เสียงเตือนจาก ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ อย่าไปบังคับใคร ให้ ‘รัก-นับถือ’ อย่างเรา

หมายเหตุ “อุทัย พิมพ์ใจชน” อดีตประธานรัฐสภา สนทนากับ “ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข” ในโครงการสัมภาษณ์พิเศษ “มองอนาคตจากอดีต” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ซึ่งมีคำถาม-คำตอบบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้

: คุณอุทัยสู้กับ “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ตั้งหลายปี แล้วรู้สึกอย่างไร หรือมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร ที่การเลือกตั้งสมัยนี้ “บ้านใหญ่” ประสบความพ่ายแพ้ในแถบภาคตะวันออก?

ผมถึงบอกว่าผู้แทนราษฎรคือเงาสะท้อนของประชาชน ตอนที่ผมสู้กับบ้านใหญ่ คุณอย่าลืมว่าชลบุรีมี 3 ลักษณะของประชาชน

พวกหนึ่งเป็นพวกนักเศรษฐกิจ มีโรงงาน มีอะไรเยอะแยะ ราษฎรอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกมีความรู้ เป็นครูบาอาจารย์ พวกมหาวิทยาลัย แพทย์ พยาบาล พวกที่สามเป็นพวกผู้มีอิทธิพล

เพราะฉะนั้น เวลาเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมืองชลสมัยก่อน มันก็จะออกมาสามกลุ่ม สมัยแรกที่ผมเป็น พล.ต.ศิริ (สิริโยธิน) ได้ นายอุทัยได้ เสี่ยโยชน์ (ประโยชน์ เนื่องจำนงค์) ได้

อันนี้มันชัดเลย นายอุทัยมาจากพวกการศึกษาเชียร์ ศิริมาจากพวกเศรษฐกิจ เพราะท่านเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และเป็นตาแก่โรงเหล้า เสี่ยโยชน์ก็บ้านใหญ่ทั้งหลายช่วย นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนเมืองชลแบ่งเป็นสามพวกอย่างนี้จริง

เมืองนักเลง เมืองเศรษฐกิจ เมืองคนมีความรู้ มันก็ได้ผู้แทนฯ แบบนั้นเข้ามา

(หมายเหตุมติชนทีวี – อุทัยเป็น ส.ส.ชลบุรี สมัยแรก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2512 ส่วน ส.ส.เมืองชล อีกสองคน คือ “ประสงค์ เนื่องจำนงค์” – พี่ชายของ “ประโยชน์ เนื่องจำนงค์” ซึ่งจะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในปี 2522 และ 2526 – จากพรรคอิสระ และ “พล.ต.ศิริ สิริโยธิน” พรรคสหประชาไทย)

แต่ปัจจุบัน ที่คุณถามว่าทำไมถึงได้ (ส.ส.) โนเนมเข้ามาหมด พวกบ้านใหญ่ตก คุณอย่าลืมว่าเมืองชลเดี๋ยวนี้มันเจริญขนาดไหน

มีนิคมอุตสาหกรรมเยอะแยะ คนต่างพื้นที่ มีความรู้ มีการศึกษาดี ไปเป็นเถ้าแก่โรงงาน คนมีความรู้ไปเป็นคนทำงานในบริษัท มหาวิทยาลัยก็เริ่มขยายมากขึ้น โรงพยาบาลก็ใหญ่ขึ้น โรงเรียนมากขึ้น

คนมีความรู้มากกว่าพวกนักเลง พวกบ้านใหญ่ถึงไม่มีท่า

แล้วถามว่าที่คนรุ่นใหม่ได้มาคราวนี้ สังเกตไหมล่ะว่าชนะจังหวัดใด มันชนะไม่ทุกจังหวัด จังหวัดที่ชนะก็ง่ายๆ จังหวัดที่มีความเจริญเข้าไปอย่างรวดเร็วนั่นแหละ มันก็รอบๆ กรุงเทพฯ เช่น ปากน้ำ ปทุมฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรสาคร เชียงใหม่ จังหวัดที่มีมหาวิทยาลัย

แสดงว่าราษฎรจังหวัดไหนที่มีความรู้ เขาก็เริ่มไม่ยอมอยู่ใต้ผู้มีอิทธิพลแล้ว ผู้มีอิทธิพลจึงมีพลังน้อยลงไป

: คุณอุทัยมองว่าการเมืองเราจะพัฒนาไปอย่างไร คือเหมือนมันขัดแย้งรุนแรงมาก ระหว่าง “ใหม่แบบก้าวไกล” กับ “เก่าแบบดั้งเดิม” บ้านใหญ่อะไรต่างๆ

พูดก็พูดเถอะ มันไปแบบใหม่ มันจะไม่อยู่แบบเก่า ยอมรับเถอะ

เอาง่ายๆ เรื่องดนตรี สมัยก่อนใครมาร้องรำทำเพลง รำสวย เราก็ดูกันเพลิน แต่ตอนหลัง พอรำสวย บอก โอ๊ย ไม่เข้าท่า ดูแป๊บเดียวลุกแล้ว ต้องมีดิ้นเดิ้นกระโดดกระเดิดเข้ามาปน แล้วมันก็ไปพับๆๆๆ ทั่วประเทศ

ฉะนั้น เรื่องกระจายอำนาจมันเริ่มเห็นชัดแล้วว่าให้ประโยชน์กับราษฎรมาก อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ ประชาชนปกครองตัวเอง เขาก็เริ่มรู้แล้ว บ้านเมืองเราเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนเพราะเราได้ อบจ.ดีมา อบต.ดีมา เขาก็เริ่มพัฒนาตัวเองขึ้นมาเยอะ ยอมรับการปกครองแบบนี้มากขึ้น

ถ้าตอบคำถามเมื่อกี๊ ระหว่างเก่ากับใหม่มันจะไปอย่างไร สู้กันอยู่ มันไปทางใหม่ เพราะฉะนั้น คนอย่างรุ่นเราทำใจเถอะครับ อย่าไปติดยึด

ไหนๆ พูดมาถึงตรงนี้แล้ว ผมมีอุทาหรณ์ให้เป็นข้อคิดเรื่องหนึ่ง ผมเคยเข้าเมืองประเทศอื่นเขานี่นะ เขาให้กรอกข้อความอยู่อันหนึ่ง นับถือศาสนาอะไร?

ไอ้เราก็เขียนว่าพุทธ ไอ้ข้างๆ เรามันขีด “ไม่มีนับถือศาสนา” ขีดๆ (แบบนี้) หลายคน มันก็เข้าเมืองกับเราได้ แล้วก็ไม่มีเรื่อง มันก็อยู่เมืองนั้นได้ เมืองที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย มันก็อยู่กับพวกเขาได้

อันนี้ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า เราจะรักอะไร นับถืออะไร ก็นับถือไปเถอะ จะรักอะไร ก็รักไปเถอะ แต่อย่าไปบังคับให้เขารักอย่างเรา อย่าไปบังคับให้เขานับถืออย่างเรา ต่างคนต่างอยู่ในเรื่องความนับถือเรื่องความรัก อย่าไปละเมิดกันเท่านั้นแหละ

ปล่อยเขา เขาจะนับถืออะไร อย่าไปเดือดร้อน ทุกวันนี้ เราไปเดือดร้อนว่าคนอื่นไม่นับถืออย่างเรา กูจะเอาให้ตาย คุณเอาไปคิดให้ดี กำลังถึงจุดนั้นแล้วนะ

ขอร้องได้ไหม เขาจะรักใคร-ไม่รักใคร ปล่อยเขาเถอะ แล้วคนรักใคร-ไม่รักใคร คนอื่นไม่รักอย่างเรา ก็ปล่อยเขาเถอะ แต่ถ้าเขามาระรานเรา ก็กฎหมายตั้งแต่ปลายเล็บยันปลายผมมีอยู่แล้ว คุณเลือกใช้เอาก็แล้วกัน มันก็แค่นั้น

: เก่ากับใหม่ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้?

มันต้องอยู่ด้วยกันอยู่แล้วแหละ ถ้าคิดอย่างที่ผมบอก เขาจะชอบอย่างเขาก็ปล่อยเขาไป อย่างเราชอบรำไทย แล้วอยู่ๆ ไอ้บ้านข้างๆ เอาคอนเสิร์ตมาเล่น มาดิ้นกัน ไอ้เราจะไปบังคับ มึงหยุด! ไม่ใช่

แต่มันมีกฎหมายว่า ถ้าก่อเสียงรำคาญ เราไปแจ้งความหรือจัดการได้ ก็ว่าไปตามตรงนั้น อย่าให้เขาหยุด เพราะเขาชอบเขาอย่างนั้น แต่อย่าให้เขามารบกวนเรา มันก็อยู่กันได้ ลองคิดดูว่าจริงไหม

ไหนๆ คุณถามมา ผมเลิกการเมืองแล้วนะ มีคนถามผมว่า “คุณอุทัย การเมืองเลิกแล้วเหรอ?” (ผม) บอก “เลิก” (ฝ่ายนั้นถามต่อ) “ทำไมเลิก?” (ผม) ก็บอก “อายุมากแล้ว” ตอนนั้นผมอายุ 70 กว่า ผมเลิกมาสิบกว่าปีแล้ว (ฝ่ายนั้นตั้งข้อสังเกตเพิ่ม) “คนอายุมากกว่าคุณอุทัยเขายังเล่นอยู่”

พูดก็ได้ “ท่านอานันท์ ปันยารชุน” ถามผม ผมบอกท่าน คนพวกนั้นติดอยู่สองอย่าง ท่านถาม “ติดอะไร?” ผมบอก อันแรก “ติดสรรเสริญ” อันที่สอง “ติดลาภยศผลประโยชน์” พวกบ้านใหญ่ทั้งหลาย พวกเคยเป็นใหญ่ ลืมอายุตัวเอง

บางคนแค่จะขึ้นไปนั่งเป็นประธานชั่วคราว ยังไม่ไหว ก็ยังอุตส่าห์จะเข้าไป เข้าไปทำไม? ถ้าไม่ติดสรรเสริญหรือไม่ติดลาภยศ ถูกไหมครับ?

เราต้องปล่อยคนรุ่นใหม่เขา