การศึกษาเชิงพื้นที่ สุราษฎร์ธานีโมเดล (3) ทุเรียนศึกษา-ทักษะอาชีพ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

การศึกษาเชิงพื้นที่

สุราษฎร์ธานีโมเดล (3)

ทุเรียนศึกษา-ทักษะอาชีพ

 

เรื่องราวของคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนถึงจังหวัด ปัญหาเด็กเข้าไม่ถึงและขาดโอกาสทางการศึกษา หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุต่างๆ นานา ความยากจน พ่อแม่หย่าร้าง เดินทางไปหากินต่างถิ่น ลูกหลานต้องย้ายติดตามไปไม่เป็นหลักแหล่ง ติดยา ท้องก่อนวัยอันควร พิการ ทั่วประเทศมีจำนวนไม่น้อย รัฐส่วนกลางดูแลไม่ทั่วถึง

ความทุกข์ร้อนของพวกเขาไม่ค่อยได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติบ่อยๆ เช่นเดียวกับคนเมือง คนรวยทั้งหลาย ทำให้ต้องรวมตัวหาทางช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่หลายต่อหลายจังหวัด ไม่ว่าในนามของจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ สมัชชาการศึกษาจังหวัด สภาการศึกษาจังหวัด

สุราษฎร์ธานีเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของความพยายามช่วยเหลือดูแลแก้ไขปัญหากันเอง โดยไม่รอผู้อื่นหรือคนภายนอกยื่นมือเข้าไป

กรรมการขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สุราษฎร์ธานี นำคณะผู้ประเมินโครงการ ร่วมเวทีพูดคุยที่แหล่งเรียนรู้ ทุเรียนศึกษา

ทีมประเมินผลโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสร็จภารกิจดูงานจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ช่วงเช้า บ่ายมุ่งหน้าต่อไปยังแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่

ณ ที่ทำการแปลงใหญ่กลุ่มทุเรียน ต.ย่านยาว อ.คีรีรัฐนิคม ที่ตั้งบริษัททุเรียนทองช่องฮาย 2021 จำกัด นายสุชาติ คงรอด เจ้าของ กรรมการผู้จัดการ พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้หลักสูตรทุเรียนศึกษา อย่างน่าสนใจ

ด้วยการผลักดันของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้กับเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบการศึกษา ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะอาชีพตามความถนัดและความสนใจของตน

ทันทีที่คณะผู้มาเยือนถึงที่หมาย แม่บ้าน คนงานช่วยกันยกถาดกับข้าวใต้มาวางเรียงชวนกิน แกงเหลือง ผัดเผ็ดตะพาบน้ำ คั่วกลิ้ง น้ำพริกพร้อมผักสดจานใหญ่ ยวนยั่วน้ำลาย คลายความหิวระหว่างเดินทางได้อย่างดี

กินไปมองไปด้านนอก รายรอบด้วยแปลงทุเรียนสุดสายตาจนถึงเชิงเนินเขา บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้ได้ยกระดับจากสวนทุเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และจากที่อื่นๆ ทั่วประเทศ มานานหลายปีแล้ว

หน้าเวที เห็นข้อความบนป้ายผ้าผืนใหญ่ “โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรทางการเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานเกษตร อบรม สร้างช่างเกษตรท้องถิ่น หลักสูตรพื้นฐาน วันที่ 19 ธันวาคม 2566”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สมัชชาการศึกษาและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลือกเอาสถานที่แห่งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานของจริง สร้างเครือข่าย เชื่อมร้อยการทำงานเป็นหนึ่งเดียว

 

นายชัยวัฒน์ แก้วบัวทอง กรรมการสมัชชา รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ประธานอนุกรรมการพัฒนาทักษะอาชีพเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน กล่าวต้อนรับและเล่าถึงภารกิจ 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ พัฒนาทักษะอาชีพเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน พัฒนากองทุนเมืองคนดี กองทุนกู้ยืมพัฒนาและสร้างอาชีพ พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก และพัฒนาครูสำหรับสร้างพื้นที่แห่งฝัน

“หลักสูตรเฉพาะเด็ก 15 หลักสูตร ด้านงานช่าง มีทั้งช่างก่อสร้าง ช่างตัด ช่างเย็บผ้า ช่างกระจก เพาะเห็ดฟาง เลี้ยงปลาน้ำจืด สวนทุเรียน เครื่องดื่ม ขายเสื้อผ้า เคาะพ่นสีรถยนต์ เสริมสวย สักลาย ส่งเยาวชนที่เข้าอบรมไปฝึกในสถานประกอบการ รับจ้างกรีดยางรายได้ไม่พอมาเรียนเสริมสวยเพิ่มเติม ฝึกแล้วกลับไปเปิดร้านที่บ้านตัวเอง กองทุนให้ยืมเงินไปลงทุน ผ่อนคืนงวดละ 1,000 บาท ไม่มีดอก”

“ฝึกทักษะอาชีพร่วมกับ กศน.ทั้ง 19 อำเภอ ทำมา 3 ระยะแล้ว ถอดบทเรียน หาจุดเด่นจุดด้อย ทำเอ็มโอยูกับสถานประกอบการ ผู้ปกครอง ให้ช่วยดูแลเด็กให้เรียนจนจบหลักสูตร กศน.ออกเกียรติบัตร ผ่านการฝึกทักษะอาชีพไปเรียนต่อราชภัฏ”

“เฉพาะกลุ่มที่มาฝึกอาชีพสวนทุเรียน 6 คน ผู้ชาย 5 หญิง 1 วุฒิการศึกษา ม.ปลาย ทั้งมีที่ดินเป็นของตัวเองและไม่มี แต่ฝึกเป็นผู้จัดการสวนทุเรียน เจ้าของแบ่งผลประโยชน์ให้ 50 ต่อ 50 จบหลักสูตรแล้วยังจ้างต่อเป็นรายวัน”

 

แม่งานใหญ่ฝ่ายเจ้าภาพบรรยายจบ ครูใหญ่สุชาติ เจ้าของสวน รับไมค์ต่อ คณะผู้มาเยือนนั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ

“เรารวมกลุ่มเจ้าของสวนทุเรียนในบริเวณพื้นที่นี้ 47 ราย 764 ไร่ ผลผลิตปี 2566 ได้ 1,000 ตัน คนเข้ามาฝึกอาชีพ ลงมือทำเอง มีเครื่องมือให้ ไม่รับเงินเดือนแต่แบ่งประโยชน์เป็นเปอร์เซ็นต์ ราคาทุเรียนวันนี้ 142 บาทต่อกิโล การอบรมช่วยทำให้ทุเรียนของเสียลดลงก็ได้ประโยชน์มากอยู่แล้ว ขอบคุณทุกคนที่มาทำงานร่วมกัน”

ก่อนส่งไมค์ต่อให้ผู้เข้าอบรมฝึกอาชีพในสวนเล่าต่อ

คนแรก “ผมออกจากงานประจำเพราะพิษโควิด ที่บ้านมีสวนทุเรียนแต่ไม่มีความรู้ ความสามารถ เลยมาสมัครเข้าอบรมกับพี่สุชาติ ทั้งเพาะปลูก หาต้นพันธุ์ ไปพัฒนาสวนตัวเอง ได้ทักษะ รายได้เลี้ยงตัวเอง รดน้ำด้วยระบบเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ด้วยพลังงานทดแทน”

คนที่สอง “อาชีพกรีดยางครับ มีเวลาว่าง รู้จักพี่สุชาติเลยมาสมัคร เดิมเป็นลูกจ้างพัฒนา เป็นนักศึกษาฝึกงาน ได้ความรู้ ยางก็กรีดด้วย”

คนที่สาม “มาจากขอนแก่น อาชีพทำสวนทุเรียน ไม่มีความรู้เลย มาอยู่กับนายหัวสุชาติได้ความรู้ ยั่งยืน ถ้าหัวสมองไม่เสื่อมเสียก่อน ช่วงไหนต้องทำอะไร โดยเฉพาะการบำรุงรักษาเครื่องมือแต่ละอย่าง”

คนที่สี่ “มาจากพัทลุง มีคนฝากมา ให้มาร่วมโครงการดีๆ แบบนี้ ทำลูก ทำดอก ทำใบ เรียนไม่มีวันจบ ความรู้ไม่มีวันหมด”

 

ผู้เข้าฝึกอาชีพเล่าจบ ส่งไมค์คืนนายหัวสุชาติเล่าต่อ “ปกติผมชอบเผยแพร่ความรู้ ประสบการณ์ 20 กว่าปี ได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลค่าของแผ่นดิน สาขาส่งเสริมวิทยากรคนทำสวนทุเรียนทั่วประเทศ เอาความรู้ไปให้คนอื่น ผมไม่อยู่คนอื่นทำต่อได้”

“ทำสวนทุเรียน เริ่มจากวางระบบน้ำก่อน เปิดน้ำทีเดียวพร้อมกันหมดทำอย่างไร ปลูกระยะห่างกี่เมตร 10 เมตร มีไลน์กลุ่มฝึกทักษะ ผสมยาใช้ขนาดเท่าไหร่ กี่ซีซีต่อน้ำกี่ลิตร รถพ่นยา ทำอย่างไร ผมไม่ปิดบังอะไร บอกทุกอย่างที่ทำได้ แต่ก่อนไม่มีวันหยุด”

“ตัดหญ้าลับมีดอย่างไร ตัดแต่งกิ่ง ตัดดอกสวย ดอกทิ้ง จะติดลูกหรือจะร่วง การโยงกิ่ง ผูกกิ่ง ฉีดยาดอก ฉีดลูก ทำอย่างไร ใช้ฮอร์โมนตัวไหน ตัดทุเรียนช่วงไหนควรตัด ดูสภาพอากาศ เรียนไปฝึกไป ใครอยากทำแปลงไหนไปเลย ไม่ห้าม เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของทุกคน เลยไม่มีใครอยากออก”

“วงการทุเรียนแรงงานขาดเยอะ ต้องนำเข้าแรงงาน อยากได้คนไทยไม่มี เลยต้องไปเอากะเหรี่ยงบนดอยเพราะคนงานนำเข้าต้นทุนสูงมาก”

บทสนทนาว่าด้วยทุเรียนศึกษา ยังไม่จบลงง่ายๆ จนพิธีกรรับส่งไมค์ไม่ทันกับคำถามของผู้ร่วมเวทีที่ประดังเข้ามาต่อเนื่อง ต้องเล่าต่อสัปดาห์หน้า