“ปิ๊กบ้านเชียงใหม่” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

“อํานาจมีไว้ให้แบ่งปัน” ล้อเริ่มหมุนแล้ว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย หลังออกจากโรงพยาบาลตำรวจ กลับไปเป็นเสือซุ่มอยู่ถ้ำ “จันทร์ส่องหล้า” 17 ปีแห่งความหลัง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ภายใต้เงื่อนไขกรมราชทัณฑ์ ครบเครื่องทั้ง 8 ประการ

1. ต้องอยู่ภายในบ้านพัก ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ 2.ห้ามออกจากท้องที่ที่อยู่อาศัย โดยไม่ได้รับอนุญาต 3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย 4. ต้องประกอบอาชีพสุจริต 5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา 6. ห้ามพกพาอาวุธ 7. ห้ามติดต่อกับนักโทษคนอื่น 8. รายงานตัวทุกเดือน

วันที่ 14 มีนาคม เสือมีโปรแกรมออกจากถ้ำ “ทักษิณ” ใช้เงื่อนไขข้อที่ 2 ออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย โดยได้รับอนุญาต สัญจรไพร “ปิ๊กบ้านเชียงใหม่” มีกำหนดการเอาฤกษ์เอาชัย ออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่เช้าตรู่ ไปกราบสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ จากนั้นขึ้นเจ็ตส่วนตัว ตีกรรเชียงสู่ที่หมายสำคัญ สนามบินเมืองเหนือ แวะไปรับประทานอาหารเที่ยงกับหมู่เฮาที่ร้านเจี่ยท้งเฮ้ง สาขาฟ้าฮ่าม แล้วเข้าพักที่บ้านสนามกอล์ฟซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ อ.แม่ริม

วันที่ 15 มีนาคม ไหว้พระที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ รองท้องที่ร้านข้าวซอยเสมอใจ มุ่งสู่ที่หมายสำคัญ ไหว้ฮวงซุ้ย หรือสุสานฝังศพบิดา-มารดา ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ติดอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน เสร็จพิธีมาทอดน่องท่องเที่ยวเยี่ยมชมระลึกความหลังที่ตลาดวโรรส แล้วกลับที่พักสนามกอล์ฟซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ วันที่ 16 มีนาคม นัดจิบกาแฟที่ร้านดัง ไปไนท์ซาฟารี รับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านลำดีตี้ขัวแดง พร้อมหน้าญาติๆ คนสนิท และอาจจะมีนักการเมืองร่วมสมทบ อิ่มท้อง คุยกันพอหอมปากหอมคอ “ทักษิณ” บินกลับกรุงเทพฯ เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า

ที่เป็นประเด็นคือวันที่ 15-17 มีนาคม “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บังเอิญเวลาป๊ะกันพอดี มีกำหนดการบินขึ้นเหนือตรวจราชการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และติดตามปัญหาไฟป่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก่อนจะมีประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.พะเยา ในวันที่ 18-19 มีนาคม ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าอดีตผู้นำ “ทักษิณ” กับ ผู้นำ “เศรษฐา” จะมีโอกาสพบปะสนทนา-วิสาสะ กันอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ประการใด

เพราะปกติตามประเพณีของพี่น้องชาวจีนทุกย่านและตระกูลแซ่ การไหว้บรรพบุรุษ หรือเช็งเม้ง จะไหว้ตรงวัน หรือก่อนล่วงหน้าไม่เกิน 7 วัน เช็งเม้งปีนี้ ตรงกับวันที่ 4 เมษายน แต่ “เสี่ยแม้ว” ไปทำพิธีไหว้บรรพบุรุษก่อนล่วงหน้าหลายวัน ซึ่งไม่มีใครฟันธงเหมือนกันว่า ขออนุญาตกรมราชทัณฑ์ไว้ล่วงหน้า และได้รับไฟเขียวก่อน ยังไงหรือไม่

 

ทีนี้มาโฟกัส “ชินวัตร” ตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งของ จ.เชียงใหม่ “ทักษิณ” เป็นบุตรของ “นายเลิศ” กับ “นางยินดี” นามสกุลเดิม ระมิงวงศ์ เป็นคนสันทราย มีพี่น้องที่คลานตามหลังมาด้วยกันทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย 1. “นางเยาวลักษณ์ ชินวัตร” ถึงแก่กรรม 2. “นายทักษิณ ชินวัตร” สมรสกับ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” 3. “นางเยาวเรศ ชินวัตร” สมรสกับ “นายวีระชัย วงศ์นภาจันทร์” 4. “นายอุดร ชินวัตร” ถึงแก่กรรม 5. “นางเยาวภา ชินวัตร” สมรสกับ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” 6. “นายพายัพ ชินวัตร” สมรสกับ “นางพอฤทัย จันทรพันธ์” 7. “นางมณฑาทิพย์ ชินวัตร” สมรสกับ “นพ.สมชาย โกวิทเจริญกุล” 8. “นางทัศนีย์ ชินวัตร” ถึงแก่กรรม และ 9. น้องนุชสุดท้อง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สมรสกับ “นายอนุสรณ์ อมรฉัตร”

9 พี่น้อง ถึงแก่กรรมแล้ว 3 คน เหลือ 6 คน แต่ตระกูล “ชินวัตร” ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง มีทายาทเจเนอเรชั่นรุ่นต่อมาอีกหลายคน ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายยุทธจักร

สำหรับสมรภูมิแห่งวงการเมือง ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ เพราะ “ตระกูลชินวัตร” มีพี่น้องดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี หมายเลข 1 ของประเทศไทยมาแล้ว 2 คน คือ “ทักษิณ ชินวัตร” คนที่ 23 กับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คนที่ 28 และยังมี “เขย” คือ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” สามีของ “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ขึ้นสู่ทำเนียบนามนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 อีกหนึ่งราย

และยังมีจ่อคอหอย ติดลูกกระเดือกอยู่อีกคน ในอีกเจเนอเรชั่นต่อไป ในไม่ช้าคือ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอยู่

“ทักษิณ ชินวัตร” เข้าสู่สนามการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ.2541 และชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2544 เป็นนายกรัฐมนตรีถึงปี 2549 ถูกปฏิวัติรัฐประหารโค่นอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ระหว่างเดินทางไปประชุมที่สหรัฐเมริกา

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย พร้อมเว้นวรรคกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน คนละ 5 ปี แต่ศึกเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคนอมินี ไทยรักไทย ที่ส่งมวยรองบ่อนแถวสอง ลงสมัคร ในนามพรรคพลังประชาชน กลับชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 233 ที่นั่ง จาก ส.ส.เต็มสภา 480 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาล ดัน “นายสมัคร สุนทรเวช” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 25

และแค่ประเดี๋ยวประด๋าวในปี 2551 พรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคซ้ำอีกครั้ง ฐานเป็นตัวแทน หรือนอมินีพรรคไทยรักไทย โดยเข้าไปมีบทบาททางการเมืองแทนพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบไปก่อนหน้านั้น

จากพรรคไทยรักไทย ถูกยุบเปลี่ยนมาเป็นพลังประชาชน เมื่อพลังประชาชนถูกจับ จึงเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” และชนะศึกเลือกตั้งมาตลอด การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 เพื่อไทยนำทัพโดย “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ กวาดไปมากถึง 265 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรคมากกว่า 100 ที่นั่ง สามารถฟอร์มรัฐบาลพรรคเดียวได้สบาย

แต่ในเดือนพฤษภาคมปี 2557 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นำคณะนายทหารยึดอำนาจรัฐประหารโค่นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

หลังอบตู้เย็น แช่ช่องฟรีซมาหลายปี เลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 เพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 136 ที่นั่ง แต่ไม่ได้เป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาล ทว่า การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 เข้าป้ายมาเป็นที่ 2 แต่สลับฟันปลามาเป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

ฉายภาพให้เห็นว่า ตระกูลชินวัตร ที่มีพี่ใหญ่ ชื่อทักษิณ นำทัพ ผูกขาด ยึดครองหัวหาดมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว หากนับจากจุดเริ่มต้นพรรคไทยรักไทย เป็นต้นมา มีนายกรัฐมนตรี ทั้งคนในตระกูลและนอมินี มากถึง 5 คนเข้าไปแล้ว