ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (8)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

หลวงประดิษฐ์ฯ กลับสยาม

การเคลื่อนไหวทั้งสิ้นของหลวงพิบูลสงครามก่อนการโค่นล้มพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 รวมทั้งความพยายามอธิบายต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 15 ปีแม้ยังมีข้อสงสัย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับความเข้มแข็งที่กลับคืนมาของคณะราษฎร หลวงพิบูลสงครามก็ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับสยาม

ขณะที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีท่าทีระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต่อการให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับสยาม โดยได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” ว่า

“ขณะนี้ผมยังไม่ได้คิดที่จะเชิญหลวงประดิษฐ์ฯ กลับ เพราะหลวงประดิษฐ์ฯ ถูกสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ ผมเองก็ถูกเขาสงสัยอยู่เหมือนกัน ถ้าผมเรียกตัวหลวงประดิษฐ์ฯ กลับตอนนี้ เรื่องก็จะไปกันใหญ่ ผมก็จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปอีกคนหนึ่ง

หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนดีมีความสามารถมาก แต่จะเรียกกลับตอนนี้ไม่ได้ ต้องรอให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเรียบร้อยเสียก่อน เมื่อเรียกมาแล้วก็จำต้องมีการซักฟอกให้ขาวสะอาด เมื่อพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ดังข้อกล่าวหาจึงจะให้กลับเข้ารับราชการ แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็ต้องว่าไปอีกเรื่องหนึ่ง”

“นายหนหวย” บันทึกไว้ใน “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ” ว่า เมื่อสามารถสถาปนาฐานอำนาจได้เข้มเข็งแล้ว หลวงพิบูลสงครามและกลุ่มทหารหนุ่มก็เริ่มดำเนินการเพื่อเอามันสมองของกลุ่มคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับจากปารีส ส่งผลให้พระยาพหลพลพยุหเสนาในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องทำหนังสือในนามรัฐบาลเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับเมืองไทยเพื่อเข้าร่วมคณะรัฐบาลตามเจตจำนงของกลุ่มทหารหนุ่มที่กุมอำนาจแท้จริงในขณะนั้น แต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 4 เดือนหลังจากการยึดอำนาจตั้งรัฐบาลใหม่

 

1 กันยายน 2476 รัฐบาลที่มีพระยาพหลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับสยาม โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมขอให้รัฐบาลกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียก่อน จึงยินดีที่จะกลับสยาม ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวในเวลาต่อมาว่า “เวลานี้ข้าพเจ้าถูกเชิญตัวให้กลับ และเป็นการกลับชนิดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วย”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และภรรยาออกเดินทางจากฝรั่งเศสทางเรือเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2476 ถึงท่าเรือเกาะสีชังเมื่อวันที่ 29 กันยายน และได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ยืนยันว่าเค้าโครงเศรษฐกิจที่ร่างขึ้นนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เป็น RADICAL-SOCIALST และยืนยันว่าตนเองไม่นิยมความรุนแรง ชอบวิธีค่อยเป็นค่อยไป เค้าโครงเศรษฐกิจที่ร่างขึ้นนั้นไม่ได้มีการยึดทรัพย์ บังคับซื้อที่ดิน ไม่ได้เลิกล้มระบอบนายทุน แต่เป็นวิธีร่วมมือแบบสหกรณ์อย่างที่ดำเนินอยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย

สำหรับข้อหาคอมมิวนิสต์นั้น ได้มีการดำเนินการในเวลาต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญและผู้ชำนาญการต่างประเทศขึ้นเพื่อพิจารณาว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์จริงหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการลงมติเอกฉันท์ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด

ส่วนเค้าโครงเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้มีการนำมาดำเนินการแต่อย่างใด

 

กบฏบวรเดช

การเดินทางกลับสยามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นข่าวใหญ่ของสังคมไทยในขณะนั้น ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกล่าวหาว่า รัฐบาลจะเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะแล้วจะประกาศใช้เค้าโครงเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” ซึ่งเป็นวิธีการของคอมมิวนิสต์ ข้อกล่าวหานี้ปรากฏทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ฝ่ายนิยมอำนาจเก่าอย่างเปิดเผย รวมทั้งมีการสร้างข่าวลือแบบปากต่อปากในวงสังคมชั้นสูงซึ่งเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การรวมตัวเพื่อยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุเสนา

นำไปสู่เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” โดยคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 หลังการเดินทางกลับถึงสยามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อปลายเดือนกันยายน

 

หลวงอดุลฯ กับขุนศรีฯ
ในการปราบปราม

การตัดสินใจของพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งน่าจะได้ปรึกษากับหลวงพิบูลสงครามแล้วในการวางตัวหลวงอดุลเดชจรัสและขุนศรีศรากรไปคุมกรมตำรวจโดยเฉพาะสันติบาลกอง 2 “ตำรวจลับทางการเมือง” มีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการสถานการณ์กบฏครั้งนี้

โดยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เริ่มได้รับรายงานข่าวการรวมตัวของทหารหัวเมือง แต่ยังไม่มีรายละเอียดจึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมและพิสูจน์ทราบข่าวสารให้แน่ชัด

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกำลังเตรียมการอยู่นั้น หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่สะท้อนบทบาทของหลวงอดุลเดชจรัสซึ่งย้ายไปรับราชการกรมตำรวจแล้วคือการเดินทางไปสืบความเคลื่อนไหวที่สระบุรีด้วยตนเองและได้พบกันโดยบังเอิญกับหลวงโหมรอนราญซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายทหารหัวเมืองในเวลาต่อมาที่รับราชการอยู่ในกองพันทหารม้าสระบุรี แม้ไม่ได้เบาะแสที่ชัดเจน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของหลวงโหมรอนราญซึ่งถูกรายงานว่ามีพฤติการณ์ปลุกปั่นให้ชาวสระบุรีกระด้างกระเดื่อง

แต่ความเคลื่อนไหวของหลวงอดุลเดชจรัสครั้งนี้ชี้ให้เห็นการทุ่มเทต่องานข่าวลับของหลวงอดุลเดชจรัสอย่างเห็นได้ชัด

 

ต่อมา เมื่อข่าวการต่อต้านรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น หลวงอดุลเดชจรัสจึงส่งขุนศรีศรากร กับ ม.ร.ว.ลาภ หัสดิน ณ อยุธยา เดินทางไปหาข่าวที่นครราชสีมาก่อนที่พระองค์เจ้าบวรเดชจะเคลื่อนพลเพียงไม่กี่วัน

การเดินทางระหว่างพระนครกับนครราชสีมาขณะนั้นมีแต่ทางรถไฟทางเดียวเท่านั้น สมัยนั้นนายทหารมีจำนวนไม่มากจึงมักรู้จักกัน พื้นที่สถานีรถไฟนครราชสีมาเวลานั้น ทหารฝ่ายหัวเมืองได้เข้าควบคุมอย่างเข้มงวดไว้แล้วเพราะใกล้เวลาเคลื่อนกำลัง ดังนั้น เมื่อสายลับทั้งสองแม้จะปลอมแปลงตัวอย่างไรจึงไม่อาจพ้นไปจากการเฝ้าตรวจอย่างเข้มงวดไปได้

นิยม สุขรองแพ่ง บันทึกเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของขุนศรีศรากรไว้ดังนี้

“วันที่ 9 ตุลาคม 2476 หลวงอดุลฯ ได้สั่งให้ขุนศรีฯ กับ ม.ร.ว.ลาภ หัสดิน ณ อยุธยา เดินทางไปโคราชเพื่อดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามและเชิญเสด็จพระองค์เจ้าบวรเดชกลับพระนคร

ในทันทีที่ลงจากรถไฟ ขุนศรีฯ รู้สึกทันทีว่าถูกสะกดรอย จึงพากันไปพักที่บ้าน ร.ท.น้อม เพื่อนของ ม.ร.ว.ลาภ ซึ่งอยู่ในกรมทหาร พอรับประทานอาหารเสร็จ ทหารก็เข้าล้อมบ้าน ขุนศรีฯ หมดอิสรภาพนับแต่เวลานั้น นายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพลบอกว่าพระองค์เจ้าบวรเดชสั่งให้จับ

ทหารผู้ควบคุมส่งตัวขุนศรีฯ เข้ากรงสำหรับขังคนบ้าทันที ขุนศรีฯ จึงต้องทักท้วงอย่างเต็มที่ ‘ทำไมทำกับผมอย่างนี้ ผมเป็นนักการเมืองนี่ ปืนนี่จะเก็บไปผมไม่ว่า แต่ไม่ควรเอาผมมาขังในกรงเหล็กสำหรับขังคนบ้าอย่างนี้ ให้เกียรติและไว้หน้ากันบ้าง ผมไม่ใช่อาชญากร ผมเป็นนายทหาร’

 

ผู้ควบคุมจึงเอาตัวขุนศรีฯ ออกจากกรง”

นิยม สุขรองแพ่ง บันทึกคำบอกเล่าขุนศรีศรากร ต่อไปว่า

“วันที่ 10 ตุลาคม 2476 ผู้บังคับกองเรือนจำทหารได้มายืนอยู่ที่โคนต้นก้ามปู มองมายังขุนศรีฯ เมื่อขุนศรีฯ มองบ้างก็หลบไป มองแล้วหลบทำเช่นนั้นอยู่หลายครั้งจนขุนศรีฯ สังเกตเห็น

อีกปีเศษต่อมา เมื่อขุนศรีฯ เป็นผู้บัญชาการเรือนจำบางขวางเพื่อดูแลนักโทษการเมือง 200 กว่าคน ก็ได้เรียกผู้บังคับกองเรือนจำคนนั้นมาถามถึงอากัปกิริยาที่ทำในตอนเช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2476 จึงได้ความว่า พระองค์เจ้าบวรเดชสั่งให้มาดูเพื่อจะเอาตัวไปยิงเป้าเอาเลือดเซ่นธงชัยเฉลิมพลเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเคลื่อนพลเข้าพระนคร

แต่พระยาคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เดิมชื่ออึ่ง (อึ่ง โพธิกนิษฐ์ พ.อ. พระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์/บัญชร) เป็นชาวโคราชได้คัดค้านว่าขุนศรีฯ มีเพื่อนเป็นนายทหารอยู่ที่โคราชมากมาย และฝ่ายเราก็บอกกับทหารและชาวบ้านชาวเมืองว่าพวกนั้น (รัฐบาลพระยาพหลฯ) เป็นคอมมิวนิสต์ ยึดพระนคร เราจะยกทัพไปปราบกบฏ แต่ขุนศรีฯ ซึ่งเป็นสันติบาล (ในความเป็นจริง ขณะนั้น ร.อ. ขุนศรีศรากร ยังสังกัดกองทัพบก/บัญชร) ขึ้นมาจนถึงโคราชก็ขัดๆ กันอยู่แล้ว ถ้าจะเอาเขาไปยิงเป้าดูไม่มีเหตุผล เพื่อนฝูงเขาจะคิดอย่างไร ถ้าเรายิงเพื่อนเขาตายต่อหน้าต่อตา กองทหารของเราอาจจะเคลื่อนไม่ได้ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงสั่งระงับการยิงเป้าขุนศรีฯ”

เหตุการณ์กบฏบวรเดชจบลงอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะเด็ดขาด นำไปสู่การจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเป็นครั้งแรกทันทีโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2476 จากนั้นฝ่ายตำรวจก็ได้ทำการกวาดล้างจับกุมบุคคลต่างๆ เป็นอันมากที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏเพื่อดำเนินการไต่สวนฟ้องร้องต่อศาลพิเศษนี้อย่างเร่งรีบ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ขอให้มีพระราชบรมราชโองการประกาศถอดยศและบรรดาศักดิ์ของข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนอีก 35 คนด้วยเหตุผลว่า เป็นกบฏต่อรัฐบาล

กรมตำรวจที่มีหลวงอดุลเดชจรัสเป็นรองอธิบดี และขุนศรีศรากรแห่งสันติบาลกอง 2 มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานจนนำไปสู่การพิจารณาของศาลพิเศษพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีกบฏเป็นจำนวนทั้งสิ้น 235 คน โดยมีโทษสูงสุดประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต จนถึงจำคุก 6 เดือน รวมทั้งการสั่งปลดและให้ออกจากราชการด้วยเป็นจำนวนมาก

หลวงพิบูลสงครามผู้ประสบความสำเร็จในฐานะผู้บังคับกองผสมได้รับเลื่อนยศจากนายพันโทเป็นนายพันเอก และเป็นที่รู้จักสนใจของสังคมไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา