จาก ‘วิกฤตทับซ้อน’ (Polycrisis) สู่ ‘วิกฤตถาวร’ (Permacrisis)

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จาก ‘วิกฤตทับซ้อน’ (Polycrisis)

สู่ ‘วิกฤตถาวร’ (Permacrisis)

 

รัฐบาลนี้อาจจะใช้คำว่า ‘วิกฤต’ ฟุ่มเฟือยจนเราเริ่มชินชากับมัน

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างอันตราย

เพราะหากเราเริ่มจะเห็น “วิกฤต” เป็นเพียงคำเกริ่นนำเพื่อเรียกร้องความสนใจและบรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้าของนักการเมือง เราก็กำลังจะตกหลุมพรางของความประมาทอย่างน่าหวั่นเกรงทีเดียว

วันนี้ ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะ “วิกฤต” จริง

แต่ไม่ใช่วิกฤตเพียงแค่เป็นวาทะเพื่อผลักดันนโยบายระยะสั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

หากแต่เป็นวิฤตฝังลึก, ต่อเนื่อง และทับซ้อนที่จะแก้ไขได้จริงจังก็ด้วยการมีวิสัยทัศน์ลุ่มลึก, ความมุ่งมั่นที่จริงจัง และความกล้าหาญทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม

 

วิกฤตของไทยมีทั้งในประเทศและที่โยงกับต่างประเทศ

มีทั้งวิกฤต “ทับซ้อน” และ “วิกฤตถาวร”

อย่างแรกเรียกว่า Polycrisis

อย่างหลังคือ Permacrisis

Poly แปลว่ามาก Perma มาจาก Permanent หรือถาวร

เราอยู่กับวิกฤตที่ตราตรึงอยู่กับเราอย่างถาวรเพราะเราไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง

เราชอบแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่กล้าปฏิรูปอย่างจริงจังเพราะกลัวจะไปกระทบผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มซึ่งจะกลับมากระทบเราเอง

ขณะเดียวกัน เราก็เผชิญกับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” เพราะวิกฤตมาพร้อมๆ กันหลายเรื่อง

ยิ่งเราไม่แก้วิกฤตเดิม พอเกิดวิกฤตใหม่ ก็เพิ่มความซับซ้อน ยิ่งทำให้แก้ยากขึ้น

ยิ่งเราไม่มี “ภูมิคุ้มกัน” เพียงพอ เราก็ติดโรคใหม่ๆ ได้ง่าย

กลายเป็นว่าวิกฤตเก่าไม่ทุเลา วิกฤตใหม่ก็ทับถมเข้ามา

Polycrisis กับ Permacrisis มาบรรจบพบกันที่บ้านเราอย่างคึกคัก

จนมาถึงจุดที่รัฐบาลบอกว่าเรา “โตต่ำกว่าศักยภาพ”

ทั้งๆ ที่ปัญหาจริงๆ อาจจะคือการที่ “ศักยภาพ” จริงๆ ของเรานั้นต่ำลงมาเรื่อยๆ

เราจึงโตได้แค่เท่ากับศักยภาพเท่านั้น

และศักยภาพที่ว่านี้ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงตลอดเวลา

เพราะเราไม่เคยลงมือแก้วิกฤต…ทั้งที่ “ถาวร” และที่ “ทับซ้อนกัน”

นักการเมืองรุ่นใหม่จะต้องทำความเข้าใจ Permacrisis และ Polycrisis ให้ดี

เพราะนโยบายที่จะตอบโจทย์ประเทศได้จริงๆ ต้องเข้าใจความซับซ้อนของรูปแบบและเนื้อหา “วิกฤต” ให้จงได้

คำว่า “วิกฤตซ้อนวิกฤต” นั้นหมายถึงการบรรจบพนกันของวิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกันอย่างยุ่งเหยิง

บางคนบอกว่า Polycrisis หมายถึงวิกฤตที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบที่มีปฏิสัมพันธ์ตั้งแต่ 3 เรื่องขึ้นไป

บางครั้ง วิกฤตหลายเรื่องที่ปรากฏนั้นดูแวบแรกอาจเหมือนไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน

แต่เมื่อเราไม่เอาจริงกับแต่ละเรื่อง ก็อาจเกิดสถานการณ์ที่ซับซ้อนและท่วมท้น

ที่น่ากลัวคือเมื่อผู้บริหารประเทศไม่มีความเป็นมืออาชีพ

หรือร้ายกว่านั้นเป็นเพียงนักฉวยโอกาสที่เล่นบทนักเลือกตั้ง

มีเป้าหมายเพียงเพื่อไล่เก็บผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยตำแหน่งแห่งหน

แต่หาได้มีความสามารถในการบริหารแต่อย่างใดไม่

 

ในระดับโลก มีตัวอย่างของ Polycrisis ในรูปของ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” มาแล้ว

เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 : วิกฤตสุขภาพระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างฉับพลันและรุนแรง

สงครามในยูเครน : ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลกระทบทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ

วิกฤตพลังงาน : ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

วิกฤตค่าครองชีพ : อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ตามมาด้วยความกังวลเรื่องอำนาจการใช้จ่าย

ทับซ้อนด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ : ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมและเกิดความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกแบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ในระดับประเทศของไทยเราก็จะเห็นว่าวิกฤตระดับสากล 5 เรื่องนี้ก่อให้เกิดวิกฤตระดับชาติสำหรับคนไทยพร้อมๆ กันในรูปแบบต่างๆ

ไม่แต่เท่านั้น เรายังมีวิกฤตในประเทศของเราเองที่ทับซ้อนเพิ่มเข้าไปอีก

นั่นคือปัญหาคอร์รัปชั่น, สังคมคนสูงวัย, ระบบการเมืองที่ผูกขาดอำนาจเฉพาะกลุ่ม, ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนซ้ำซากที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขที่ต้นตออย่างจริงจัง

 

คําว่า Permacrisis อันหมายถึง “วิกฤตถาวร” กลายเป็นคำศัพท์แห่งปี 2022 ของ Collins Dictionary

เป็นปีที่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเตือนถึง “ภัยคุกคามขนาดยักษ์” หลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน

และเป็นวิกฤตที่ไม่ได้เกิดแล้วตายตามวงจรปกติ

หากแต่เป็นปัญหาหนักๆ ที่อยู่ยงคงกระพันเพราะมนุษย์และระบบการเมืองกับเศรษฐกิจไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับมันได้

Polycrisis สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ทั่วโลกเชื่อมโยงกัน พัวพันอย่างยุ่งเหยิงต่อกัน และมีแนวโน้มจะเลวร้ายลง

ในหลายกรณี แรงกระแทกของแต่ละวิกฤตจะแตกต่างกัน แต่มันจะมีปฏิสัมพันธ์กัน

และเมื่อวิกฤตหลายเรื่องประดังกันมา 2 บวก 2 จึงไม่ใช่ 4 อาจจะกลายเป็นติดลบ 100 ก็ได้…หากแก้ไขไม่ทันการณ์หรือพยายามทำเป็นมองไม่เห็น

ในระดับโลก ความเชื่อมโยงของวิกฤตซ้อนวิกฤตเห็นได้ชัด

ตลาดพลังงานโลกเกิดอาการช็อกเพราะสงครามของรัสเซียกับยูเครน

ตอกย้ำถึงความเปราะบางของความมั่นคงของอาหารทั่วโลก

ซึ่งบางส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้จ่ายของรัฐบาลในการจัดการกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19

มันกลายเป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่แม้นักบริหารระดับโลกยังต้องเผาตำราเก่าทิ้งเพื่อค้นหาสูตรใหม่ที่ไม่เคยสอนที่ไหนมาก่อน

 

ความซับซ้อนยิ่งหนักขึ้นเมื่อความพยายามจะแก้วิกฤตหนึ่งไปสร้างวิกฤตอีกอย่างหนึ่ง

เช่น เมื่อมาตรการลดความยากจนไปช่วยเพิ่มการปล่อยก๊าซเชื้อเพลิงฟอสซิล

และนโยบายประชานิยมที่อุ้มราคาพลังงานให้ต่ำกว่าตลาด ก่อให้เกิดปัญหาการไม่ประหยัดการใช้พลังงานซึ่งก็โยงไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง

หรือเมื่อจะแก้หนี้นอกระบบแล้วไปทำให้เกิดอำนาจเถื่อนของตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รีดไถและโกงกิน

เพราะรัฐบาลไม่คิดแก้เป็นระบบ หากแต่แก้เป็นจุดๆ เพราะต้องการแค่ quick win เท่านั้น

Permacrisis หรือ “วิกฤตถาวร” สะท้อนถึงปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย

เพราะมันเป็นปัญหาที่เรื้อรังฝังรากลึกและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น

ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม : มลภาวะที่คงอยู่ การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อม

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ : รวยกระจุก จนกระจาย การเข้าไม่ถึงทรัพยากร และความยากจนซ้ำซากถาวรสำหรับบางชุมชน

ความอยุติธรรมทางสังคม : การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ การเหยียดเชื้อชาติ การกีดกันทางเพศ และการกดขี่รูปแบบอื่นๆ ที่ยังคงมีอยู่แม้จะพยายามแก้ไขแล้วก็ตาม

ความไม่มั่นคงทางการเมือง : ความขัดแย้งเรื้อรัง การทุจริต และความล้มเหลวด้านการปกครองที่บ่อนทำลายเสถียรภาพและขัดขวางการพัฒนา

 

การจะแก้ไข Permacrisis และ Polycrisis ต้องเริ่มที่การเมืองต้องเปิดเผยโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและกว้างขวางของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

วันนี้ เรายังอยู่ห่างไกลจากจุดนั้นมากนัก

เพราะเรามีแต่ “รูปแบบ” แต่ยังไม่มี “สาระ”

จะแก้ Permacrisis ได้ต้องมี Permasolutions

จะแก้วิกฤตถาวรต้องมีทางออกถาวรต่อเนื่อง

เริ่มที่การปฏิรูปกลไกสังคมทั้งหลายทั้งปวงว่าด้วยกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการสวัสดิการสังคม และมาตรการในการต่อสู้กับการทุจริตและความอยุติธรรม

และต้องจริงจังกับการเสริมพลังให้กับชุมชนอันหมายถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ สนับสนุนสิทธิของชาวบ้าน และนำวิธีแก้ปัญหาในท้องถิ่นไปใช้ตามความต้องการของชุมชน

ไม่คิดเพียงแค่ quick win แต่ต้องคิดระดับโครงสร้างระยะยาว

การเมืองแบบจารีตคือสาเหตุแห่ง “วิกฤตถาวร” และ “ทับซ้อน”

การเมืองก้าวหน้าที่ยึดหลัก “บริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” เท่านั้นที่จะป้องกันและแก้ปมเงื่อนของ “วิกฤตถาวร, ซ้ำซาก และทับซ้อน” ได้