ไป ‘ลังกา’ (เกือบ) ได้เหาะกลับบ้าน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ถึงแม้ว่าตัวผมเองจะได้เคยเดินทางมาประเทศศรีลังกาแล้วสองสามครั้ง แต่เมื่อได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ให้เดินทางติดตามคณะของท่านมา ในโอกาสที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ พาคณะชาวไทยสี่สิบเจ็ดคนมาอุปสมบทที่ประเทศนี้ โดยประกอบพิธีเพื่อความบริสุทธิ์ในเขตสีมาน้ำ ตามแบบธรรมเนียมโบราณ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากได้บุญกุศล และเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ไวยาวัจกรของวัดเทพศิรินทร์ถวายเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผู้มีพระคุณยิ่ง ผมจึงพยายามจัดตารางชีวิตของตัวเองเพื่อติดตามท่านมาให้จงได้

การนำตัวเองออกจากความวุ่นวายในประเทศไทยเป็นเวลาเจ็ดแปดวันไม่ใช่ของง่ายเลย แต่ก็ยังดีครับที่การประชุมสำคัญบางเรื่องผมยังสามารถโผล่หน้าไปในระบบออนไลน์ได้ ถ้าเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างนั่งรถเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง

ที่ผมกล่าวว่า “จากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง” นั้น เพราะการเดินทางรอบนี้เป็นการเดินทางที่ผมได้เห็นประเทศศรีลังกายาวนานทั่วถึงและได้ผ่านไปตามเมืองสำคัญของเขาครบถ้วนตามลำดับเวลาในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ประเทศของเขามีเมืองหลวงในอดีตและปัจจุบัน เรียงลำดับตามอายุสี่เมือง คือ เมืองอนุราธปุระ เมืองโปโลนารุวะ เมืองแคนดี้หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าเมืองสิริวัฒนนคร และกรุงโคลัมโบเมืองหลวงปัจจุบัน

ผมได้นั่งรถโขยกโยกเยกไปจนครบทั้งสี่เมือง ได้พบเห็นอะไรหลายอย่างที่น่าคิดน่ารู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างศรีลังกากับเมืองไทยของเราในแง่มุมของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอะไรหลายอย่างเชื่อมโยงถึงกันโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวเลยทีเดียว

 

เรื่องนิกายของพระพุทธศาสนา ที่บ้านเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางพระพุทธศาสนากับเมืองลังกาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งเราเรียกพระศาสนาในบ้านว่าเป็นนิกายลังกาวงศ์ และอีกหลายร้อยปีต่อมา ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เมืองลังกาเกิดสิ้นสมณวงศ์ขึ้นมา พระเจ้าแผ่นดินฝั่งทางโน้นก็ส่งทูตมาขอให้เมืองไทยส่งพระภิกษุออกไปอุปสมบทชาวลังกาและเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในเมืองลังกาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปมากแล้ว ไม่ต้องขยายความเพิ่มเติม ประเดี๋ยวท่านจะรำคาญผมเสียเปล่าๆ

นอกจากเรื่องนิกายข้างต้นแล้ว ในประเทศศรีลังกายังมีการแบ่งพระในนิกายสยามวงศ์ออกเป็นคณะย่อยอีกสองคณะ เรียกว่าคณะมัลวัตตะคณะหนึ่ง กับคณะอัสคิริยะ อีกคณะหนึ่ง ตรงกันกับบ้านเราที่มีการแบ่งคณะย่อยเป็นคามวาสีและอรัญวาสี คือพระบ้านกับพระป่า

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการตรงกันอย่างประหลาด หากแต่เป็นการตรงกันอย่างมีประวัติ เพราะนิกายลังกาวงศ์ที่เข้ามาถึงบ้านเราตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เขาก็แบ่งอย่างนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว เมืองสุโขทัยและอยุธยาของเราจึงมีวัดที่อยู่นอกเมืองในเขตที่พอเดินเข้ามาบิณฑบาตในเขตบ้านเรือนผู้คนได้ และมีชื่อเรียกวัดในย่านละแวกแบบนี้ว่า อรัญญิก

ส่วนที่หมู่บ้านอรัญญิกมีชื่อเสียงเรื่องการทำมีดได้ดีถึงใจพระเดชพระคุณนั้นเป็นของมีชื่อเสียงมาในชั้นหลัง ไม่เกี่ยวกับการพระศาสนาแต่อย่างไร

ส่วนวัดที่อยู่ในตัวเมืองก็เป็นวัดฝ่ายคามวาสีไป

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมฉุกใจได้คิดที่นี่หลังจากเคยอ่านผ่านตามาแล้วหลายรอบ

อ่านอะไรหรือครับ

อ่านพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ซึ่งเป็นหนังสือที่ขอแนะนำให้อ่านก่อนมาลังกาทุกครั้ง

ท่านบอกว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเมืองลังกาที่มีชื่อเสียงยิ่งองค์หนึ่งชื่อ พระเจ้าวัฏคามินี ทรงพระราชศรัทธาแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ได้ช่วยชีวิตท่านให้รอดพ้นภัยอันตรายคราวหนึ่ง

ท่านจึงตอบแทนโดยการถวายบ้าน ตลอดจนชาวบ้านในละแวกนั้นเป็น “ข้าพระ” คอยปฏิบัติพระอารามแทนการรับราชการ

ถามว่าพระทำไมต้องมี “ข้าพระ” คำตอบง่ายนิดเดียวครับ คือกิจการในพระอารามบางอย่างพระภิกษุไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวท่านเองเพราะขัดต่อพระวินัย

ยกตัวอย่างเช่น การตัดต้นไม้หรือแม้กระทั่งการตัดหญ้า มีพระวินัยบัญญัติห้ามในเรื่องเช่นนี้ บางทีต้นกำเนิดของเรื่องอาจเป็นเพราะเป็นการไปรบกวนธรรมชาติตลอดจนถึงสิงสาราสัตว์ที่อาศัยต้นไม้นั้นอยู่

คราวนี้ถ้าต้นไม้ใหญ่โตขึ้นมาจะล้มทับกุฏิจะทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องมีคนอย่างเราๆ นี่แหละครับไปคอยช่วยกันตัดต้นไม้

มีอารามิกโวหารหรือสำนวนชาววัด เวลาที่มีคนไปช่วยตัดต้นไม้และมีพระท่านยืนบัญชาการอยู่ ท่านจะไม่บอกว่าตัดตรงนั้นตัดตรงนี้ หากแต่ท่านจะพูดว่า “ช่วยดูกิ่งนั้นหน่อย”

ช่วยดูแปลว่าตัดครับ ฮา!

ทำนองเดียวกับเช่าพระแปลว่าซื้อพระนั่นแหละครับ

 

ธรรมเนียมข้าพระอย่างนี้เมื่อเริ่มต้นขึ้นที่เมืองลังกาแล้วน่าจะแพร่ขยายเข้ามาถึงเมืองไทยเราด้วย

ในอดีตนั้นสามัญชนคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ดีคือคนที่มีศักดินาเกินกว่า 400 ไร่ พวกที่มีศักดินาต่ำกว่าจำนวนนี้เรียกว่า ไพร่

และไพร่นั้นต้องมีสังกัด อยู่กับเจ้านายหรือขุนนางทั้งหลายเพื่อช่วยทำการงานต่างๆ

สังกัดทางเลือกอีกอย่างหนึ่งของคนเป็นไพร่ คือการไปสังกัดอยู่กับวัดอยู่กับพระ เรียกว่าเป็น เลกวัดหรือข้าพระ มีหน้าที่ทำการงานของสงฆ์ตามที่พระท่านมอบหมาย

แถมไว้นิดหนึ่งนะครับว่า เลกวัดหรือข้าพระนี้ต่างจาก “โยมสงฆ์” ซึ่งได้แก่ผู้ที่เป็นญาติโยมของพระสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งโยมบิดามารดา ญาติโยมเหล่านี้จำนวนหนึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรับราชการอย่างไรทั่วไป แต่ให้อยู่ดูแลปรนนิบัติพระภิกษุที่เป็นลูกหลานของตน แทนการไปตักน้ำตำข้าวหรือไปรบกับข้าศึกศัตรูอย่างไพร่อื่นๆ

ชะดีชะร้ายนี่จะเป็นกุศโลบายสนับสนุนให้พระเรียนหนังสือ หรือปฏิบัติกิจในพระศาสนาให้หนักแน่นมั่นคงเสียกระมัง

เพราะไม่ใช่ว่าญาติโยมของพระทุกรูปจะได้สิทธินี้ทุกคนไป แต่ต้องเข้าเงื่อนไขคุณสมบัติที่หลวงท่านกำหนด

ถ้าพระอยากให้ญาติโยมตัวเองสบาย ท่านก็ต้องขวนขวายพากเพียรในกิจของความเป็นพระภิกษุ เพื่อญาติของท่านได้รับประโยชน์ตามกติกานี้

เคยมีผู้บอกผมว่า คำว่า “สำมะโนครัว” จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเลือนมาจากคำว่า “สมณครัว” อันหมายถึงครอบครัวของสงฆ์หรือผู้ที่อยู่ในปกครองของสงฆ์ ที่ต้องมีการทำบัญชีไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง ไม่เช่นนั้นแล้วจะไปปะปนกับไพร่สามัญทั่วไป

เด็กรุ่นนี้ไม่รู้จักสำมะโนครัวเสียแล้ว เพราะรู้จักแต่ทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงินหน้าตาคล้ายพาสปอร์ตที่มีอยู่ประจำบ้านแต่ละบ้านเท่านั้น

 

เรื่องสุดท้ายไม่เกี่ยวกับการพระศาสนาเกี่ยวกับตัวผมเองครับ

นั่นคือรายการเดินทางวันหนึ่งชาวคณะทุกคนจะไปขึ้นเขาสิคิริยา ซึ่งมีหน้าตาเป็นภูเขาหินหนึ่งลูกสูงในราว 200 เมตรเห็นจะได้ และพระเจ้าแผ่นดินเมืองลังกาองค์หนึ่งได้ขึ้นไปสร้างพระราชวังขึ้นไว้บนนั้น ทางเดินขึ้นนั้นต้องปีนบันไดจำนวนหลายร้อยขั้น หรือนับรวมแล้วอาจจะได้เป็นพันขั้นเสียด้วย

แต่แรกเมื่อตอนออกจากโรงแรมที่พักไปยังภูเขาที่ว่านั้น ผมยังสองจิตสองใจว่า ตัวของเราก็วัยนี้แล้ว น้ำหนักก็ขนาดนี้แล้ว จะเดินขึ้นไปจนถึงยอดเขาสำเร็จหรือ

คิดแล้วจึงวางแผนว่าจะไปดูของจริงเอาข้างหน้าแล้วค่อยตัดสินใจกันอีกทีก็แล้วกัน

เมื่อถึงหน้างานเข้าจริงๆ ผมค่อยๆ เดินขึ้นบันไดไปทีละขั้น ได้ประมาณเกือบครึ่งทาง ใกล้จะถึงบริเวณลานที่มีรูปแกะสลักรูปเท้าสิงห์ขนาดมหึมา และต่อจากนั้นไปต้องเดินขึ้นบันไดทางชันซึ่งค่อนข้างหวาดเสียวไปยังลานพระราชวังบนยอดเขาอีกทอดหนึ่ง น้องๆ บันไดลิงเลยทีเดียว

ทันใดนั้นผมก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ว่าอาตมาหยุดอยู่ตรงนี้ดีกว่า

คนเราทำอะไรก็ต้องพอเหมาะสมกับฐานะของตัวเอง อย่าตึงไปหย่อนไป

ทุกวันนี้แข้งขาก็ตึงมากแล้ว และที่ตึงตามมาติดๆ คือหู

ขืนเดินต่อไปแล้วไปเป็นลมเป็นแล้งในระหว่างทาง จะเป็นภาระกับคนอื่นเสียเปล่าๆ

ระหว่างเดินขึ้นบันไดแต่ละขั้น ผมบอกกับตัวเองว่าขอให้ใจของผมเพ่งอยู่กับปัจจุบัน คือก้มดูเท้าและขั้นบันไดให้ดี อย่าก้าวพลาดตกบันไดลงมาเลยทีเดียว อยู่กับปัจจุบันแล้วก็อย่าไปนึกถึงอนาคตด้วย คืออย่าแหงนขึ้นไปสูง ว่ายังเหลือบันไดอีกกี่ร้อยขั้น แล้วก็อย่าไปนึกถึงอดีต ว่าเดินมาไกลแล้วแค่ไหน ทั้งอดีตและอนาคตชวนให้ท้อถอยกับปัจจุบันทั้งสิ้น

นี่แค่เดินขึ้นบันไดยังได้ธรรมะมาถึงขนาดนี้

ถ้าอยู่ลังกาต่ออีกสักสองสามเดือน ตั๋วบินขากลับผมคงไม่ต้องใช้แล้ว เพราะถึงเวลานั้นคงเหาะกลับบ้านได้เอง

รอดูผมเหาะกลับบ้านให้ดีนะครับ อิอิ