ยุทธการ 22 สิงหา : อำนาจแฝง รัฐ ‘ราชการ’ แผ่พลัง ผ่าน ‘พันธมิตร’

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

นอกเหนือจากการรุกไล่ทางด้าน “นิติสงคราม” นอกเหนือจากการรุกไล่ทางด้าน “รัฐสภา” แล้วมีปัจจัยอะไรทำให้ทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร จำเป็นต้อง “ถอย”

ถอยจาก “ประเทศไทย” ไปตั้งหลักอยู่ “สหราชอาณาจักร”

ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนเพิ่งกำชัยจากการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้ง 1 เข้ากุมอำนาจการนำใน “อำนาจนิติบัญญัติ” 1 เข้ากุมอำนาจการนำใน “อำนาจบริหาร”

นั่นก็คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอันเท่ากับเป็นประธานรัฐสภาโดยปริยาย

นั่นก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

สถานการณ์ที่มีการรุกไล่ผ่านกระบวนการ “นิติสงคราม” สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอันมีพื้นฐานจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังดำรงคงอยู่อย่างเหนียวแน่น ไม่แปรเปลี่ยน

เมื่อประสานกับการเคลื่อนไหวของ “สมาชิกวุฒิสภา” เมื่อประสานกับการเคลื่อนไหวของ “ฝ่ายค้าน” ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์

บรรยากาศก็มิได้ต่างไปจากห้วงก่อน “รัฐประหาร”

ที่สร้างความวิตกเป็นอย่างสูงและเพิ่มทวีขึ้นเป็นลำดับคือการก่อรูปขึ้นอีกครั้งของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

นี่ย่อมสะท้อนถึงการ “สนธิ” กำลัง จากเครือข่ายแห่ง “รัฐเร้นลึก”

 

ความจริงทางด้านพรรคพลังประชาชนก็สรุปบทเรียนจากยุคที่พรรคไทยรักไทยเคยเผชิญมาแล้วอย่างต่อเนื่องและหนักหนาสาหัสในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

จึงได้มีการตระเตรียมสร้าง “ฐาน” ในเชิง “สะสม” กำลัง

ด้านหนึ่ง การมอบหมายให้ นายจักรภพ เพ็ญแข เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เท่ากับถือเอา “กรมประชาสัมพันธ์” เป็นฐานในเชิง “กระดานหก”

ความหมายก็คือ การสร้างเงื่อนไขในการเข้ากุมสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออย่างองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท

เท่ากับไปครองพลังแห่ง “วิทยุกระจายเสียง” กับ “โทรทัศน์”

หากประสานกับความสามารถเฉพาะตัวของ นายสมัคร สุนทรเวช เข้ากับความจัดเจนของ นายจักรภพ เพ็ญแข ก็ถือว่าเป็น “ทรัพยากรบุคคล” ที่เฉียบขาดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปรปักษ์ทางการเมือง

กระนั้น ด้วยระยะเวลาอันสั้น นายจักรภพ เพ็ญแข ก็ถูก “ต้าน” และ “วางแผน” ทำลายอย่างแยบยล

บนฐานแห่งข้อกล่าวหา “ทัศนคติอันตราย”

 

หลังจาก นายจักรภพ เพ็ญแข ถูกรุกไล่ในทางการเมืองจนต้องพ้นไปจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เดือนกรกฎาคม 2551 ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว

นั่นก็คือ ผู้บริหาร PTV ที่นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ ได้พลิกฟื้น PTV ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังการยุบในห้วงแห่งการจัดตั้งรัฐบาลโดย นายสมัคร สุนทรเวช

นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้แถลงเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ PTV ภาคพิเศษ พร้อมกับ “ผังรายการ” เด่นชัดในทางการเมือง

นี่ย่อมเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เปิดตัวมาเพื่อสู้กับสถานีโทรทัศน์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยตรง

เท่ากับยอมรับในความเป็นรองด้านการข่าว การโฆษณา

เหมือนกับจะออกตัวล่าช้าเมื่อเทียบกับกลไกทางด้านการโฆษณาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เหมือนกับจะออกตัวล่าช้าเมื่อเทียบกับกลไกของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ทั้งหมดเท่ากับเป็นการยอมรับว่ากลไกการโฆษณามีความจำเป็น โดยเฉพาะในท่ามกลางการขยายตัวกว้างขวางเป็นลำดับของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

น่าศึกษาใน “ขบวนการ” สะสม “กำลัง” ของ “พันธมิตรฯ”

 

พันธมิตรฯ มีจุดเริ่มต้นจากประเด็นที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนจะนับหนึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

จากนั้น ก็ได้เชื้อจากจังหวะก้าวของ 2 รัฐมนตรีอันตกเป็นเป้า

1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจักรภพ เพ็ญแข 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ

น่าสนใจที่เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะ 3 ประสาน

1 เป็นการประสานและได้รับการหนุนช่วยจากด้าน “ความมั่นคง” 1 เป็นการประสานและได้รับการหนุนช่วยจากเครือข่ายของพรรคการเมือง 1 เป็นการประสานและได้รับการหนุนช่วยจากอำนาจรัฐ “พันลึก”

มูลเชื้อ “ทัศนอันตราย” ที่วางไว้กับ นายจักรภพ เพ็ญแข จุดติด

มูลเชื่อจากความสงสัยในพฤติการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศโดยโยงไปยังสายสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกัมพูชากับพรรคไทยรักไทยได้จังหวะ

ปลุกพลังปกป้องมรดกในทางวัฒนธรรม ปราสาทพระวิหาร

ยิ่งเมื่อยูเนสโกประกาศยอมรับให้ปราสาทพระวิหารเป็น “มรดกโลก” ยิ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูง

ในที่สุด นายนพดล ปัทมะ ก็เดินไปบนทางเดียวกันกับ นายจักรภพ เพ็ญแข

 

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ชัยชนะจากกรณี นายจักรภพ เพ็ญแข ชัยชนะจากกรณี นายนพดล ปัทมะ สร้างความฮึกเหิมให้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นอย่างสูง

เริ่มเคลื่อนจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปล้อมรอบทำเนียบรัฐบาล

ยุทธวิธีของพันธมิตรมิได้เป็นการสร้าง “ฐานที่มั่น” หากแต่ดำเนินไปในลักษณะที่เรียกว่า “ดาวกระจาย”

บุกไปยังจุดสำคัญอันถือว่าเป็น “ปราการ” ในทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ NBT

ยิ่งกว่านั้น ยังปลุกระดมเคลื่อนไหวใน “ต่างจังหวัด”

ปริมาณที่เริ่มจาก “เรือนพัน” ทวีเป็น “เรือนหมื่น” และหลายหมื่น ทั้งที่เป็นฐานการเมืองในกรุงเทพมหานครและที่มาจากต่างจังหวัด

ไม่ว่าจะจากภาคใต้ ไม่ว่าจะจากภาคเหนือ

เด่นชัดอย่างยิ่งว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้บั่นทอนสถานะและความมั่นคงของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ลงไปเป็นลำดับ

มีความจำเป็นต้องปักหลักสู้ ปักหลักตอบโต้

 

ถามว่าปัจจัยอะไรทำให้การเคลื่อนไหวของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” แผ่พลานุภาพได้อย่างมากด้วยกัมมันตะ

เหนือ “รัฐบาล” อันมีฐานจาก “การเลือกตั้ง”

1 เพราะพันธมิตรฯ สะท้อนการผนวกพลังจากหลายองค์ประกอบในทางการเมืองเข้ามา

ทั้งที่เป็น “พรรคการเมือง” ทั้งที่เป็น “ภาคประชาสังคม”

พรรคการเมืองรวมศูนย์ความไม่พอใจอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ภาคประชาสังคม เป็นทั้งเอ็นจีโอ และปัญญาชนที่ไม่พอใจต่อการขึ้นมาเถลิงอำนาจของพรรคไทยรักไทย

ขณะเดียวกัน 1 คือพลังอันแข็งแกร่งและแน่นหนาของ “รัฐราชการรวมศูนย์” ไม่ว่าจะเป็น พลเรือน ตำรวจ ทหาร

นี่คือที่นักวิชาการเรียกว่า “พรรคราชการ” หรือ “อำมาตยาธิปไตย”

แม้พรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้ง แม้พรรคพลังประชาชนจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ยังมิอาจมีอำนาจเหนือ “รัฐราชการ”

กลไกแห่ง “อำนาจรัฐ” ยังมิได้อยู่ในมือพรรคพลังประชาชน