ต้อนรับสู่ยุค ‘โลกเดือด’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Forest fires approaching the village of Pefki on Evia island, Greece, in 2021. Photograph: Angelos Tzortzinis/AFP/Getty Images

เดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้รับการบันทึกเป็นสถิติใหม่ว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในสมัยปัจจุบัน ส่วนปี 2566 เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา อุณหภูมิร้อนระอุได้ทำสถิติใหม่สุด ดังนั้น การกล่าวคำว่า “ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ยุคโลกเดือด” คงไม่ผิดเพี้ยนจากสภาพความเป็นจริง

ศาสตราจารย์เซเลสต์ เซาโล เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก อธิบายถึงสาเหตุอากาศร้อนจัด อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทั่วโลกว่า มาจากชาวโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก และปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกปัจจุบันนี้มีความเข้มข้นสูงสุดเมื่อนำไปเทียบเคียงย้อนอดีตไปถึงห้วง 2 ล้านปีก่อน

นักวิทยาศาสตร์มีข้อสรุปมานานแล้วว่า ชั้นบรรยากาศโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นมากขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอุณหภูมิโลกสูงและน้ำทะเลเป็นกรด

กล่าวสำหรับอุณหภูมิเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขยับสูงขึ้น 1.77 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หรือเป็นยุคที่คนยังไม่นำถ่านหิน ก๊าซหรือน้ำมันมาใช้เป็นเชื้อเพลิง

องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกจัดทำรายงานสรุปปรากฏการณ์ “ร้อนสุดสุด” ของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกให้เห็นจะจะว่า โลกเดือดไปแค่ไหนแล้ว

 

เริ่มกันที่ทวีปแอฟริกา กล่าวได้ว่าทุกประเทศในทวีปนี้เผชิญกับร้อนสุดขีดตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ทั้งกลางวันและกลางคืน อุณหภูมิสูงขึ้นทำลายสถิติเดิมๆ

หากนำค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของประเทศต่างๆ มาไล่ดู พบว่า บอตสวานา นามิเบีย โมซัมบิก แอฟริกาใต้ แซมเบีย และซิมบับเว สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4-5 องศาเซลเซียส

ทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบอาเซียนรวมทั้งประเทศไทย อุณหภูมิเดือนกุมภาพันธ์ทะลุไปถึง 30องศาเซลเซียส

เฉพาะเมืองสาละวัน ฝั่งตอนใต้ของลาวทำสถิติกระฉูด 38.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์

พื้นที่ต่างๆ ในเอเชีย อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงกลางคืน ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ในภาคตะวันออกของจีน ญี่ปุ่น นอกจากเพิ่มสูงแล้วยังทำลายสถิติเดิม

ทวีปออสเตรเลีย เดือนกุมภาพันธุ์เพียงเดือนเดียวอุณหภูมิในเมืองเพิร์ธ ทะลุ 40 องศาเซลเซียส ถึง 7 ครั้ง

เมืองคาร์นาร์วอน วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุ่งไปถึง 49.9 องศาเซลเซียส เป็นสถิติใหม่ของเมืองนี้ และนับเป็นเมืองที่อุณหภูมิสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของออสเตรเลีย

ที่สถานีวัดอากาศ “อีมู ครีก” อุณหภูมิวัดได้ 49.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และระหว่าง 17-20 กุมภาพันธ์ มีค่าเฉลี่ย 48 องศาเซลเซียส นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบริเวณจุดนี้

 

ไปที่ทวีปยุโรป ยกเว้นยุโรปตอนเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปนี้ร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติ แต่บางส่วนบริเวณยุโรปตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ สูงขึ้น 4-6 องศาเซลเซียส

ปกติแล้ว เดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงปลายฤดูหนาวของยุโรป แต่ปรากฏว่า ในห้วงกลางวัน อุณหภูมิร้อนขึ้นมากกว่าปกติ อย่างโปแลนด์ตอนใต้และแถบบอลข่านตอนเหนือ อุณหภูมิอยู่ที่ 15-20 องศาเซลเซียส

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทางตอนใต้ของโรมาเนีย อุณหภูมิสูงสุด 20 องศาเซลเซียส

ทวีปอเมริกาเหนือ สำนักงานอากาศแห่งชาติของสหรัฐรายงานไปยังองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกว่าสถานีตรวจวัดอากาศ 78 แห่งทั่วประเทศ ตรวจพบอุณหภูมิในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ทำสถิติใหม่

วันที่ 27กุมภาพันธ์ 70 สถานี ตรวจวัดอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำสถิติใหม่ รวมทั้งเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส อุณหภูมิอยู่ที่ 21.1 องศาเซลเซียส

ทวีปอเมริกาใต้ อุณหภูมิที่นั่นสูงมากจนถึงขั้นเกิดภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั้งในบราซิล ชิลี โบลิเวีย เวเนซุเอลา

 

คราวนี้กลับไปดูสถิติเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 จะเห็นว่าอุณหภูมิของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุด 1.21 องศาเซลเซียส ซึ่งในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบสถิติเก่าแล้วก็ยกให้เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นเดือนที่มีอากาศร้อนสุดสุดในรอบ 137 ปี

แต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ปรากฏว่าของปีนี้อุณหภูมิทะลุไปที่ 1.77 องศาเซลเซียส สูงกว่าปี 2559 ถึง 0.56 องศาเซลเซียส

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า อุณหภูมิเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 โค่นสถิติเก่าปี 2559

ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญสภาวะภูมิอากาศเห็นว่านี่เป็นตัวเลขน่ากังวลอย่างมากเพราะเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือดอย่างเต็มรูปแบบและไม่มีสัญญาณอื่นใดๆ ที่บอกว่าในไม่ช้าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

เมื่อ 9 ปีก่อน บรรดาผู้นำทั่วโลกราวๆ 200 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมว่าด้วยโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ตกลงร่วมกันว่าจะควบคุมอุณหภูมิโลกอย่าให้ทะลุเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

วันเวลานี้อุณหภูมิโลกผ่านจุดหมุดหมายที่ตกลงกันไว้และเดินหน้าเข้าสู่โหมด “โลกเดือด” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผลลัพธ์จาก “โลกเดือด” ที่กำลังป่วนผู้คนทั่วโลก นั่นคือ ไฟป่า

พื้นที่เกิดไฟป่ารุนแรงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลียฝั่งตะวันตก เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้

รัฐบาลชีลีระบุไฟป่าในครั้งนั้นเป็นภัยพิบัติรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 และประกาศไว้ทุกข์ให้เหยื่อผู้เสียชีวิตจำนวน 132 คนเป็นเวลา 2 วัน พื้นที่ไฟป่าเผาผลาญรวมๆ แล้วกว่า 37,500 ไร่

ปรากฏการณ์โลกเดือด ยังส่งผลต่อน้ำทะเลร้อนขึ้น

ปีที่แล้วบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แนวเส้นศูนย์สูตรโลก อุณหภูมิสูงขึ้น อาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ในพื้นที่มหาสมุทรแถบอื่นๆ กลับมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติและต่อเนื่องในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา

ในภาพรวมอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนอื่นๆ อยู่ที่ 21.06 องศาเซลเซียส เกินสถิติเดิมเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2566 ที่วัดได้ 20.98 องศาเซลเซียส

 

เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ ตั้งข้อสงสัยและมีความกังวลไม่ต่างไปจากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสภาวะภูมิอากาศคนอื่นๆ

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของผิวน้ำทะเลไม่เพียงจะทำให้เกิดทะเลเป็นกรด ปะการังฟอกขาวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพลังให้พายุมีฤทธิ์เดชระดับทำลายล้างรุนแรง

พายุไซโคลน เฮอร์ริเคน หรือไต้ฝุ่น เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส และคลื่นลมแรงบวกกับความชื้นในอากาศ ยกระด้บเป็นฟ้าผ่าและกลุ่มเมฆหนา

พายุที่ก่อตัวในทะเลรุนแรงมากกว่าในอดีต อย่างเช่ นพายุเฮอร์ริเคน “ฮาร์วีย์” พัดผ่านเมืองฮุสตันเมื่อปี 2560 พายุลูกนี้ทำให้เกิดฝนตกหนัก 3 วัน 3 คืน ระดับน้ำสูงกว่า 100 เซนติเมตร

ความรุนแรงของพายุนำไปสู่ความเสียหายของชุมชนมากขึ้น เฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ถล่มเมืองฮุสตันจมมิดอยู่ใต้น้ำ บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 3 ตัว

หรือกรณีล่าสุดพายุที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ หอบเอาสายน้ำที่ยาวกว่า 400-600 กิโลเมตรมีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ 3 เท่าตัวเทใส่รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโอเรกอน

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” (atmospheric river) มีแนวโน้มว่าจะเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รุนแรงกว่าเดิม

 

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อพายุรุนแรงทั้งความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน จำนวนพายุเพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ แต่จะยกระดับความรุนแรงถึงขั้นสูงสุดหรือซูเปอร์พายุ

ส่วนพื้นที่ขั้วโลกเหนือที่เป็นน้ำแข็งกำลังหดตัวอย่างรวดเร็วอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลของนักวิทยาศาสตร์เช่นกัน

ทางแก้ปัญหา “โลกเดือด” มีเพียงหนทางเดียวคือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก ถึงจะช่วยชะลอหายนะทั้งปวงที่มาจากพายุเกรี้ยวกราด ความร้อนแล้ง หรืออากาศหนาวเย็นยะเยือก

แต่ทางแก้นี้เป็นเรื่องยากที่สุด ตราบใดที่ชาวโลกยังเลือกหนทางเสพสุขดังเช่นที่เป็นอยู่ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]