คู่มือ สอวอ แบบ โกง โกง คำชี้แจง

สมชัย ศรีสุทธิยากร
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

คู่มือฉบับนี้ เป็นคู่มือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยตามกติกาที่ออกแบบในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

โดยเป็นการแนะนำถึง “วิธีการได้มาแบบมิชอบ” ทำให้ผู้ผ่านการคัดเลือกกันเองของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภานั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้ได้บุคคลที่มีความความรู้ความสามารถที่หลากหลาย กระจายไปในหลายกลุ่มวิชาชีพ และสามารถทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเหมาะสม ลงมติคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพ

เป็นผลให้วุฒิสภาหลังการเลือกเป็นอีกครั้งที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงกับใจของประชาชน

 

คู่มือฉบับนี้เหมาะสำหรับใคร

คู่มือฉบับนี้ เหมาะสำหรับบุคคลกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้

1) บุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มการเมืองระดับท้องถิ่น กลุ่มการเมืองระดับชาติ ที่ประสงค์จะส่งตัวเองหรือคนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภา

2) คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตื่นรู้และทราบถึงวิธีการกลโกงในการเลือกกันเองของผู้สมัคร เพื่อหาวิธีการในการป้องกันแก้ไข

3) ประชาชนในประเทศที่ต้องการมีส่วนร่วม ติดตาม เฝ้าระวังการทุจริตในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา สามารถเข้าใจวิธีการที่มิชอบและสามารถรายงานเหตุทุจริตต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อเพิกถอนผู้สมัครที่ทุจริตออกจากกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

 

ขั้นที่ 1 การเลือกกลุ่มอาชีพ

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีการแบ่งกลุ่มอาชีพในการสมัครถึง 20 กลุ่มอาชีพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความหลากหลาย กระจายไปในกลุ่มอาชีพต่างๆ ของสังคม

แต่การแบ่งกลุ่มอาชีพดังกล่าว กลับออกแบบให้ปะปนกันระหว่าง “อาชีพ” และ “คุณลักษณะ” ส่วนบุคคล

เช่น มีกลุ่มอาชีพ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง แต่ก็มีกลุ่มคุณลักษณะส่วนบุคคล เช่น ผู้หญิง คนพิการ คนสูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกคนทุกอาชีพที่มีคุณสมบัติครบ

ส่วนการรับรองว่า จะอยู่ในกลุ่มอาชีพใด เป็นการรับรองตนเองและมีผู้รับรองอีก 1 คนและพยาน 1 คน เท่านั้น ไม่มีหลักฐานการเสียภาษี หนังสือการรับรองจากนายจ้างหรือกลุ่มองค์กรวิชาชีพ

ดังนั้น คนหนึ่งคนจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเลือกตัวเองให้สมัครได้ในหลายกลุ่มอาชีพ เช่น ข้าราชการครู สตรี ทีเกษียณอายุ และประกอบอาชีพการเกษตรเกิน 10 ปี อาจสมัครได้ทั้งกลุ่มการศึกษา กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาวสวน และกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น

ในขั้นนี้ จงอย่าเลือกลงสมัครในกลุ่มอาชีพใดเพราะประกอบอาชีพนั้นเป็นหลัก หรือเพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใด แต่จงเลือกกลุ่มอาชีพที่คาดว่า จะมีการแข่งขันน้อยที่สุด หรือกลุ่มอาชีพที่ตนสามารถได้รับการเลือกมากที่สุด

 

ขั้นที่สอง เลือกสถานที่สมัคร

การเลือกอำเภอที่จะสมัคร มีเกณฑ์ คือ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัคร ทำงานไม่น้อยกว่าสองปีจนถึงวันสมัคร เคยทำงานหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี เคยศึกษาในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

สมมุติว่า นาย ก. เกิดที่ อ.เมือง จ.ระนอง เรียนหนังสือมากกว่าสองปี ที่ อ.เมือง จ.สงขลา ทำงานมากกว่าสองปี ที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอเมือง จ.นนทบุรี มาเกินกว่าสองปี ก่อนหน้านี้ ยังเคยย้ายบ้านโดยมีชื่อในทะเบียนบ้านในอำเภออื่นๆ มากกว่าสองปีอีกหลายอำเภอ

นาย ก. จึงมีโอกาสเลือกอำเภอที่จะสมัครได้มากกว่า 5 ที่ คือ อ.เมือง จ.ระนอง จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ จ.นนทบุรี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และ ในอำเภออื่นที่เคยมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าสองปี

การเลือกสถานที่สมัคร จงอย่าเลือกเพราะความสะดวกในการเดินทางไปสมัครหรือไปใช้สิทธิ แต่จงเลือกอำเภอ หรือเขต ที่คาดว่าจะมีการแข็งขันน้อย

และเลือกจังหวัดที่ประกอบด้วยอำเภอหรือเขตไม่มาก เพราะในขั้นการเลือกระดับจังหวัด รอบแรกที่เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ จะประกอบด้วยผู้ผ่านการคัดเลือกระดับอำเภอ อำเภอละ 3 คน

ระนอง มี 5 อำเภอ เท่ากับ มี 15 คน ในขณะที่ กทม.มี 50 เขต เท่ากับมีผู้ผ่านรอบแรกมา 150 คน การเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพของระดับจังหวัด ให้เหลือ 5 คนในรอบแรกของระดับจังหวัด จึงเท่ากับการแข่งขันในกรุงเทพมหานคร จะเข้มข้นกว่าในจังหวัดระนองถึง 10 เท่า

หากจะต้องการลงสมัครอย่างหวังผล จงเลือกอำเภอที่คาดว่าจะมีการแข่งขันน้อยและเลือกจังหวัดที่มีอำเภอน้อย

 

ขั้นที่ 3 หาจำนวนผู้สมัครในกลุ่มอาชีพ
ให้เพียงพอต่อการผ่านการคัดเลือกในรอบแรก

ในการเลือกขั้นแรกในระดับอำเภอ เป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพที่สมัคร ให้เหลือ 5 คนที่จะไปให้กลุ่มอาชีพอื่นในสายเดียวกันเลือกอีกครั้งให้เหลือ 3 คน

การเลือกในกลุ่มอาชีพเดียวกันให้เหลือ 5 คนในขั้นแรกของระดับอำเภอนั้น หนึ่งผู้สมัคร จะมีสิทธิในการเลือก 2 ชื่อ โดยอาจจะเลือกตัวเองหรือไม่เลือกตัวเองก็ได้ แต่ไม่มีสิทธิเลือกชื่อเดียวทั้งสองสิทธิ

การประมาณการว่าควรจะมีคะแนนที่ได้จากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพระดับอำเภอจะเป็นตัวบอกว่าจะต้องมีการเกณฑ์คนมาช่วยสมัครเท่าไรจึงจะสามารถผ่านการเลือกครั้งแรกในระดับอำเภอได้

ประมาณว่าหากมีผู้สมัครตามธรรมชาติในกลุ่มอาชีพหนึ่งในระดับอำเภอ 10 คน การมีคนที่เกณฑ์มาสมัครอีก 10 คน น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เป็น 1 ใน 5 ของผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกกันเองได้ นั่นคือลงทุนค่าสมัครอีก 25,000 บาทให้แก่ผู้สมัครที่กะเกณฑ์มาช่วยลงคะแนน หรือหากจะมีค่าป่วยการอื่นๆ ก็คงไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

สำหรับผู้มีเงิน มีอิทธิพล หรือปรารถนาจะผ่านกระบวนการคัดเลือกกันเองที่มีจุดอ่อนดังกล่าว อาจเลือกวิธีการที่ผิดกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ผ่านการคัดเลือกในรอบต้นๆ โดยยึดคติ กกต.จับได้ก็จับไป จับไม่ได้ก็ผ่านเข้ารอบ เหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีการใช้เงินซื้อเสียงกันมากมายโดยยึดคติเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การออกแบบให้มีการเลือกกันเองและเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพที่กระทำกันถึง 3 ระดับ คือระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทำให้ผู้ที่ใช้เงินคนลงสมัครในรอบแรกของระดับอำเภอ ไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะสามารถทะลุไปถึงขั้นสุดท้ายเพื่อให้ได้เป็น 1 ใน 200 คนของสมาชิกวุฒิสภาได้

 

การซื้อที่ดีที่สุด
คือ การซื้อผู้ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว

สําหรับกลุ่มการเมืองระดับประเทศ ที่ต้องการเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อสนับสนุนการทำงานของตน ไม่ว่าจะเป็นการผ่านกฎหมาย การเลือกองค์กรอิสระ การกำกับตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การลงมติในประเด็นสำคัญที่สมาชิกวุฒิสภาต้องมีส่วนร่วม

อาจแทบไม่มีความจำเป็นต้องไปทุ่มทุนตั้งแต่กระบวนการรับสมัครในขั้นแรกๆ เลย

เพราะไม่มีหลักประกันใดว่า การลงทุนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ

การใช้เงินเพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาในสังกัดที่ดีที่สุด จึงเป็นการซื้อภายหลังการที่มีบุคคลได้รับการเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา

การซื้อดังกล่าวอาจเป็นการเสนอประโยชน์แบบเฉพาะครั้ง

หรือให้ค่าตอบแทนเพิ่มเป็นรายเดือนตราบใดที่ยังอยู่ในสังกัด

 

กกต.พึงรู้ทัน
และประชาชนต้องช่วยกัน

คู่มือ สอวอ แบบโกง โกง เป็นฉากทัศน์ (Scenario) ของการหลีกเลี่ยงและการทำผิดกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

ซึ่งหวังว่า หาก กกต.ได้รู้ทันและหาวิธีการแก้ไขและประชาชนได้ร่วมมือช่วยกันในการกำกับตรวจสอบ ตลอดจนการใช้สิทธิในการสมัครเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ร่วมคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณภาพ

เมื่อรู้ทันแล้ว อย่าปล่อยผ่าน เพราะเท่ากับเป็นการร่วมส่งเสริมให้เกิดการทำความผิด