ทำไมคนรวย ชอบบอกให้คนจนทำงานหนัก

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อไม่นานมานี้เราจะเห็นข่าวการให้สัมภาษณ์ของนักธุรกิจรุ่นใหม่หลายท่าน

เริ่มตั้งแต่ “เอาเวลาไปทำงาน ไปพัฒนาตัวเอง ดีกว่าเอาเวลาไปดูซีรีส์”

หรือ “ไม่เคยเห็นคนที่สำเร็จเกินค่าเฉลี่ย Work-life Balance สักคนเดียว”

หรือ “ตอนทำงานภาคเอกชนผมทำงานตี 5 ถึง 4 ทุ่มทุกวัน”

ซึ่งมีนัยยะไปในทางเดียวกันว่า ชีวิตที่พึงเป็นนั้นต้องทำงานหนัก

ซึ่งทำงานหนักนี้ สำหรับพวกเขามีทั้งสองอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนักในทางกาย การใช้เวลาที่ลืมตาดูโลกในแต่ละวันอยู่กับการทำงานไม่ว่า จะเป็นการทำงานทางกาย และทำงานโดยใช้สมอง

แต่การพักผ่อนดูจะเป็นเรื่องบาปหนักใหญ่หลวง ราวกับการทำงานหนักเป็นศีลธรรมที่ดีงาม

แต่คำถามจริงๆ คือ ศีลธรรมนี้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคนทั้งสังคมหรือแค่สำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

 

เมื่อราวสองปีก่อนผมมีโอกาสไปทำกิจกรรมเรียนรู้เรื่องรัฐสวัสดิการที่จังหวัดกระบี่

โดยให้นักศึกษาเขียนความฝันของตัวเองในกระดาษแผ่นเล็ก และให้ประเมินต้นทุนตัวเองจากคะแนนคำถามเกี่ยวกับเงื่อนไขชีวิตจองตนเอง

คำถามทั้งหมดเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น คุณต้องทำงานพิเศษ เพื่อเลี้ยงดูตัวเองหรือไม่

คุณต้องช่วยที่บ้านจ่ายค่าใช้จ่าย ที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองหรือไม่

พ่อแม่ของคุณต้องทำงานกะดึกในเสาร์อาทิตย์ คุณต้องกู้ กยศ.หรือไม่

ทั้งหมดนี้ก็คือเงื่อนไขที่ไม่ได้เกิดจากเธอเองทั้งสิ้น ไม่ได้มีกระบวนการเลือก หรือตัดสินใจอะไร

เด็กผู้หญิงอายุราว 15 ปี เขียนในกระดาษว่า เธออยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เธอประเมินคะแนนต้นทุนชีวิต ได้คะแนนลบสอง จากคะแนนเต็มสิบ

ผมถามเธอว่า คิดว่าโอกาสที่เธอจะได้เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในประเทศนี้มากน้อยแค่ไหน

คำตอบของเธอสะเทือนใจผมมากด้วยคำตอบที่ว่า “ถ้าประเทศนี้วัดกันด้วยสองอย่าง คือความสามารถและความพยายาม หนูคงได้เป็นครูสอนคณิตศาสตร์แน่นอน เสียดายที่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น”

แล้วสังคมแบบใดที่จะทำให้คุณเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ได้ “สังคมที่ยุติธรรม” เป็นคำตอบสั้นๆ จากเธอ

มันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเลย ถ้าจะมีคนไปบอกเธอผู้นี้ว่า ให้เธอขยันมากขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้น เสียสละมากขึ้น หรือแม้กระทั่งนอนให้น้อยลง กินให้น้อยลง มีความสุขให้น้อยลง แล้วบอกว่าเธอจะมีโอกาสมีชีวิตที่ดีมากขึ้น

ชะตากรรมของเด็กผู้หญิงคนนี้ก็เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ทำงานหนัก แต่ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้

จะโดยสถิติ โดยความเข้าใจ หรือโดยความคิดเบื้องต้น เราต่างทราบและตระหนักดีว่า ความขยันเป็นปัจจัยท้ายๆ สู่การมีชีวิตที่ดี

ขณะที่ปัจจัยแรกๆ ที่นำสู่ชีวิตที่ดีคือสถานะโดยชาติกำเนิด คนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจโดยชาติกำเนิดดี พยายามอีกนิดหน่อย อดนอนสักไม่กี่สัปดาห์ก็ไปอยู่บนยอดพีระมิดได้

ขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคมต่อให้อดนอนทั้งชีวิต อดข้าวหรือประหยัดเพียงใด ก็ไม่ได้การันตีว่าเขาจะสามารถก้าวพ้นจากชีวิตที่เป็นอยู่ได้

 

จริงๆ แล้วมนุษย์ทำงานถูกตั้งค่าให้ทำงานหนักเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่

ในปี 1850 ค่าเฉลี่ยการทำงานของมนุษยชาติอยู่ที่ 3,000 ชั่วโมงต่อปี ในปี 2023 เหลืออยู่ที่ 1,892 ชั่วโมงต่อปี

ซึ่งย้อนไปตอนนั้นสหรัฐอเมริกายังมีทาส โลกปกครองด้วยระบบอาณานิคม ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เวลาผ่านไป 173 ปี มนุษย์ก้าวหน้าขึ้นทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน คุณภาพชีวิต ประชาธิปไตย และ ชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ก็ลดลงเกือบร้อยละ 40

น่าสนใจว่าสำหรับชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ เริ่มเพิ่มขึ้นจากยุคกลาง เมื่อเข้าสู่ยุคถ่านหิน และยุคอุตสาหกรรม และลดน้อยลงเมื่อมีการพัฒนาของสิทธิแรงงานและอำนาจต่อรอง ในศตวรรษที่แล้ว แต่ชั่วโมงการทำงานของคนกรุงเทพฯ ยังใกล้เคียงกับคนในยุคกลางอยู่เลย

เมื่อเปรียบเทียบเมืองใหญ่ในโลก โคเปนเฮเกน คนทำงานน้อยที่สุด คือ ปีละ 1,380 ชั่วโมงต่อปี ออสโล (นอร์เวย์) เบอร์ลิน (เยอรมนี) อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) ตามมา ขณะที่กรุงเทพฯ เม็กซิโกซิตี้ เดลี ชั่วโมงการทำงานต่อปีก็ทะลุ 2,000 ชั่วโมง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของคนในเมืองสองกลุ่ม การทำงานหนักหรือชั่วโมงการทำงานสูงไม่ได้มีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคยว่าเป็นชนชาติที่ทำงานหนัก ก็มีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงกว่า 200 ชั่วโมงต่อปี เมื่อนับจากปี 1980

 

น่าสนใจว่าสำหรับชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ เริ่มเพิ่มขึ้นจากยุคกลาง เมื่อเข้าสู่ยุคถ่านหิน และยุคอุตสาหกรรม และลดน้อยลงเมื่อมีการพัฒนาของสิทธิแรงงานและอำนาจต่อรอง ในศตวรรษที่แล้ว

แต่ชั่วโมงการทำงานของคนกรุงเทพฯ ยังใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยชาวโลกในยุคกลางอยู่เลย

ดังนั้น ในแง่นี้เราจะพบว่าการทำงานหนักไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในระดับปัจเจกชน ระดับสังคม

หรือจะพูดให้ถึงที่สุดในระดับประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันขนาดนั้น

แต่การมีนโยบายสวัสดิการที่ดี อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงาน ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนสำคัญกว่า และเราจะเห็นได้ว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ทำได้ยากเย็นนัก มันสามารถเปลี่ยนได้ทั้งโครงสร้างหรือค่อยๆ เปลี่ยน แต่เปลี่ยนได้แน่นอน ใช้เวลานับศตวรรษ หรือใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

กลับมาที่คำถามของหัวข้อที่ผมยังไม่ได้ตอบ แต่ก็คงตอบได้คำเดียวสั้นๆ ต่อคำถามว่า “ทำไมคนรวยอยากให้คนจนทำงานหนัก” ก็คือ

“พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถานะที่พวกเขามีอยู่ และให้พวกเราเข้าใจได้ว่าการมีชีวิตที่ดีมีได้แค่การทำงานหนักรับคำสั่งและโครงสร้างอำนาจที่มีมาเท่านั้นเอง”

ข้อมูลชั่วโมงการทำงาน

https://clockify.me/working-hours