กรุ่นกลาโหม หลัง ‘บิ๊กทิน’ พ้นฮันนีมูน การเมืองรุกคืบกองทัพ ทุบหม้อข้าวทหาร จับตา ‘บิ๊กเล็ก’ ขยับ

บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล กลางปีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว หลังการลงนามท้ายคำสั่งร่วมกันของบอร์ด 6 เสือกลาโหม เมื่อ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

อันเป็นวันที่ ผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าอวยพรวันเกิดล่วงหน้า นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กันพร้อมหน้า

แต่ก็ต้องรอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลับจากเยอรมนี 14 มีนาคม เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ

โดยจะเป็นโผแรกที่จะสะท้อนอุณหภูมิในกระทรวงกลาโหมยุคบิ๊กทิน รมว.กลาโหมพลเรือนคนแรก ที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ควบกลาโหม ที่เริ่มคุกรุ่นขึ้น หลังนั่งเก้าอี้สนามไชย 1 มา 6 เดือนแล้ว

เพราะแม้นายสุทินจะยืนยันว่า ตนเองสามารถแต่งตั้งทีมนายทหารฝ่ายเสนาธิการ รมว.กลาโหม ได้ถึง 80% ก็ตาม มีเพียง 20% เท่านั้น ที่ยังต้องรอโยกย้ายตุลาคม เนื่องจากไม่มีตำแหน่งรองรับ ตนเองจึงเห็นใจ

แต่ก็ถือว่า รมว.กลาโหม ไม่อาจใช้อำนาจของตนเองได้อย่างเต็มร้อย

หลังเกิดกระแสข่าวว่า นายสุทินมีปัญหาเรื่องการจัดโผโยกย้ายทหารกลางปี กับปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ในนามบอร์ด 6 เสือกลาโหม เพราะขอปรับเปลี่ยนทีมฝ่ายเสนาธิการในสำนักงานรัฐมนตรีไม่ได้หลายตำแหน่ง แม้จะเป็นโควต้า รมว.กลาโหม

ทำให้นายทหารที่แต่งตั้งไว้ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ทั้งเด็กบิ๊กตู่ และเด็กบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงอยู่หลายคน โดยที่นายสุทินก็ไม่ได้ใช้งาน เพราะมีทีมงานของตนเองที่จัดใหม่ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอยู่แล้ว

แต่บิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ลูกเลิฟบิ๊กป้อม คอยดูแลนายทหารสายบ้านป่ารอยต่อฯ ในกลาโหม ดึงบางคนมาช่วยงาน หรือมอบหมายงานให้

“ที่เหลืออีก 20% หาตำแหน่งที่จะหมุนเขาไปไม่ได้ เราก็เห็นใจเขา เราเป็นข้าราชการมาก่อน ก็เข้าใจ เพราะโยกย้ายรอบเมษายน ตำแหน่งว่างน้อย จึงคาดว่าโยกย้ายตุลาคมนี้ จะมีตำแหน่งหมุนมากกว่า” นายสุทินสยบข่าวความขัดแย้ง

อีกทั้งนายสุทินก็ไม่เคยคิดว่าใครเป็นคนของใคร อำนาจเก่า หรืออำนาจใหม่ เพราะถ้าคิดแบบนี้ จะทำงานไม่ได้เลย เพราะทั้งกระทรวงเป็นอำนาจเก่าตั้งไว้ทั้งนั้น ตนเองเพิ่งมา ยังไม่เคยตั้งใครเลย

นายสุทินเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการ 6 เสือกลาโหมไปเมื่อ 4 มีนาคม ซึ่งทุกอย่างราบรื่นมาก ใช้เวลาพิจารณาแค่ไม่ถึง 20 นาที เพราะใช้หลักแบ่งความรับผิดชอบ และไว้วางใจกัน และได้หารือนอกรอบกันก่อน ยึดประโยชน์องค์กร และความเป็นธรรมเป็นที่ตั้ง

เพราะถึงอย่างไร นายสุทินก็ต้องรอมชอมกับ ผบ.เหล่าทัพ ในการจัดโผ ที่จะไม่เข้าไปแทรกแซง โดยเฉพาะกับปลัดกลาโหม ที่ถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของรัฐมนตรี

เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วระหว่างขั้วชินวัตร พรรคเพื่อไทย กับขั้วอนุรักษนิยม และพี่น้อง 3 ป. ที่มีกองทัพเป็นแบ๊กอัพ

อาจเรียกได้ว่า นายสุทินก็ต้องอยู่ให้เป็นท่ามกลางขุนทหาร และต้องบริหารจัดการไม่ให้ถูกมองว่าอ่อนข้อมากเกินไป แต่ก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเป็นสำคัญ

จึงไม่แปลกที่ในโอกาสที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพพร้อมหน้า ทั้ง พล.อ.สนิธชนก ปลัดกลาโหม พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. อวยพรวันเกิด 9 มีนาคม อายุครบ 63 ปี ของนายสุทินนั้น นายสุทินจะอ้อนว่า เป็นครั้งแรกที่จัดงานวันเกิด และถือว่าเป็นพรสำคัญที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพมาอวยพร เป็นวันเกิดที่เป็นความพิเศษในชีวิต

โดยได้ขอบคุณในพรและกำลังใจที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพมอบให้ ที่จะเป็นการผลักดันในการพัฒนา “บ้าน” พัฒนากระทรวงกลาโหมของเรา เหล่าทัพ ให้ก้าวหน้า ได้รับการยอมรับ และให้พวกเราทุกคนมีความก้าวหน้าและมีความสุขในบ้านหลังนี้ ด้วยความที่ทุกคนรักบ้าน รักองค์กรของเรา ก็ทำให้มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ เพื่อทำให้กระทรวงของเรามีความก้าวหน้า มีความแข็งแกร่งในการปกป้องประเทศชาติ ปกป้องประชาชน มีศักดิ์มีศรี

โดยนายสุทินได้ใช้คำว่า กระทรวงกลาโหมของเรา-บ้านหลังนี้ของเรา เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ

แต่กระนั้น กระแสข่าวการปรับ ครม.เปลี่ยน รมว.กลาโหม ก็ยังมีมาตลอด โดยเฉพาะในกระทรวงกลาโหมเอง ที่มีเสียงพูดว่า นายสุทินจะได้มีโอกาสจัดโผโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่จะไม่ได้จัดโผใหญ่ปลายปี เพราะจะมี รมว.กลาโหมตัวจริงมาจัด

โดยเฉพาะเมื่อนายสุทินเปิดเผยเองว่าได้ติดต่อขอเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่นายทักษิณกลับไม่ได้ให้เข้าพบ โดยให้ไปทำงาน เพราะเกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ที่ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวลือการปรับเปลี่ยน รมว.กลาโหม

แม้ว่าจะมีข่าววงในระบุว่า นายสุทินได้โทรศัพท์คุยกับนายทักษิณแล้ว โดยเฉพาะการได้ “สัญญาณบวก” ให้ทำหน้าที่ รมว.กลาโหมคุมกองทัพต่อไป จนทำให้นายสุทินสบายใจว่า จะไม่โดนปรับออกก็ตาม

ทั้งกระแสข่าวการเปลี่ยนตัว รมว.คลัง และกระแสข่าวนายเศรษฐาจะมาควบ รมว.กลาโหมเอง รวมถึงกระแสข่าวเรื่องการลาออกของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง

รวมถึงความเคลื่อนไหวของบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม ที่นานๆ จะพูดสักครั้ง แต่ครั้งนี้ การพูดในเวทีประชุมวิชาการของ ทบ. ที่ พล.อ.เจริญชัย และบิ๊กๆ ทบ.มาร่วมงาน จนถึงระดับ ผบ.ร้อย นั้น ซึ่งคงทำให้นายสุทินคงต้องเงี่ยหูฟังด้วย

เพราะนอกจากจะมีการสะท้อนความรู้สึกของนายทหารในกองทัพปัจจุบัน ที่เริ่มมีเสียงบ่นว่ากองทัพยอมฝ่ายการเมืองมากเกินไป “น้องๆ รู้สึกว่าทหารโดนรุก ทำไมผู้บังคับบัญชาถึงยอม” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

“ขอให้มั่นใจผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติตามนโยบาย เราดูเหตุผลและความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าพอเขาสั่งมาก็ทำตามหมด ขอให้เชื่อใจ” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

ที่ก็ทำให้ทั้งนายเศรษฐา และนายสุทิน ต้องฟัง เพราะที่ผ่านมา นายเศรษฐามักจะขอความร่วมมือจากผู้บัญชาการเหล่าทัพในหลายเรื่อง โดยเฉพาะธุรกิจกองทัพ สนามกอล์ฟ สนามกีฬา สนามบิน กองบิน และที่ดินทหาร จนเริ่มเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในตัวผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ยอมนายกรัฐมนตรีและนายสุทินมากเกินไป

จนปัจจุบันรุกคืบที่จะเข้ามาแทรกแซง มาทุบหม้อข้าวหม้อแกงของทหาร เช่น สถานีโทรทัศน์ ททบ.5 และสถานีวิทยุ

รวมทั้งแหล่งสวัสดิการของหน่วยทหาร ทั้งเชิงภายในและเชิงธุรกิจ

พล.อ.ณัฐพลระบุว่า ต่อไปก็จะมีการรุกเข้าไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่สนามกอล์ฟของทหารอากาศ โรงไฟฟ้าของทหารเรือ และต่อไปก็จะเป็นสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 เพราะต่อไปนี้การที่กองทัพจะอ้างเหตุผลว่าเป็นข้อมูลด้านความมั่นคง เป็นข้อมูลลับ คงไม่ได้อีกแล้ว ยิ่งเรื่องสนามกอล์ฟ จะมาบอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคง ก็ไม่ได้

ทั้งนี้เพราะหากผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องการรักษาความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี กับรัฐบาล จึงยอมให้ทุกอย่าง

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกำลังพลในกองทัพก็จะมองว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพยอมฝ่ายการเมืองมากเกินไป

บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นที่ว่าเพราะต้องการจะผ่านโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ ผบ.เหล่าทัพจึงต้องยอมนายเศรษฐา และนายสุทิน หรือไม่

โดยเฉพาะกองทัพเรือ ที่ยอมทั้งเรื่องการไฟฟ้าที่สัตหีบ การเฉือนที่ดินให้ ก็หวังว่าโครงการเรือดำน้ำ และเรือฟริเกตลำใหม่ 17,000 ล้าน จะผ่านฉลุย แต่กลับถูกตีตกไปในชั้นของกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แถมทั้งกองทัพเรือยังไม่เคยได้รับสัญญาณมาก่อนว่ารัฐบาลจะไม่ให้ต่อเรือฟริเกตลำใหม่

ทั้งยังคว่ำงบประมาณในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) อีก 3,000 ล้าน

งานนี้ ทร.ในยุค พล.ร.อ.อะดุง โดนตัดไปถึง 20,000 ล้าน พร้อมกับกระแสข่าวในกองทัพเรือที่ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลต้องการเพิ่มงบฯ กลาง เพื่อเอาไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่

จนทำให้ถูกจับตามองว่าเป็นเพราะนายเศรษฐา หรือนายสุทินอาจจะไม่ค่อยสนิทสนมกับ พล.ร.อ.อะดุง หรือไม่

หรืออาจเป็นเพราะสไตล์การทำงาน การพูดจาของ พล.ร.อ.อะดุง อาจไม่เข้าตาฝ่ายการเมือง หรือการให้ความสำคัญกับกองทัพเรือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกองทัพไทย กองทัพบก และกองทัพอากาศ

 

ขณะที่กองทัพอากาศ ก็มีแผนในการจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ในงบประมาณปี 2568 ที่กำลังพิจารณาจัดทำกันในเวลานี้ จนถูกมองว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทัพอากาศก็ต้องยอมนายกฯ หรือไม่

โดยเฉพาะการยอมเฉือนพื้นที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ให้สร้างถนนเพื่อลดปัญหาการจราจรในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนายเศรษฐาก็มีเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนที่กองทัพไม่สามารถปฏิเสธได้มาเป็นเงื่อนไข

ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นผลงานของนายเศรษฐาด้วยที่สามารถเจรจากับกองทัพให้ยินยอมได้ในหลายโครงการ

โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมานายเศรษฐาก็ประสานงานพูดคุยใกล้ชิดกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเมื่อมีการขอความร่วมมือ หรือขอในสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการดำเนินการตามนโยบาย นายเศรษฐาก็จะชดเชยให้ตามที่กองทัพขอ

รวมถึงการจะจัดสรรงบประมาณกลางมาสร้างหรือซ่อมบ้านพักกำลังพลให้ทหารทั้ง 3 เหล่าทัพเพื่อเป็นการชดเชย

 

แต่ที่ถูกจับตามองอีกประการหนึ่งในส่วนของ พล.อ.ณัฐพล คือการระบุว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางหรือนโยบายของนายสุทินในการจูงใจให้คนสมัครใจเป็นพลทหารด้วยการเลี้ยงอาหารทั้ง 3 มื้อแก่พลทหาร โดยไม่ต้องหักจากเงินเดือน

แม้จะเป็นเรื่องดี แต่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณให้กับกองทัพถึง 3,700 ล้าน แม้ว่าปีงบประมาณ 2567 อาจจะได้เงินจากงบฯ กลาง แต่ในปีต่อไปก็ต้องตั้งงบประมาณที่จะกลายเป็นภาระของกองทัพ

รวมถึงการคัดค้านการเพิ่มเงินบำรุงให้กับทหารผ่านศึกที่จะต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก

แม้ว่า พล.อ.ณัฐพล อาจจะเคยเห็นแย้งกับนายสุทิน ในการหารือกันส่วนตัว หรือประชุม แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกต่อหน้าทหาร และพูดในเวทีที่ออกสื่อ จนทำให้ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ณัฐพลและนายสุทิน ถูกจับตามองอีกครั้งหนึ่ง

เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ณัฐพลก็เคยมีชื่อเป็นตัวเต็ง รมว.กลาโหม ที่เสนอโดยฝ่ายอนุรักษนิยม ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลในฐานะที่เป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ แต่ในที่สุดก็ต้องมาเป็นแค่เลขานุการ รมว.กลาโหมไปพลางก่อน เพราะหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีและต้องโยกนายสุทินไปลงตำแหน่งอื่น ชื่อของ พล.อ.ณัฐพล ก็ยังอยู่ในแคนดิเดตลำดับต้นๆ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่เสมือน รมว.กลาโหมเงา ให้นายสุทินมาแล้ว 6 เดือน เพราะในแง่ของความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างนายสุทิน กับ พล.อ.ณัฐพล แต่อาจจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องแนวนโยบายและความเป็นไปได้

เพราะนายสุทินเป็นพลเรือนก็จะมองในแง่ของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งเป็นนักการเมือง ก็อาจจะมีเรื่องประชานิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล เป็นทหารเก่า ก็อาจจะมองอีกมุมหนึ่ง

แต่ก็ทำให้กระทรวงกลาโหมอุณหภูมิเริ่มกรุ่นขึ้นมา พร้อมๆ กับความร้อนแรงในทางการเมือง หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร ออกมาเคลื่อนไหว และกระแสการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี