สงคราม 2 แนวรบในภาคใต้ : การเจรจาในมิติทางยุทธศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงคราม 2 แนวรบในภาคใต้

: การเจรจาในมิติทางยุทธศาสตร์

 

“ทัศนะเอาแต่การทหารได้ขยายตัวออกไปมากเหลือเกินในหมู่สหายส่วนหนึ่งในกองทัพ โดยแสดงออกดังนี้ เช่น ถือว่าการทหารกับการเมืองสองสิ่งนี้ขัดกัน ไม่ยอมรับว่าการทหารเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบรรลุภาระหน้าที่ทางการเมือง ที่บางคนถึงกับกล่าวว่า ‘ถ้าการทหารดี การเมืองย่อมจะดีด้วย ถ้าการทหารไม่ดี การเมืองก็จะดีไปไม่ได้’ นั้น ก็ยิ่งถือว่าการทหารนำการเมืองเลยทีเดียว”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

 

ปัญหาความรุนแรงจาก “การก่อความไม่สงบ” (Insurgence) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทยในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัญหาที่ต้องการการคิดในมิติทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของการต่อสู้กับปัญหา และการยุติปัญหา

ดังนั้น จึงอาจกล่าวในยุทธศาสตร์ได้ว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องการชุดความคิดทางยุทธศาสตร์ 2 ส่วนคือ

1) ยุทธศาสตร์ของการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ซึ่งในวิชาทหารคือ เรื่องของ “สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ”

และ 2) ยุทธศาสตร์ของ “การยุติความขัดแย้ง” ซึ่งในทางยุทธศาสตร์อาจปรากฏในหลากหลายความคิดและวิธีการ

 

กรอบคิด

ทุกคนยอมรับว่ากระบวนการยุติความขัดแย้งที่ดีที่สุด และน่าจะเป็นอุดมคติที่สุดด้วยคือ “การเจรจาต่อรอง” ซึ่งเป็นความหวังว่าสถานการณ์สงครามในพื้นที่ที่เป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องเดินไปสู่การรบแตกหัก เพราะสงครามที่เกิดจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในสังคมอย่างมาก

ซึ่งสงครามในยูเครนและในกาซาดูจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งยังส่งผลต่อโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจของคนและชุมชนต่างๆ อย่างหนีไม่พ้น

กล่าวคือ สงครามจะทำให้พื้นที่นั้นๆ ถูกเผาไหม้ด้วย “ไฟสงคราม” อย่างไม่จบสิ้น

ฉะนั้น จึงไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่าความคาดหวังที่ใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิตของผู้คนในสังคมที่ถูกเผาด้วย “ไฟใต้” ในระยะเวลาเข้าสู่ปีที่ 21 คือการสิ้นสุดของสถานการณ์สงครามการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

และถ้าสงครามนี้สามารถจบลงได้ด้วย “กระบวนการเจรจา” ที่จะทำให้เกิดการ “หยุดรบ” อันจะทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ได้จริงแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการพลิกฟื้นของชีวิตทั้งในระดับสังคมและระดับปัจเจกเท่านั้น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมากในอนาคตอีกด้วย

โดยเฉพาะในมิติของการท่องเที่ยว ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพในเรื่องนี้ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย

ความหวังเช่นนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์สงครามในพื้นที่เริ่มคลายตัวออก และผลการเจรจาระหว่างรัฐไทยและคู่ขัดแย้งจะเป็นปัจจัยของการ “ดับไฟสงคราม” ได้จริง แต่กระนั้นเราคงคิดแบบ “ฝันๆ” ไม่ได้ว่า รัฐไทยสามารถเจรจายุติสงครามได้โดยไม่มียุทธศาสตร์รองรับ… เสมือนหนึ่งคุยๆ กันแล้วฝ่ายต่อต้านรัฐก็จะเลิกรบไปเอง ประมาณว่า “ขี้เกียจรบ” แล้ว และสงครามก็ปิดฉากลงเอง!

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว สาขาวิชา “ยุทธศาสตร์ศึกษา” ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เท่าๆ กับที่รัฐก็ไม่มีความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความมั่นคงที่รัฐต้องเผชิญแต่อย่างใด

และถ้ามีสถานการณ์สงครามเกิดขึ้น ก็จัดเวทีพูดคุย เดี๋ยวสงครามก็จบไปเอง เพราะองค์กรจากต่างประเทศเข้ามาไกล่เกลี่ย และฝ่ายตรงข้ามไม่อยากรบ…

ถ้าแนวทางนี้เป็นไปได้จริง ไฟสงครามในภาคใต้ไม่น่าลุกโชนได้นานกว่า 20 ปีอย่างแน่นอน และรัฐก็ไม่จำเป็นต้องมีมิติคิดในทางยุทธศาสตร์ด้วย

 

การเจรจาและปัญหาทางยุทธศาสตร์

บทความที่จะทดลองนำเสนอต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผู้ที่สนใจมิติทางยุทธศาสตร์ต่อปัญหาการเจรจาที่เกิดขึ้นในบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

การเสนอข้อคิดในทางยุทธศาสตร์มิได้มีความหมายว่า ถ้ามองด้วยชุดความคิดในทางยุทธศาสตร์แล้ว เราจะต้องปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการสันติภาพ” เสมอไป

หรือเสมือนหนึ่งมิติคิดทางยุทธศาสตร์ไม่สนใจเรื่องสันติภาพ เพราะสำหรับผู้ที่อาจไม่คุ้นเคยกับการมองภาพแบบองค์รวมแล้ว มิติทางยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจมีความหมายเพียง “เรื่องกำลังทหาร”

และอาจจะเป็นเพราะตัวภาษา ย่อมทำให้หลายคนคิดว่า “ยุทธศาสตร์ คือศาสตร์ของการใช้กำลังรบ” ประกอบกับคนที่พูดเรื่องในทำนองนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นทหารเสียด้วย

ผลของความไม่คุ้นเคยดังกล่าวมักจะทำให้มีการตีความในกรอบแคบด้วยความเชื่อแบบอัตวิสัยง่ายๆ ว่า ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ คือข้อเสนอในการใช้อำนาจกำลังรบในการแก้ปัญหา และเป็นข้อเสนอไม่เชื่อในเรื่องของการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ

ชุดความเชื่อเช่นนี้จึงเอื้อให้เกิดทัศนะต่อข้อวิจารณ์ทางยุทธศาสตร์ในเรื่องการเจรจาปัญหาภาคใต้ของไทยว่า เป็นมุมมองแบบ “ต่อต้านการเจรจา”

หรือกล่าวในสำนวนทางการเมืองได้ว่า ข้อคิดทางยุทธศาสตร์คือความพยายามในการ “ล้มโต๊ะ” เจรจานั่นเอง

ชุดความเช่นนี้จึงเสมือนหนึ่งต้องการเห็นการเจรจาของรัฐไทยดำเนินไปโดยปราศจาก “กรอบคิดทางยุทธศาสตร์” (strategic framework) ซึ่งดูจะเป็นความท้าทายอย่างมากว่า รัฐไทยควรเปิดการเจรจาทางการเมืองโดยมีกรอบคิดยุทธศาสตร์รองรับหรือไม่…

คำถามในประเด็นนี้จึงไม่ใช่รัฐไทยควรเจรจาหรือไม่ เพราะการเจรจาได้ดำเนินการมาพอสมควรแล้ว แม้ “สาระและวาระ” ของการเจรจาจะไม่เคยถูกนำมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้เลยก็ตาม

 

ว่าที่จริงแล้ว สิ่งที่นักเรียนในสาขายุทธศาสตร์ศึกษาอยากเห็นที่สุดคือ การมาของ “วันเสียงปืนดับ” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

เพราะการสิ้นสุดของสงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมไทยปรารถนา และอยากเห็นที่สุดคือ ชีวิตของศาสนิกต่างความศรัทธาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์และอดกลั้นต่อความเห็นต่าง

อีกทั้งกองกำลังติดอาวุธของทุกฝ่ายต้องยุติการสร้าง “พื้นที่แห่งความกลัว” ด้วยการเคารพในชีวิตของประชาชนทุกความเชื่อ และเป็นไปได้ไหมที่เราจะเรียกร้องให้กองกำลังทุกฝ่ายเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หรือเราจะเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐเท่านั้นที่ต้องเคารพในหลักการนี้ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะได้รับการยกเว้น

แต่ด้วยความเป็นจริงของสถานการณ์ด้านความมั่นคงแล้ว การจะดับ “ไฟใต้” ได้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน (ผู้เขียนเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้เป็นชื่อหนังสือเรื่อง “วิกฤตใต้! สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา” ตุลาคม 2547) เพราะเราไม่อาจเพียงคิดด้วยความ “เพ้อฝัน” ว่า สงครามก่อความไม่สงบชุดใหม่ในภาคใต้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น จะยุติลงได้อย่างง่ายดาย เพราะประสบการณ์ทั้งในเวทีโลก

และในบริบทของไทยในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ เป็นคำตอบที่ดีว่า การ “ดับไฟสงคราม” นั้น จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งรองรับ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ปัญหาเกิดเป็นจริงได้

 

ในอีกด้านหนึ่ง นักเรียนในวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนเสมอว่า สุดท้ายแล้วสงครามจบลงบนโต๊ะเจรจาด้วยยุทธศาสตร์การเมือง และสงครามในสนามรบจบลงด้วยยุทธศาสตร์ทหาร แต่การจบของสงครามใน 2 สนามรบนี้จะต้องดำเนินควบคู่กันเสมอ ฉะนั้น สงครามในสนามรบทางการเมืองของการเจรจา “ยุติศึก” จึงเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญในทางยุทธศาสตร์อีกแบบหนึ่ง และแน่นอนว่าการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในจุดสุดท้ายจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ของโต๊ะเจรจาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ เราไม่อาจคิดด้วยการ “มองโลกสวยงาม” ว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐอ่อนแอ และอ่อนด้อยกว่า รัฐย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบในกระบวนการเจรจา เช่นที่มองแบบด้านเดียวว่า รัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบในสนามรบ เพราะมีกำลังรบที่เหนือกว่า ซึ่งชุดความคิดเช่นนี้อาจไม่เป็นจริงเลยก็ได้ ดังจะเห็นได้ว่าโมเมนตัมของการก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงในรอบเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่โมเมนตัมของการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มติดอาวุธ ที่ปฏิบัติการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดด้วยการก่อเหตุในรูปแบบต่างๆ มาตลอดเวลา 2 ทศวรรษนั้น กลับมีทิศทางขยับตัวขึ้น อันเป็นผลจากเงื่อนไขทางการเมืองภายใน และจากการสนับสนุนของปัจจัยภายนอก

อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นข้อถกเถียงอย่างมากว่า ขบวนติดอาวุธที่ก่อเหตุร้ายซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าคือ “กลุ่ม BRN” นั้น มีความ “เหนือกว่าทางการเมือง” หรือไม่

แต่อย่างน้อยเราอาจสรุปได้ว่า พวกเขาดูจะมีโมเมนตัมทางการเมืองมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีองค์กรจากภายนอกเข้ามาช่วยเล่นบท “เคลียร์ใจ” กับรัฐไทย จึงทำให้เกิดเวทีการเจรจาทั้งที่มาเลเซียและในยุโรปบางประเทศ เช่นที่สวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี เป็นต้น

ประกอบกับภาวะของการเมืองไทยที่เปิดมากขึ้น ย่อมเป็นโอกาสให้ “ปีกการเมือง” ของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ขยายบทบาททางการเมืองได้มากขึ้น ซึ่งว่าที่จริงก็เป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ใน “สนามรบทางการเมือง” ที่เห็นได้ในเวทีโลก เพราะขบวนติดอาวุธไม่เคยต่อสู้ในเวทีเดียว

ซึ่งปัญหาเช่นนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความเท่าทันของรัฐที่จะต้องตระหนักในเรื่องของ “สงคราม 2 แนวรบ”

 

ยุทธศาสตร์การเจรจา

ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้ รัฐไทยจะต้องตระหนักให้มากว่า การเจรจาคือยุทธศาสตร์แบบหนึ่งในการเอาชนะสงคราม เช่นที่หัวข้อและ/หรือสาระการเจรจาคือประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ การละเลยมิติทางยุทธศาสตร์ของการเจรจาด้วยทัศนะที่เห็นสนามรบทางการเมืองเป็นเพียง “หัวข้อทางยุทธวิธี” อาจจะไม่ช่วยนำไปสู่การ “ยุติศึก” สำหรับรัฐไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในสภาวะที่โมเมนตัมทางการเมืองของกลุ่มยังได้รับการสนับสนุนจากหลายปัจจัย เพียงแต่สถานการณ์ขณะนี้มีข้อดีคือ “กระแสก่อการร้าย” ในโลกปัจจุบัน ไม่ขึ้นสู่กระแสสูงเช่นในแบบ “ยุค 9/11” หรือ “ยุคกลุ่มรัฐอิสลาม” ที่กลายเป็นแรงขับเคลื่อนของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ

แต่เงื่อนไขเช่นนี้ก็ไม่ได้อนุญาตให้รัฐใช้มาตรการที่จะนำไปสู่การสร้างผลลบในทางยุทธศาสตร์

ฉะนั้น มิติคิดทางยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่ปฏิเสธการเจรจา แต่ต้องการกระบวน “การเจรจาที่มียุทธศาสตร์” แต่ยุทธศาสตร์นี้จะเกิดได้ในอีกส่วนต่อเมื่อผู้นำรัฐบาลตระหนักและสนใจปัญหาความมั่นคงที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้”… การพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด จะเกิดได้ไม่เต็มศักยภาพตราบเท่าที่สงครามยังคงเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่ เว้นแต่เราจะขาย “ทัวร์สงคราม” แต่ใครเล่าอยากมาเป็นลูกทัวร์ในการท่องเที่ยวนี้!