Take Me Home ‘ลูกรัง’ Roads

ครบรอบสิบปีพอดีกับวลี “ถนนลูกรังยังไม่หมดไปจากประเทศไทย” หนึ่งในวาทกรรมสำคัญของการเมืองไทยรอบทศวรรษที่ผ่านมา

สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือผู้ลั่นวลีดังกล่าว กลายเป็นข่าวดังต้นปี 2557 เพราะเป็นหนึ่งในเหตุผลของการตัดสินจบโครงการ 2 ล้านล้าน ที่รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

การถกเถียงเรื่องอนาคตประเทศช่วงนั้น เป็นอะไรที่คักคึกมาก ฝ่ายรัฐบาลเสนอเรื่อง 2 ล้านล้าน เปลี่ยนประเทศไทยปี 2020 ส่วนฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ก็เสนอ วิสัยทัศน์ 2020 มาสู้

ต่างฝ่ายต่างแข่งกันวาดฝันจะสร้างรถไฟความเร็วสูง, สร้างรถไฟทางคู่, พัฒนาท่าเรือ, สนามบิน, รถไฟฟ้า ฯลฯ สนุกสนาน

สุดท้ายเจอองค์กรอิสระในนามศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ทำหมัน

วันนี้ปี 2024 แล้ว อย่าว่าแต่รถไฟความเร็วสูงที่ยังอยู่ในระดับกระดึบๆ แทบไม่กระดิกไปไหน มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-โคราช ที่สร้างมานานแล้ว หลายช่วงสัญญาวันนี้ก็ยังมีปัญหา

หรือตัวอย่างใกล้ๆ ล่าสุด คือ ถนนพระราม 2 ยังถูกขนานนามถนน 7 ชั่วโคตร สร้างไปก็โดนคนก่นด่าไป

นั่นคือตัวอย่างทศวรรษที่สูญเสียไปของประเทศไทยเรื่องหนึ่งที่เห็นชัด ฝ่ายผู้ผลักดันโครงการ 2 ล้านล้าน ยังถูกฟ้องร้องทางคดี ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันมายาวนาน

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในคดีสำคัญที่ ป.ป.ช.เดินหน้าฟ้องร้องเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมจำเลยอีกหลายคน กรณีจัดทำโรดโชว์โครงการ 2 ล้านล้าน ระบุว่าทำให้เกิดความเสียหายทางราชการ แม้อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง

สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินโดยมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่าผู้ถูกฟ้องไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ป.ป.ช.

ศาลให้เหตุผลชัดเจนว่าการจัดโรดโชว์คือส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศอันเป็นนโยบายรัฐบาล ไม่ได้มีลักษณะการทุจริตแต่ประการใด ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ ทั้งขอความเห็นชอบ ครม. ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานต่างๆ ครบถ้วน

ส่วนข้อกล่าวหาใช้งบฯ สูญเปล่านั้น เพราะอดีตนายกฯ ก็คงไม่รู้ว่าจะติดปัญหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

มากกว่านั้น หลังเกิดการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอย่างละเอียด ผลสอบก็ยืนยันชัดว่าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ

จึงเป็นที่มาของคำตัดสินยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และสั่งให้เพิกถอนหมายจับ

 

ยิ่งตอกย้ำสัญญาณความเป็นไปได้ของการกลับมาประเทศไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ให้มีความเป็นจริงมากขึ้นไปอีก

หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นพี่ชาย ลี้ภัยการเมืองออกจากประเทศไทยไป 17 ปี เพิ่งออกจาก รพ.ตำรวจ เข้ามาพักที่บ้านจันทร์ส่องหล้าได้สำเร็จ แบบชนิดที่ไม่ต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว

ได้รับการพักโทษ แม้จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ก็ยังสามารถแสดงบทบาททางการเมืองในแง่ความคิดได้เต็มที่ ล่าสุด กรมคุมประพฤติยังไฟเขียวให้นายทักษิณเดินทางไปต่างจังหวัดได้

สถานะเช่นนี้ของนายทักษิณย่อมต้องไม่เกิดกับนายทักษิณคนเดียว แต่ย่อมต้องเกิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะน้อง ผู้ซึ่งนายทักษิณฝากภาระทางการเมืองไว้จนต้องถูกรัฐประหารซ้ำ และต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับนายทักษิณอยู่งต่างประเทศ 7 ปีเต็ม

มีหรือที่นายทักษิณจะยอมให้น้องสาวต้องลำบาก?

 

ในมิติคดีความ จะเห็นโอกาสในทาง “บวก” ที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อเนื่อง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เพิ่งยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. มิชอบ

เท่ากับวันนี้ชนักติดหลังทางคดีความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยังเหลืออยู่ก็คือโทษจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว อันเป็นคดีที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตต่างประเทศกว่า 7 ปี

แต่เอาเข้าจริงคดีนี้ก็ไม่ได้รุนแรงมากในแง่ของหลักการความผิด เพราะไม่ใช่คดีทุจริตคดโกง แต่เป็นความผิด ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินไว้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560

มากกว่านั้น ในปี 2564 ศาลปกครองยังเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่จะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง

พูดตรงไปตรงมาก็คือ ลักษณะทางคดีที่ “เบากว่า”

นั่นจึงทำให้ถูกมองว่า ขนาดนายทักษิณที่โดนโทษแรงกว่ายังสามารถกลับมาประเทศไทยได้ ไม่ต้องนอนเรือนจำสักคืน น.ส.ยิ่งลักษณ์ยิ่งมีความน่าจะเป็นดียิ่งกว่า

 

แต่การกลับก็ไม่ง่าย ถนนที่รองรับการกลับมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะเป็นถนน “ลูกรัง” ขรุขระ มีอุปสรรคไม่น้อย

เพราะถึงอย่างไร ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ดังที่ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ต้องกลับเข้ามาประเทศไทยและดำเนินการ “มอบตัวเป็นนักโทษ” ต่อเจ้าหน้าที่ก่อน แล้วจึงจะสามารถถวายฎีกาได้

ถ้ายังไม่รับโทษ ก็ยังไม่สามารถขอถวายฎีกาได้

ส่วนการพักโทษตาม “ช่องทางเดิม” ของนายทักษิณ ก็คงไม่สามารถทำได้ เพราะเงื่อนไขอายุไม่ถึง

มองดูปัจจัยวันนี้ การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาโดยไม่ต้องติดคุกแบบนายทักษิณ จึงยังไม่มีเหตุที่เอื้อให้เลย

มีทางเดียวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับโทษก่อน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่นายทักษิณในฐานะพี่ชายรับไม่ได้

 

หากดูในมิติการเมือง ถามว่า การจะกลับมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเจออะไรบ้าง

เรื่องนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมอย่าง ส.ว.สมชาย แสวงการ ในฐานะฝ่ายตรงข้ามอย่างยาวนานของตระกูลชินวัตร ออกมาเตือนทันทีว่า ถ้าจะกลับไทย ต้องเข้าสู่กระบวนการ และถ้าเดินซ้ำรอยนายทักษิณ ด้วยวิธี “เหาะเหินเดินอากาศ” ก็จะยิ่งเกิดศรัทธากับกระบวนการยุติธรรม

นี่คือการ “ดักคอ” ของฝ่ายอำนาจเก่า ซึ่งอาจจะยิ่งเข้มข้นขึ้น จนมีการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเช่นที่เกิดขึ้นขณะนี้ของกลุ่ม คปท.

แต่แน่นอนว่าการจุดกระแสต้านคงไม่ลุกลามติดไฟเช่นเดิม

แต่สัญญาณที่น่าสนใจคือ การตั้งคำถามของฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า เพราะเป็นฝั่งที่เคยเป็นผู้สนับสนุน จนถึงเป็นฐานการเมืองให้ “ตระกูลชินวัตร” มาอย่างยาวนาน ที่จะออกมาตั้งคำถามเรื่อง 2 มาตรฐานกระบวนการยุติธรรม เช่นที่นายทักษิณถูกตั้งคำถาม

การกลับมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หากซ้ำรอยพี่ชาย ในท่ามกลางนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากถูกรุกปราบทางกฎหมายอย่างหนัก หลายคนถูกจองจำในเรือนจำ

คำถามสองมาตรฐาน จะยิ่ง “เสียงดัง”

 

แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เรื่องเหลือเชื่อทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย นับตั้งแต่มีการตั้งรัฐบาลพลิกขั้ว คนไทยจึง “ชินแล้ว” ที่จะได้เห็นอภินิหารทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น หากจะมีในอนาคต

จึงเกิดมุมมองที่คาดการณ์กันได้ทันทีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับไทยแน่ และจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่อาจจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วอาจจะดูปัจจัยทางการเมืองต่างๆ ด้วย เช่น อาจจะต้องรออีกราว 5-6 เดือนที่นายทักษิณจะพ้นโทษจริงๆ และสถานการณ์ทางการเมือง “นิ่ง” กว่านี้

คำพิพากษา จากคดี “โรดโชว์ 2 ล้านล้าน” หรือคดี “โยกย้ายข้าราชการมิชอบ” หรือ “การไม่ต้องชดใช้คดีจำนำข้าว” นับว่าเป็นคำตัดสินของศาลที่คืนความชอบธรรมทางการเมืองให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

หลายคดีเห็นชัดว่าที่ผ่านมาเป็นการฟ้องร้องเล่นงานทางการเมืองที่กระทำต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่น่าเสียดายที่วันนี้คนไม่ค่อยสนใจกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นมากนัก หรือกระแสเห็นใจน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น

เพราะผลจากดีลข้ามขั้วการเมืองหลังเลือกตั้งปี 2566 สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมักจะถูกมองว่าเป็นการเมือง คนสนใจ/เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมลดลง