จินตนาการแห่งการสำรวจและฟื้นฟูความเสียหายของระบบนิเวศลุ่มแม่น้ำโขง ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

จินตนาการแห่งการสำรวจและฟื้นฟูความเสียหาย ของระบบนิเวศลุ่มแม่น้ำโขง

ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

 

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินผู้มีฉายาว่า อุบัติสัตย์ (U Bat Sat)

ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เขาเป็นศิลปินนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้ให้ความสําคัญกับการศึกษาข้อมูลเชิงลึก ที่มีผลต่อกระบวนการสร้างสรรค์ โดยมุ่งสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับผู้คนในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ช่างฝีมือ นักดนตรี หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

และสื่อสารผ่านผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-Specific Installation) ที่สร้างขึ้นในหลากสื่อหลายวัสดุ

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 อุบัติสัตย์ นำเสนอผลงานจำนวนสองชุด

ชุดแรกคือผลงาน ‘ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง’ (white eel in the dawn of the exile) ศิลปะจัดวางที่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของสิ่งแปลกปลอมทางธรรมชาติ โดยได้แรงบันดาลใจจากตำนานพื้นบ้าน ผนวกกับประสบการณ์ และเรื่องเล่าของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนในหลายภาคส่วน

ชื่อของผลงานชิ้นนี้มีที่มาจากตำนาน ‘ปลาไหลเผือกแห่งโยนกนคร’ หนึ่งในตำนานท้องถิ่นโบราณในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่เรียกว่า ‘เวียงหนองหล่ม’ นั้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ชาวเมืองโยนกนครไปจับปลาไหลเผือกยักษ์ในแม่น้ำที่มีลำตัวใหญ่เท่ากับต้นตาลและยาวกว่า 7 วา มาสับเป็นท่อน แล้วนำไปปรุงอาหาร ก่อนแจกจ่ายให้ชาวเมืองทุกคนได้กิน

โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วปลาไหลเผือกนั้นคือบุตรของพญานาคราชผู้คอยดูแลเมืองโยนกนครมาช้านาน

ทำให้ชาวเมืองถูกลงโทษด้วยภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว เมื่อยามฟ้าสาง ผู้คนจากเมืองอื่นต่างพบว่าแผ่นดินเมืองโยนกนครยุบตัวลงจนกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่แทน

อุบัติสัตย์เปรียบเทียบเรื่องราวในตำนานพื้นบ้านที่ว่านี้ให้เข้ากับสถานการณ์ของแม่น้ำโขงในปัจจุบันว่า

“เรื่องปลาไหลเผือกเป็นตำนานของแม่น้ำโขงตั้งแต่โบราณ ผมเดาว่าจริงๆ น่าจะเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่า แต่ในปัจจุบัน ภัยพิบัติที่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากมนุษย์ การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ก็เปรียบเสมือนปลาไหลเผือกกำลังถูกสับเป็นท่อนๆ ด้วยเขื่อนจำนวนมาก เพราะโครงการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบมหาศาลต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง”

“ยกตัวอย่างเช่น ตะกอนสีส้มที่เป็นเหมือนกาวของแม่น้ำโขงถูกกักไว้เหนือเขื่อน ทำให้น้ำท้ายเขื่อนไม่มีตะกอนจนเกิดปรากฏการณ์ที่น้ำในแม่น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้าใส ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘แม่น้ำหิว’ ซึ่งอันตรายมาก เพราะน้ำจะกัดเซาะทุกอย่าง ทั้งตลิ่ง สะพาน หรืออาคารบ้านเรือนจนพังทลายหมด”

“ผมมองว่าการสร้างเขื่อนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหึมา ทั้งปูนซีเมนต์เอย อะไรเอย ทั้งที่จริงๆ ตอนนี้เรามีพลังงานไฟฟ้าพอใช้กันเหลือเฟือแล้ว แต่เขื่อนก็ยังถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจและอำนาจต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะประเทศจีนที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำ และยังต้องการระเบิดเกาะแก่งตามแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนสินค้าล่องผ่านได้”

“ซึ่งเกาะแก่งแม่น้ำถือเป็นระบบนิเวศสำคัญของสัตว์ท้องถิ่นที่ธรรมชาติสั่งสมขึ้นมาเป็นล้านปี แต่เทคโนโลยีสมัยนี้สามารถทำลายได้ภายในวันเดียว”

เรื่องราวเหล่านี้ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ดูคล้ายกับเรือขนาดมหึมาสีดำทะมึน ล่องลอยอยู่บนลวดลายสีเงินอมฟ้าและส้ม

ภาพของเรือที่ว่านี้เกิดจากการประกอบขึ้นจากภาพโครงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 28 เขื่อน ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำนานาชาติความยาวกว่า 4,909 กิโลเมตร (รวมถึงแม่น้ำโขงด้วย) ทั้งเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 12 เขื่อน และที่กำลังก่อสร้างหรือมีแผนก่อสร้างจำนวน 9 เขื่อน และที่ยกเลิกการก่อสร้างไปแล้ว หรือไม่ทราบสถานะชัดเจนจำนวน 7 เขื่อน

“งานชุดนี้เริ่มจากการเอาภาพโครงสร้างเขื่อนแต่ละเขื่อนมาตัดต่อกันจนกลายเป็นภาพภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ ทุกองค์ประกอบในภาพได้มาจากชิ้นส่วนของภาพเขื่อนทั้งหมด ลวดลายสีเงินอมฟ้าในภาพแทนแม่น้ำหิว ลวดลายสีส้มแทนตะกอนแม่น้ำโขง”

“ส่วนภาพสีดำคือเรือจาฟู่ หรือเรือสำรวจขนาด 450 ตัน ของจีนที่ลาดตระเวนมาสำรวจล่องน้ำโขงทางสามเหลี่ยมทองคำจนสุดเขตแดนไทย”

ส่วนผลงานชุดที่สองของเขามีชื่อว่า ‘เรือเหาะสิงหนวัติกุมาร’ (Singha Nava Kumara Airship) ซึ่งเป็นผลงานที่ต่อเนื่องจากผลงานชุด ‘ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง’ ที่ศิลปินจินตนาการถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขงในอนาคต จากความร่วมมือของประชาคมอาเซียน

โดยเล่าเรื่องผ่านการผจญภัยของเรือเหาะ ที่บรรจุข้อมูลจากงานวิจัยและจินตนาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตำนานพื้นบ้าน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา สิ่งแวดล้อม อารยธรรม และการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้

โดยนำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรมจัดวางกึ่งนามธรรมขนาดใหญ่ ที่พัฒนารูปแบบต่อเนื่องมาจากข้อมูลและประสบการณ์การสำรวจสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบริเวณลุ่มน้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

อุบัติสัตย์กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชุดนี้ว่า

“ด้วยความที่ในพื้นที่แสดงงานของผมมีการตกแต่งและจัดเรียงวัตถุจัดแสดงตามคติจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา ซึ่งมีทั้งจักรราศี เขาพระสุเมรุ โดยมีพระพุทธรูปเป็นประธาน ผมก็เลยเกิดความคิดที่จะทำเรือ แต่ไม่ใช่เรือล่องแม่น้ำโขงแบบในงานชุด ปลาไหลเผือกฯ ที่ผ่านมา แต่เป็นเรือเหาะที่สามารถล่องข้ามจักรวาล ข้ามสังสารวัฏ ข้ามภพข้ามชาติได้”

“และความที่แนวคิดหลักของมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงรายคือ “เปิดโลก” ผมก็เลยเกิดความคิดว่าจะเอาเรือจาก 6 ยุคสมัย คือ 1.เรือสําเภาจีน จากอารยธรรมทางการค้า 2.เรือจากยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ และเรือซานต้า มาเรีย (Santa Maria) นิญ่า (Ni?a) และปินต้า (Pinta) ของโคลัมบัส 3.เรือหลวงบีเกิล ที่ชาร์ล ดาวิน เดินทางสำรวจทางธรรมชาติวิทยา 4.เรือเหาะฮินเดนบวร์ก ของนาซีเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่สอง 5.เรือดําน้ำของรัสเซีย ในยุคสงครามเย็น และ 6.เรือรบอเมริกันที่แผ่ขยายอิทธิพลทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน โดยนำภาพเรือทั้ง 6 ยุคสมัยเหล่านี้มาประกอบสร้างขึ้นใหม่เป็น เรือเหาะ ที่มีชื่อว่า เรือเหาะสิงหนวัติกุมาร”

“ที่ตั้งชื่อว่า สิงหนวัติกุมาร เพราะเป็นตำนานของ พระเจ้าสิงหนวัติ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรนาคพันธุสิงหนวัตินคร ที่กลายเป็นเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน ซึ่งเดิมทีเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ และเป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคสมัยที่อินเดียนำพุทธศาสนามาเผยแพร่ในสุวรรณภูมิ”

“สีสันของเรือผมได้แรงบันดาลใจมาจากสีของเกล็ดพญานาค โดยใช้สีเมทัลลิกที่จะสะท้อนแสงในแต่ละมุม และจะเปลี่ยนสีสันเป็นเหลือบสีต่างๆ เมื่อผู้ชมเคลื่อนไหวย้ายมุมมองในการชม”

“งานชิ้นนี้เป็นงานที่ต่อเนื่องจากงานชุด ปลาไหลเผือกฯ ที่พูดถึงอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอดีตอย่างเชียงแสน ซึ่งในปัจจุบันคือสามเหลี่ยมทองคำ และแม่น้ำโขงในปัจจุบันกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองของมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างมาก”

“ผมเลยจินตนาการว่าตัวเองเป็นวิศวกรที่กำลังรวบรวมสหวิทยาการทุกอย่าง เพื่อสร้างเรือเหาะที่สำรวจความเสียหายทางระบบนิเวศของพื้นที่แห่งนี้และฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หรือถ้าเป็นในบริบททางศาสนาพุทธมหายาน ที่แปลว่า ยานพาหนะที่ใหญ่ เหมือนเรือเหาะลำนี้ ที่พาสรรพสัตว์ข้ามมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ตามบริบทของพื้นที่แสดงงาน”

ผลงานของอุบัติสัตย์ทั้งสองชุดนี้ กระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ภายใต้ชื่อหรูและฟังดูดีอย่าง ‘แผนพัฒนา’ ต่างๆ ที่เหล่าบรรดามหาอำนาจในโลกผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น จะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม หรือแค่เอื้อผลประโยชน์แก่อภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อยบางกลุ่มกันแน่?

และในอนาคตข้างหน้าเราจะมีชีวิตกันอย่างไร บนผืนแผ่นดินและสายน้ำที่กำลังจะตาย

หรือสภาพแวดล้อมที่เสียหายอย่างไม่อาจฟื้นคืนด้วยผลกระทบจากการพัฒนาเหล่านี้

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน ‘ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง’ และ ‘เรือเหาะสิงหนวัติกุมาร’ ของ อุบัติสัตย์ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด

เปิดให้เข้าชม (ฟรี) ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. (ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) •

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ภาพถ่ายโดย วันชัย พุทธวารินทร์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์