เขย่าแต่ยังไม่สะเทือน ส.ว.ซักฟอกทิ้งทวน ปล่อยของถ่มรัฐบาลก่อนพ้นวาระ

สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ชุดปัจจุบัน อยู่ในช่วงนับถอยหลังใกล้จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ หลังดำรงตำแหน่งนั่งอยู่ในเก้าอี้สภาสูงมายาวนานกว่า 5 ปี

แน่นอนว่า ตลอดระยะเวลาของการทำหน้าที่ บทบาทของ ส.ว.ชุดนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตและเกิดข้อกังขาขึ้นมากมาย เหตุเพราะมีที่มาจากกลไกการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ไม่สามารถสลัดภาพ “สภาตรายาง” ทิ้งไปได้

ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนออกแบบกลไกให้อำนาจ ส.ว.มากเกินไปกว่าการทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะการออกเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ

ส่งผลให้ ส.ว.ชุดนี้ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอำนาจที่มีอยู่ในมือของ ส.ว.ทั้ง 250 นั้น สามารถกำหนดชะตาของประเทศได้เลยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

โดยเฉพาะการให้อำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 1 กลับไม่สามารถผ่านด่าน ส.ว.เข้าไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลได้

ท่าทีของ ส.ว.ในปีสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่ง พยายามกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

เมื่อคณะ ส.ว.ตัวตึง นำโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นโต้โผและแกนนำล่าชื่อ ส.ว. 1 ใน 3 เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

เรียกได้ว่า เป็นการขอยื่นซักฟอก “รัฐบาลเศรษฐา” ทิ้งทวนก่อนหมดวาระนั่นเอง ทั้งที่ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว.ชุดนี้ กลับไม่เคยยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่บริหารประเทศ 8-9 ปี แม้สักครั้งเดียว แตกต่างจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 7 เดือนเศษเท่านั้น

แม้ว่าคณะ ส.ว.จะออกตัวก่อนเลยว่า การเปิดอภิปรายครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือต้องการล้มรัฐบาล จะเป็นเวทีการพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ดุเดือด รุนแรง หรือใช้วาทกรรมมารุมถล่มรัฐบาล แต่จะเปิดโอกาสและเปิดเวทีให้รัฐบาลได้ชี้แจงประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จะอภิปรายแบบไม่มีอคติหรือมีผลประโยชน์แอบแฝงแต่อย่างใด

โดย 7 ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาพุ่งเป้าชำแหละรัฐบาล ครอบคลุมประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูป ประกอบด้วย

1. ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การแก้ปัญหาความยากจน, สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต, การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน

2. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชั่น, ยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน

3. ปัญหาด้านพลังงาน อาทิ การจัดการราคา ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมัน

4. ปัญหาการศึกษาและสังคม อาทิ กาปฏิรูปการศึกษา ผ่านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, การแก้ปัญหาหนี้สินครู

5. ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว อาทิ ปัญหาจีนเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

6. ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวที่ต้องอธิบายการดำเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ

และ 7. ปัญหาการปฏิรูปประเทศ แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนนิการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

 

เวทีซักฟอกรัฐบาลของ ส.ว.ชุดนี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา “นายเสรี สุวรรณภานนท์” ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอญัตติ เริ่มต้นเปิดฟลอร์อภิปราย จัดหนักจัดเต็มใส่รัฐบาลแบบไม่มีกั๊ก ดุเดือดตั้งแต่คนแรก ยกกรณีที่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เอาเวลาไปเชียงใหม่ ไปกินอาหารกินไวน์ ทั้งๆ ที่ฝุ่นเต็มเมืองเชียงใหม่ เวลาผ่านมาเข้าเดือนที่ 7 แล้ว แต่ยังไม่สามารถทำอะไรให้เป็นรูปธรรมกับการแก้ปัญหาปากท้องได้ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็กลับมีปัญหาข้อกฎหมาย

ส.ว.เสรี ระบุอีกว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรม นายกฯ และรัฐบาลจะต้องสร้างมาตรฐานของการที่จะให้พี่น้องประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมด้วยกัน แต่ปรากฏว่าผลงานดีเด่นของรัฐบาลและผลงานของนายกฯ มีอยู่เรื่องเดียว คือช่วยคนทำผิดและไม่ต้องรับโทษ ให้กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบหลายฉบับเอื้อต่อการที่จะช่วยให้ไม่ต้องรับโทษ แม้กระทั่งศาลพิพากษามาแล้ว แต่กรมราชทัณฑ์ก็ออกกฎหมาย ออกระเบียบเอื้อประโยชน์ต่อบางคน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

นายเสรียังทิ้งท้ายด้วยว่า ภาวนาให้นายกฯ อยู่ครบ 4 ปี ไม่ใช่เป็นข่าวถูกเปลี่ยนตัวทุกวัน ถูกเลื่อยขาเก้าอี้ทุกวัน ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น

ขณะที่ “สมชาย แสวงการ” อภิปรายในประเด็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยมองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เสี่ยงผิดกฎหมายและนำไปสู่คดีความแน่นอน ขอให้เลิกที่จะกู้เงินมาใช้ในโครงการเพราะผิดทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง และผิดต่อรัฐธรรมนูญ แต่หากเดินหน้าโครงการต่อก็มีเอกสารพร้อมยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดี

ส่วน “ประพันธุ์ คูณมี” อภิปรายเรื่องการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดิน บิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เหตุผลที่เป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะมีนายกฯ ที่เคยเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล้าหาญชาญชัยกล้าทำในเรื่องที่นึกไม่ถึง กล้าออกกฎระเบียบหลายข้อที่หมิ่นเหม่กฎหมาย 40 กว่าล้านไร่กำลังถูกแปรรูปไปเป็นที่ดินของเอกชน หรือเป็นที่ดินส่วนบุคคล โดยเริ่มต้นจากที่นักการเมืองไปหาเสียงไว้

เช่นเดียวกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อภิปรายว่า ส.ว.ร่วมโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อหวังว่าจะมีรัฐบาลที่ไม่สุดโต่ง สังคมไทยก้าวข้ามการชุมนุม

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน ผลงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ ยังหาอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันไม่พบ นอกจากเต้นแล้งเต้นกา เป็นจำอวดหน้าจอทีวี ขายฝันลมๆ แล้งๆ ต่อหน้าสื่อมวลชนจัดตั้งกันไปวันๆ

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเวทีซักฟอกรัฐบาลของ ส.ว.ในครั้งนี้ จะไม่มีการลงมติ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงจะสามารถลุกขึ้นชี้แจงได้เต็มที่

แต่ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า เหล่าขุนพลที่ ส.ว.จัดเตรียมมาอภิปราย ทุกคนต่างทำการบ้าน โชว์ลีลาวาดลวดลายซักฟอกไม่แพ้ ส.ส. ถือเป็นการทิ้งทวนครั้งสุดท้าย ก่อนหมดวาระ

หลายคนก็ปล่อยหมัดเด็ดออกมาพอสมควร สร้างมาตรฐานในการตรวจสอบรัฐบาลให้กับสภาล่าง

แต่กระนั้นก็ดูจะไม่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้รัฐบาลจนคลอนแคลนเท่าใดนัก

แต่ก็ไม่ได้เสียเปล่านัก เพราะเวทีนี้สะท้อนให้รัฐบาลต้องเตรียมตัวและพร้อมรับมือกับเวทีซักฟอกของพรรคฝ่ายค้านที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 เมษายนนี้

แน่นอนว่าพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ คงเตรียมทำการบ้านมาอย่างดีเพื่ออภิปรายถล่มรัฐบาลอย่างไม่เบามือ