปกป้องจากการกดขี่ที่มักเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของทวีป และเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบมากนักว่า ช่วงหนึ่งในอดีต ชาวยิวส่วนใหญ่ทั่วโลกอาศัยอยู่ในโปแลนด์ ชุมชนชาวยิวในโปแลนด์มีความเจริญรุ่งเรืองซึ่งเกิดจากการปกครองตนเอง มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพวกเขาเอง จึงมีส่วนทำให้เรามีวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ ร่วมกัน”
“แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อทุกอย่างจบสิ้นลงในปี 1939 โปแลนด์ถูกโจมตีจากทุกทิศทาง ในที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองโดยนาซีเยอรมนีของฮิตเลอร์และสหภาพโซเวียต เป็นผลให้พลเมืองโปแลนด์หกล้านคนถูกสังหาร และครึ่งหนึ่งมีเชื้อสายยิว”
“มรดกที่น่าเศร้าของศตวรรษที่ 20 ควรสอนบทเรียนที่สำคัญมากแก่เราเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โศกนาฏกรรมที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นอีก เช่นในการปลุกความเกลียดชังผู้อื่น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งด้านสัญชาติ ศาสนา หรือสีผิว ด้วยอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้ง่ายๆ เพราะความเกลียดชังเป็นเหมือนไวรัสก่อโรค มันสามารถแพร่กระจายไปในทิศทางที่ไม่สามารถควบคุมได้”
“ผมมองเห็นตัวเองเมื่อสมัยทำงานเป็นนักการทูตหนุ่มในภารกิจสันติภาพในบอสเนียและอดีตสหภาพโซเวียตช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นที่ซึ่งผู้คนใช้ชีวิตอย่างสุขสงบมานานหลายสิบปี มีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทำงาน และศึกษาเล่าเรียนมาด้วยกัน เริ่มใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน เพราะผู้นำทางการเมืองสามารถโน้มน้าวให้พวกเขาเชื่อว่า เพื่อนบ้านที่ต่างเชื้อชาตินั้น เป็นศัตรู”
“การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ครบรอบ 2 ปีแล้ว ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของโศกนาฏกรรม เมื่อผู้นำทางการเมืองสามารถโน้มน้าวประเทศของเขาได้ว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าและอ่อนแอกว่ามาก เป็นภัยคุกคาม”
“ผลที่ตามมาคือ ผู้คนหลายพันคนกำลังจะตาย ยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่สวยงามและสงบสุขกำลังถูกทำลายลงทุกวัน และเสถียรภาพของโลกทั้งใบกำลังตกอยู่ในอันตราย”
“เมื่อเราเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์และสงกรานต์ ผมเชื่อว่า ความหวัง ความปรารถนาดีจะทำให้เรามีชัยในที่สุด แม้ในความจริงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่เราจะสามารถถอดบทเรียนจากอดีตเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมดังที่กล่าวมา และด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะช่วยทำให้โลกมีสถานการณ์ที่มั่นคงไม่สั่นคลอน ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้แก่ลูกหลานของเรานับจากนี้เป็นต้นไป” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022