ในประเทศ / ขรรค์ชัย-ฐากูร บุนปาน ชี้อนาคต ‘มติชน’ ในยุคเปลี่ยนผ่าน ‘สื่อ’

ในประเทศ

ขรรค์ชัย-ฐากูร บุนปาน

ชี้อนาคต ‘มติชน’

ในยุคเปลี่ยนผ่าน ‘สื่อ’

9 มกราคม เมื่อ 40 ปีก่อน เป็นวันที่หนังสือพิมพ์มติชนฉบับแรกวางแผง
พร้อมข้อความตอนหนึ่งที่ระบุว่า
“การประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์เพื่อให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงนั้น ต้องกระทำด้วยสำนึกที่ว่า เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และของชาติเป็นที่สุด”
จาก 2521-2561 ผ่านมา 4 ทศวรรษ ถึงเวลาที่วงการสื่อต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
“ขรรค์ชัย บุนปาน” หัวเรือใหญ่ผู้ก่อตั้ง “มติชน” เผยว่าทุกสรรพสิ่งในโลกมีความเปลี่ยนแปลง
“ไม่เปลี่ยนสิบ้า ผมก็ต้องหงอก ฟันก็ต้องหัก ตาก็ต้องส่อนลง จมูกก็ได้กลิ่นน้อยลง ถูกไหมเล่า?”
แต่เขายืนยันว่า แม้โลกเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง แต่คนที่อ่านหนังสือก็น่าจะมีอยู่ เพราะว่าหนังสือจับต้องได้ มีจินตนาการในเนื้อหาสาระได้ ดิจิตอลผ่านมาแล้วผ่านไป แต่คนช่วงที่มีพื้นฐานความรู้จะต้องกลับไปอ่านหนังสือ เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่ดีงามผ่านมาอย่างไร คำคม ความลึกซึ้ง อยู่ในตัวหนังสือ
แต่ถ้าคนเลิกอ่านสื่อกระดาษไปเลย “ก็ต้องเลิก”
“โลกนี้พระอาทิตย์ยังดับได้เลย จะไปหวังอะไร แม่น้ำเปลี่ยนทางได้ อะไรก็มีความเปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่ว่าทั้งบวกและลบ ไม่เปลี่ยนสิประหลาด ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เกิด เสื่อม ดับ ต้องอยู่กับมันให้ได้ ผจญกับมันให้ได้ เป็นเรื่องปกติจริงๆ ถึงเราไม่ปกติกับมัน มันก็จะปกติกับเรา”
และมองว่าความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อไม่ได้มาจากแค่เทคโนโลยี แต่มาจากหลายทางของโลกที่เปลี่ยนไป จากเศรษฐกิจของโลก จากเทคโนโลยี จากอะไรต่างๆ ในแง่สื่อครั้งนี้หมุนกลับ 360 องศา คือ “หักกลาง” เลย จากจุดเริ่มต้น เจริญขึ้น แล้ววนกลับมาที่เก่า อาจจะต่ำกว่าเก่าก็ได้
ใครมีอาชีพนี้ก็ต้องตกใจพอสมควร

ส่วนผลกระทบที่มติชนโดนจากความเห็นต่างทางการเมือง ขรรค์ชัยกล่าวว่า “ถ้ามองย้อนไปดูสภาพที่เป็นจริง จะเห็นว่ามันอยู่ในท่ามกลางความเป็นไป ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยนี่ประหลาด แสดงว่าสังคมป่วย การถูกด่า ถูกกระตุก ก็เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรหรอก เราก็ทำอาชีพของเราที่เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ก็ไม่ควรจะหวั่นไหว การที่คนเป็นทุกข์เพราะหวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ ถ้าไม่หวั่นไหวก็ไม่มีอะไรทุกข์เลย”
และหากเปรียบ “มติชน” ในวัย 41 ขรรค์ชัยมองว่าเป็นวัยกลางคนแล้ว ควรรู้สติ รู้ปัญญา รู้ความรอด ไม่รอด
“ต้องรอดตามวิถีชีวิตแวดล้อมที่เป็นจริง แบบเก่าๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าไปจมอยู่กับสิ่งนั้นเหมือนนักศึกษาปี 1-ปี 3 ที่ความรับผิดชอบยังไม่ปรากฏ ยังมัวแต่สนุกอยู่ มันก็ไม่ใช่แล้ว ต้องปรับตัว กินได้ นอนหลับ ขับถ่ายเป็นปกติก็พอ ในเมื่อทุกอย่างทำเพื่อคนส่วนใหญ่ บุคลิกก็จะครอบคลุมอยู่ในนั้น”
และยืนยันหลักการเดิมที่ยึดถือ
“มติชนมีทางสายเดียว คือ ต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่”

ด้าน “ฐากูร บุนปาน” กรรมการผู้จัดการเครือมติชน คีย์แมนในยุคเปลี่ยนผ่าน กล่าวหนักแน่นว่า “ยุคทองของสื่อสิ่งพิมพ์ผ่านไปแล้ว” ความรุ่งเรืองในอดีตจะไม่หวนกลับ จากนี้คือการประคับประคองสื่อเดิมและทุ่มเททรัพยากรไปยังจุดที่ผู้อ่านและผู้ชมอยู่อย่างแท้จริง
“สิ่งที่เห็นชัดเจนคือเม็ดเงินในงานโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อนร่วมอาชีพพยายามปรับตัวด้วยวิธีการต่างๆ กัน ปรับได้ก็อยู่รอด ถ้าปรับไม่ได้ก็ล้มหายตายจากกันไป และมีอย่างอื่นขึ้นมาทดแทน คนอ่านไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่คนทำสื่อต้องจับให้ได้ว่าคนอ่านอยู่ที่ไหน และตอบสนองเขาให้ถูกที่”
โดยในปีที่ผ่านมา “มติชน” ตัดสินใจเลิกการพิมพ์หนังสือพิมพ์และจัดส่งเอง เพื่อลดต้นทุน
“แง่หนึ่งเป็นการส่งสัญญาณกับเพื่อนร่วมงานว่ามาถึงจุดที่ถอยกลับไม่ได้แล้ว เราเลยยูเทิร์นไปแล้ว สิบปีที่ผ่านมารายได้0kdการขายหนังสือและโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงมาตลอด แต่มีเพิ่มขึ้น 2 ตัวคือ รายได้จากดิจิตอลและรายได้จากกิจกรรมพิเศษต่อยอดความรู้ที่เรามี เช่น จัดสัมมนา ทำออแกไนซ์งานสาระทั้งหลาย”
นั่นคือแนวทางที่มติชนจะมุ่งต่อไป

“โจทย์ที่ชัดเจนถูกกำหนดโดยข้อเท็จจริง เมื่อตัวหนึ่งลด แต่จำเป็นต้องรักษาประคับประคอง ขณะเดียวกันต้องเพิ่มส่วนที่สร้างรายได้จริงๆ ที่คนให้ความสนใจจริงๆ ถ้าคนย้ายจากการอ่านกระดาษไปอยู่บนจอดิจิตอล หน้าที่ของเราในฐานะผู้ผลิตสื่อคือคุณก็ต้องไปรออยู่ตรงนั้น แค่นั้นเอง”
ที่ผ่านมาสื่อในเครือมติชนขยับตัวมาสู่ดิจิตอลจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำสื่อออนไลน์ ซึ่งฐากูรยืนยันว่า “ไม่มีใครฉลาดหรือโง่กว่าใคร เผอิญเราทำได้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นทำไม่ได้ แต่ข้อดีของอันดับ 1 คือจะเห็นข้างหน้ากว้างมาก ก็ต้องใช้สถานะตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพื่อพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง”
แนวทางต่อไปของมติชนคือ 1.ผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ 2.โฟกัสให้แม่นยำว่าตลาดอยู่ตรงไหน
“โลกดิจิตอลมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ทำให้เรารู้จริงๆ ว่าใครคือลูกค้าของเรา รู้ว่าเขามีรสนิยมอย่างไร ชอบ-ไม่ชอบอะไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีมูลค่ามากในธุรกิจโฆษณา ก็ต้องลงทุนทำ Data Analysis หรือ Big Data ให้มากขึ้น”

ถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองปีหน้าว่าจะส่งผลต่อธุรกิจสื่อหรือไม่
ฐากูรตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
“พูดแล้วดูร้าย ปกติเวลาบ้านเมืองไม่ดี สื่อจะดี คนอ่านกันอุตลุด แต่โฆษณาจะรายได้ดีอุตลุดไหม…ก็ไม่แน่ แต่เชื่อว่าด้วยความแหลมคมของการเมืองจะทำให้จำนวนผู้ชม ผู้อ่าน ผู้อยากเข้ามามีส่วนร่วมเยอะขึ้น ทำให้ฐานของผู้ชมกว้างขึ้น อยู่ที่จะเปลี่ยนเป็นผลทางธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน
“ที่เหนื่อยกว่าคือในโลกดิจิตอลรายได้หลักไหลไปอยู่ 2 ที่ คือ กูเกิลกับเฟซบุ๊ก ผมว่าไม่ใช่เฉพาะในไทย ในหลายที่จะมีการลุกขึ้นมาประกาศอิสรภาพจากสองที่นี้มากขึ้น ด้วยกลไกและวิทยาการที่ต่างกัน รายได้โฆษณาดิจิตอลในไทย เฟซบุ๊กและกูเกิลได้ไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องคิดไปเพิ่มอะไร แค่เปลี่ยนส่วนแบ่งนี้มา”
นั่นคือหมุดหมายใหม่ในโลกดิจิตอล

มองผ่าน 40 ปีที่ผ่านมา ฐากูรมองว่ามติชนยังเป็นองค์กรที่มีจิตใจเป็นหนุ่มสาวมีไฟ แม้สมองอาจเคี่ยวไปแล้ว แก่ไปแล้วบ้าง เนื่องจากโดนอะไรมาเยอะ แต่จิตใจยังสู้และพร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ
“การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทำไม่ได้ ถ้าเพื่อนในองค์กรไม่เข้าใจหรือลุกขึ้นมาคัดค้าน ถ้าไม่เข้าใจเรามาเป็นที่ 1 ในโลกดิจิตอลไม่ได้ เรามี 2 เว็บติด 10 อันดับเว็บในเมืองไทยไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือ และการทำงานหนักต่อเนื่อง
“ผมไม่ได้เชื่อลอยๆ เราทำข่าวจะไปคิดเอาเองไม่ได้ ถ้าไม่ร่วมแรงร่วมใจกันมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้หรอก เวลาที่มืดที่สุดลำบากที่สุดยังผ่านกันมาได้แล้ว พอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วจะไม่เร่งไม่ร่วมมือร่วมใจกันเหรอ ผมไม่เชื่อ
“ผมคิดว่าอันดับการเปลี่ยนแปลงของเราน่าจะเร็วกว่านี้อีก”