ทักษิณ ชินวัตร ปิ๊กบ้าน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

พลันที่ทักษิณ ชินวัตร ปิ๊กบ้านที่เชียงใหม่ การเมืองไทยก็กลับมาอยู่ในจอเรดาร์การเมืองอีกครั้ง

มีการตีความกันไปต่างๆ นานา ระคนด้วยความรัก/ความเกลียด ยกย่อง/หมั่นไส้ ระคนด้วยอคติของแต่ละฝ่าย

งานประพันธ์ชิ้นนี้ก็หนีความจริงเหล่านี้ไม่พ้น เนื่องจากเป็นแค่นักสังเกตการณ์คนหนึ่ง

ทั้งหมดเป็นความเห็นของผู้ประพันธ์คนเดียว

การตีความทักษิณ ชินวัตร ปิ๊กบ้าน

 

เป็นไปไม่ได้ที่ไม่มีการตีความทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้หายไปไหนเลยนาน 17 ปี หลังถูกทำรัฐประหารปี 2549

ทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่อย่างทรงพลัง แม้อยู่ต่างแดนอันไกลโพ้น ภาพ เสียงและความนึกคิดของเขาที่ผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายชนิดทรงพลังและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยแน่นอน

ขนาดอยู่ในโรงพยาบาลแบบไม่ปรากฏกายต่อสาธารณะ เขาก็ยังทรงพลังและเป็นที่โจษจันจากหลายฝ่าย

ครั้นทักษิณ ชินวัตร ปิ๊กบ้านที่เชียงใหม่ มีหรือจะไม่สั่นสะเทือนกันไปทั่ว เพียงแต่ว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตีความของผู้มอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทักษิณ ชินวัตร ปิ๊กบ้าน พร้อมกับการแสดงตนต่อสาธารณะของคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคุณแพทองธาร ชินวัตร พร้อมๆ กัน บุคคลทั้ง 3 แห่งครอบครัวชินวัตรได้ประกอบสร้างสิ่งที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ แต่ในรูปลักษณ์ใหม่ขึ้นมาอย่างแข็งขัน รวดเร็ว ในรายละเอียดมองได้ว่า

ทักษิณ ชินวัตร คือผู้ทรงอิทธิพลในการประสานและรวบรวมเหล่าบ้านเล็กและบ้านใหญ่ให้ทำงานควบคู่กับการทำงานการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันผู้ไม่รู้จักมากนักกับเหล่าบ้านเล็กและบ้านใหญ่ที่ยังทรงอำนาจในการเมืองไทย ทักษิณ ชินวัตร ยังแสดงถึง อดีต ยุคเรืองอำนาจ

ส่วนคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีย่อมหมายถึง ปัจจุบัน เป็นผู้นำทางการบริหารประเทศ เดินทางไปต่างประเทศด้วยโมเดลของเซลส์แมน คบค้าสมาคมกับนักธุรกิจรายใหญ่และขนาดกลางกว่า 16 ประเทศ ในสาขาเศรษฐกิจขนาดใหญ่สำคัญแทบทั้งสิ้น

อีกคนหนึ่ง คุณอุ๊งอิ๊งคือ อนาคต กำลังแสดงฝีไม้ลายมือ ดังที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันชื่นชมว่า เธอมีความทะเยอทะยานทางการเมือง เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งอายุและแนวความคิด อันสอดรับกับอนาคตของสังคมไทยในโลกสมัยใหม่ เพียงแต่รอโอกาสที่เหมาะสม

หากฉากทัศน์การเมืองไทยเป็นดังว่านี้ นับเป็นการสอดประสานที่ลงตัวของอดีต ปัจจุบันและอนาคตของการเมืองไทย มองอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจการเมืองไทยยาวนานนับตั้งแต่ปี 2544 หรือ 19 ปีหรือมากกว่านั้นอยู่ภายใต้ ระบอบทักษิณ เพียงแต่เปลี่ยนแกนนำบ้างชั่วครั้งชั่วคราว

 

ปฐมบท

นั่นหมายความว่า รักลูก หลงหลาน อยากกลับมาเลี้ยงหลานก็เป็นเพียงวาทกรรมอีกวาทกรรมหนึ่งของคนในตระกูลชินวัตรหรือเปล่า

การเคลื่อนไหวทั้งเชิงสัญลักษณ์ เชิงวัฒนธรรมทั้งอาหาร ข้าวซอย กาแฟร้านโปรด อู้คำเมืองกับญาติมิตร ผู้เฒ่าผู้แก่ พระชั้นผู้ใหญ่ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการตรวจราชการ พบปะผู้คนที่รักใคร่ อันอาจเป็นฐานเสียงสำคัญของทักษิณ ชินวัตร ย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นไม่ช้านี้

แม้ปากบอกว่า ปิ๊กบ้าน แต่การกอบกู้ชื่อเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ได้ลดน้อยถอยลงอย่างเด่นชัด ก็เป็นความบังเอิญอย่างจงใจของแกนนำพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ขออนุญาตกวาดสายตาไปดูพัฒนาการอันไม่หยุดนิ่งของระบอบทักษิณ

 

พลวัตของระบอบทักษิณ

งานประพันธ์ของผู้ประพันธ์เมื่อปี 25571 เกริ่นเอาไว้ถึงความต่อเนื่องทางการเมืองของระบอบทักษิณ ว่า

“…ทักษิณ ชินวัตร สร้างความร่ำรวยได้ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 4 ครั้ง ภายในเวลา 4 ปี เขาถูกโค่นล้มโดยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และใช้เวลาส่วนใหญ่หลังจากนั้นลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังปี 2550 พรรคของเขาสามารถตั้งรัฐบาลตัวแทนหรือนอมินีของเขา อันได้แก่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช (ประมาณ 7 เดือน) รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ประมาณ 2 เดือน) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2 ปี 275 วัน) ซึ่งนำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งปี 2554 บริหารประเทศจนถึง 7 พฤษภาคม 2557 ก่อนการรัฐประหาร 21 พฤษภาคม 2557 เพียงไม่กี่วัน…”2

เมื่อวิเคราะห์ ระบอบทักษิณ ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เราจะเห็นเครือข่ายอำนาจของ ระบอบทักษิณ มีที่มา รูปแบบและความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการเมืองไทย

กล่าวคือ ก่อนการรัฐประหาร 2549 เครือข่ายอำนาจของระบอบทักษิณมาจาก กลุ่มทุนขนาดใหญ่ มีการรวมตัวของเงิน นโยบายและความนิยม

แล้วยังมีฐานอำนาจที่ทักษิณ ชินวัตร สร้างอย่างเป็นระบบ นั่นคือ ทหาร เริ่มจากกลุ่มนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 และนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

แต่การแทรกแซงกองทัพนี่เองเป็นเหตุผลหลักของการรัฐประหาร 2549 หลังจากการเมืองไทยห่างเหินการรัฐประหารมา 15 ปี รัฐประหารล่าสุดปี 2534

เครือข่ายอำนาจของระบอบทักษิณ หลังรัฐประหาร 2549 ที่น่าสำคัญที่สุดสำหรับผมคือ เครือข่ายอำนาจระบอบทักษิณกับกลุ่มคนเสื้อแดง

ความจริงแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงมิได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นเครือข่ายคนเสื้อแดง มีการก่อตั้งโรงเรียน นปช. ซึ่งเป็นโรงเรียนการเมือง เครือข่ายวิทยุชุมชน มีสถานีโทรทัศน์เครือข่ายคนเสื้อแดงสะท้อนพัฒนาการของภูมิทัศน์ประชาธิปไตยในชนบท แสดงออกถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในความพยายามสร้างช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกปิดมานาน แล้วการขยายตัวของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การเมืองเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองชนบท3

อัตลักษณ์ของความเป็นแดง มิใช่ตัวตนที่เป็นสารัตถะหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง

แต่เป็นกระบวนการหลอมรวม บ่มเพาะด้วยประสบการณ์การเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย4

 

เชียงใหม่ : เมืองหลวงของคนเสื้อแดง

แม้ทักษิณ ชินวัตร และคนใกล้ชิดฉลาดหลักแหลม การลดโทษ แล้วหายตัวด้วยอาการป่วยขั้นวิกฤตในโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 การกลับสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อนรัก ฮุน เซน แขกคนแรกที่ได้เข้าเยี่ยมเป็นสคริปต์การเมืองขั้นเทพ

แต่การเปิดตัวสู่สาธารณะที่เชียงใหม่กลับไม่ใช่การกอบกู้และฟื้นฟูความนิยมต่อทักษิณ พรรคเพื่อไทย คุณเศรษฐา หรือแม้แต่คุณอุ๊งอิ๊ง

กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้ภักดีต่อระบอบทักษิณอีกต่อไปแล้ว ดังเห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงเลือกพรรคก้าวไกล เหมือนกับที่เกิดขึ้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต นครราชสีมา

ระบอบทักษิณขณะนี้จากฉากทัศน์ ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร ร่วมกันกำกับการเมืองไทยอาจเป็นฉากทัศน์ปลอบใจและเยินยอกันเองของคนใกล้ชิดทักษิณ ชินวัตร และเชียงใหม่จะเป็นสนามทดสอบฉากทัศน์ที่ชอบอ้างกัน

โปรดติดตามตอนต่อไป


1อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ “เครือข่ายอำนาจทักษิณ : โครงสร้าง บทบาท และพลวัต” ผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรณาธิการ สู่ สังคมไทยเสมอหน้า (กรุงเทพ สำนักพิมพ์มติชน 2557)

2เพิ่งอ้าง : 194.

3ปิ่นแก้ว เหลืองอร่าม พัฒนาการจิตสำนึกและปฏิบัตการทางการเมืองของขบวนการเสื้อแดงในเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) พฤษภาคม 2555 : 4-5.

4เพิ่งอ้าง : 16-17.