เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (13) 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ความทรงจำล้ำค่า
ในโคลงนิราศหริภุญไชย

นอกจากคุณค่าที่ผู้รจนาโคลงนิราศหริภุญไชยได้กล่าวมาในตอนที่แล้ว

วรรณกรรมเรื่องนี้ยังได้ส่งมอบ “ความทรงจำในอดีต” เมื่อ 500 ปีก่อน ให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษา เข้าใจถึงผู้คน สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อในอดีต ซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างดังนี้

 

การชลประทานในตัวเมืองเชียงใหม่

โคลงนิราศหริภุญไชย กล่าวถึงจุดแรกของการเดินทางว่าเริ่มออกจากคลองหน้าวัดพระสิงห์ (ปัจจุบันได้ถมไปนานแล้ว)

 

ชลไพรผงแผ่นพื้น  บนบด

ภายลุ่มปานจักรกรด  เกลือกขว้ำ

พาชีตำเรยรถ ชอนเชือก  ชักเอ่

ขุงน่านเรือร้อยล้ำ   ไขว่ขว้างขวางนที

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบายความว่า ริมน้ำขุ่นจนมองไม่ทะลุลงไป แต่ข้างล่างน้ำเชี่ยวดังจักรกรด วุ่นวายปานจะพลิกคว่ำ ช้างม้าผูกเชือกติดกับเกวียนดึงไป น่านน้ำมีเรือกว่าร้อยลำขวักไขว่ขวางแม่น้ำ เพราะบริเวณด้านหน้าวัดพระสิงห์เป็นที่ตั้งตลาดกลางเมืองเชียงใหม่

ตลาดนี้พระญามังราย (พ.ศ.1839-1854) ทรงตั้งขึ้นพร้อมกับสร้างเมืองเชียงใหม่ บริเวณนี้จึงเป็นย่านการค้าและเป็นชุมทางที่มีผู้คนเดินทางมาตลาดหรือเดินทางไปยังสถานต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่

โคลงบทนี้นอกจากจะกล่าวถึงการสัญจรทางบก โดยเดินเท้า ขี่ม้า ขี่ช้าง โดยสารเกวียน แล้วยังใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรภายในเมืองด้วย

เนื่องจากคลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบชลประทานโบราณในเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่แรกสร้าง พ.ศ.1839 พระญามังราย พระญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหง ได้ร่วมกันพิจารณาชัยภูมิที่ตั้งเมือง และมีความเห็นร่วมกันว่า สถานที่นี้มีไชยมงคล 7 ประการ

มี 5 ประการที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่และแม่น้ำ ดังนี้

1. สถานที่ที่จะสร้างเมืองมีความสูงทางด้านทิศตะวันตกลาดเทมาทางทิศตะวันออก

2. มีน้ำตกไหลจากดอยสุเทพ (น้ำห้วยแก้ว) ลงมาทางทิศเหนือ ไหลกระหวัดไปทางทิศตะวันออก ไหลลงไปทางใต้ แล้วไหลไปทางทิศตะวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็น “นครคุณ” ไหลอ้อมเมือง

3. แม่น้ำอีกสายหนึ่งไหลจากภูเขาชื่อว่า “แม่ข่า” ไหลไปทางทิศตะวันออกแล้วไหลลงทางทิศใต้ขนานแม่น้ำปิง ใช้เป็นคูเมืองด้านนอก ตำนานเรียกว่า น้ำแม่โท

4. มีหนองใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อว่า อีสาเนราชบุรี หรือหนองบัว หรือหนองเขียว

5. แม่น้ำปิงไหลมาแต่สระน้ำที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาสรงในดอยอ่างสรง เมืองเชียงดาว ไหลมาทางทิศตะวันออกของเมือง

 

การที่พระญามังรายและพระสหายได้เลือกชัยภูมิแห่งนี้สร้างเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงเห็นถึงการบริหารจัดการน้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเมืองต่างๆ ในล้านนาที่สร้างก่อนเมืองเชียงใหม่มักสร้างบนฝั่งแม่น้ำใหญ่ทั้งสิ้น ประสบปัญหาน้ำท่วมเมืองซึ่งสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก เช่น เวียงกุมกาม เป็นต้น

และการที่ชัยภูมิมีความลาดเทจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออกและมีแม่น้ำไหลจากดอยลงมาใกล้เมืองถึง 2 สาย (น้ำห้วยแก้วและน้ำแม่ข่า) นั้น จึงเหมาะกับการดึงน้ำมาใช้ในเมือง ขณะเดียวกันก็สามารถระบายน้ำลงสู่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออกได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนองน้ำขนาดใหญ่นั้น เป็นเสมือนแก้มลิงกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในยามแล้ง และเป็นแหล่งอาหารของประชาชนในเมืองด้วย

เมืองเชียงใหม่วางผังเมืองเช่นเดียวกับเมืองสุโขทัย มีระบบจัดการน้ำที่หลักแหลมตั้งแต่ต้นน้ำลงมาถึงปลายน้ำ มีหัวหน้าดูแลการใช้น้ำเรียกว่า แก่เหมือง แก่ฝาย กฎหมายมังรายศาสตร์บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับน้ำไว้หลายมาตรา

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระวิภาคภูวดล อดีตเจ้ากรมแผนที่ หรือ เจมส์ แมคคาร์ธี (James McCarthy) ได้เขียนแผนที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2443 ช่วยให้เข้าใจการจัดการน้ำในเมือง เส้นทางน้ำ และหนองน้ำ ซึ่งเป็นระบบเดียวกับตระพังในเมืองสุโขทัย ที่รับน้ำจากแม่รำพัน ดังนี้

น้ำตกห้วยแก้วไหลลงมาจากดอยสุเทพ ไหลมาถึงแจ่งหัวลิน ลำห้วยแยกออกเป็นสี่สาย

1) ไหลเลียบเมืองไปทางทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำปิง

2) ไหลเข้าที่แจ่งหัวลินเข้าภายในคูเมืองและในเมือง ไหลลงสู่คูเมืองที่แจ่งคะท้ำ (กะต๊ำ – มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้) และไหลลงมาทางใต้ลงสู่คูเมืองด้านใต้ที่ประตูสวนปรุง และที่ประตูเชียงใหม่

3) ไหลลงทุ่งนาทางด้านทิศเหนือของเมืองลงสู่หนองใหญ่ในแผนที่เรียกว่า “หนองบัว” หรือ “หนองเขียว” ก่อนจะลงสู่แม่น้ำแม่ข่าทางทิศตะวันออก

4) ไหลไปทางทิศเหนือของเมืองเกี้ยวไปทางทิศตะวันออก ไหลลงทิศใต้ มาลงที่แจ่งคะท้ำ 1 แห่ง และลงที่ประตูเชียงใหม่ 1 แห่ง ไหลออกประตูขัวก้อม (ประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของกำแพงเมืองชั้นนอก บริเวณวิทยาลัยนาฏศิลป์ปัจจุบัน) ออกสู่ทุ่งช้างคลาน และไหลไปอ้อมเวียงกุมกามทางด้านทิศตะวันตก และลงสู่แม่น้ำปิง

คนในเมืองเชียงใหม่ใช้น้ำ “ห้วยแก้ว” เพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำปิงไหลห่างจากกำแพงเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร หากจะนำน้ำแม่ปิงมาใช้ จะต้องใช้ระหัดวิดน้ำ หรือ “หลุก” เพื่อผันน้ำขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เทคนิคและทรัพยากรมาก

หลักฐานที่ใช้ยืนยันในความสำคัญของลำห้วยแก้วนั้น มีปรากฏอยู่ในตำนานเชียงใหม่ว่า

“…คือว่าน้ำห้วยแก้วอันไหลเข้ามาสู่แจ่งหัวลินเลี้ยงบ้านเลี้ยงเมืองนั้น คันว่านองมาแล น้ำตกตาดเวลากลางคืนนั้น คนทั้งหลายอันอยู่ในเวียงก็ดี คันได้ยินเสียงน้ำห้วยแก้วตกตาด ได้ยินเสี้ยงทั่วบ้านทั่วเมืองทังมวล บ้านนอกขอกนิคมก็ได้ยินเสียงชุแห่งชุที่นั้น บ้านเมืองทั้งมวลก็อยู่วุฒิจำเริญสุขเกษมยิ่งนักชะแล ปีใดน้ำห้วยแก้วนองเวลากลางคืนและคนทังหลายบ่ได้ยินเสียงน้ำห้วยแก้วตกตาดนั้น บ้านเมืองทังมวลก็จักเป็นทุกข์นานาต่างๆ ทั้งสัตว์และคนทั้งหลายก็จักตายมากนักชะแล…”

 

หมายความว่า ถ้าปีใดน้ำห้วยแก้วท่วมนองในเวลากลางคืนและชาวเมืองเชียงใหม่ได้ยินเสียงน้ำตกจากหน้าผากึกก้องไปทั่วเมืองเชียงใหม่ ชาวเมืองเชื่อว่าปีนั้น จะอยู่ดีมีความเจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์

แต่ถ้าน้ำห้วยแก้วท่วมนองในเวลากลางคืนและชาวเมืองไม่ได้ยินเสียงน้ำห้วยแก้ว ปีนั้นบ้านเมืองจะเดือดร้อนคนและสัตว์จะล้มตายมาก น้ำห้วยแก้วในอดีตมีปริมาณน้ำมาก สามารถเป็นทั้งคุณและโทษ

เมืองโบราณที่มีมาก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ก็ล่มลง ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ปางเดิม ในนิทานเรื่องลูกตีแม่ กล่าวว่า เหตุที่เมืองนี้ล่มจมน้ำอาจจะเนื่องจากน้ำห้วยแก้วท่วมเมือง

ส่วนหนองน้ำในเมืองเชียงใหม่ จัดเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค หนองน้ำเหล่านี้เป็นหนองน้ำสาธารณะ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตวัด

จากแผนที่ของ เจมส์ แมคคาร์ธี พบว่ามีหนองน้ำขนาดใหญ่ทั้งในเมืองและนอกเมืองรวมกัน ถึง 18 หนอง ภายในเมือง 8 หนอง ดังนี้

หนองวัดพันตาแสงร้าง หนองวัดพระสิงห์ หนองวัดบ่อหาดร้าง หนองตำแพะในเวียงแก้ว (พระราชวังหลวง ปัจจุบันคือบริเวณที่กำลังขุดแต่งทางโบราณคดีของทัณฑสถานหญิง) หนองวัดหอธรรม (ร้าง ในวัดเจดีย์หลวง) หนองวัดเจ็ดลิน หนองหน้าวัดร้างใกล้วัดพวกแต้ม หนองวัดไชยมูล (วัดทรายมูลพม่า)

และภายนอกเมือง 10 หนอง ดังนี้ หนองบัว (หนองเขียว) หนองหล่มใกล้ประตูช้างม่อย หนองในวัดหนองคำ หนองหลวง หนองอุปาในวัดอุปา หนองม่าน หนองชวา หนองอยู่ใกล้ประตูเมืองกำแพงชั้นนอกคือประตูระแคง (ประตูเมืองชั้นนอก)

และหนองน้ำไม่ทราบชื่ออีก 2 แห่ง

 

คลองที่กล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัยคือ คลองที่รับน้ำจากห้วยแก้วไหลเข้าแจ่งหัวลินบางส่วนเข้าในคูเมือง แล้วแยกออกเป็น 2 สาย

1) ไหลเลียบด้านเหนือปัจจุบันคือถนนศรีภูมิ เลี้ยวขวาเข้าถนนสิงหราช มาถึงพระราชวังหลวง (เวียงแก้ว) ผ่านถนนสิงหราช หน้าวัดดับภัย วัดผาบ่อง ถนนสามล้านผ่านหน้าวัดพระสิงห์

2) มีคลองแยกไปทางขวาไปทางเวียงแก้ว เลียบผ่านถนนมูลเมือง 6 และถนนมูลเมือง 7 ลงสู่คูเมืองชั้นในที่แจ่งคะท้ำ

คลองอีกสายหนึ่ง รับน้ำมาจากห้วยแก้วไหลเข้าที่แจ่งหัวลิน (มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) เข้าเลี้ยงคูเมือง เลียบมาถนนอารักษ์ ผ่านหน้าวัดปราสาท วัดผาบ่อง ผ่านถนนสามล้าน ไหลตัดไปถนนพระราชดำเนินหน้าวัดพระสิงห์ บริเวณนี้มีคลองแยกออกเป็น 2 สาย

1) ไหลเลียบถนนราชดำเนินผ่านหน้าวัดทุงยู วัดศรีเกิด วัดชัยพระเกียรติ ไหลไปทางตะวันออกถึงประตูท่าแพ และไหลลงใต้ผ่านหน้าวัดเจดีย์หลวง ไหลต่อไปทางทิศใต้ลงทางระบายน้ำที่ประตูเชียงใหม่

2) ไหลตรงจากวัดพระสิงห์ลงมาทางใต้เลียบถนนสามล้านไหลลงทางระบายน้ำที่ประตูสวนปรุง

 

การเดินทางของผู้แต่งโคลง เริ่มจากคลองที่หน้าวัดพระสิงห์ แล้วเดินทางด้วยเท้าตามถนนเลียบคลองตรงไปถนนราชดำเนิน เลี้ยวซ้ายผ่านถนนพระปกเกล้า ผ่านหน้าวัดเจดีย์หลวง แล้วออกจากเมืองชั้นในโดยผ่านประตูเชียงใหม่ (ประตูเมืองทิศใต้) สู่เมืองเชียงใหม่ชั้นนอกถือว่าสิ้นสุดการเดินทางด้วยเท้า

ผู้เขียนเดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่ชั้นนอกโดยผ่านประตูขัวก้อมสู่ทุ่งกว้าง ซึ่งสะดวกที่จะเดินทางต่อด้วยขบวนเกวียน มุ่งลง ทิศใต้ ผ่านเวียงกุมกาม จนถึงเมืองหริภุญชัย

คลองภายในเมืองเชียงใหม่สันนิษฐานว่าคงใช้ประโยชน์สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยเจ้าผู้ครองนครหรือสมัยตระกูลพระเจ้ากาวิละ เมื่อประมาณ 200 ปี ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ในเดือนมีนาคม 2361 เจ้าหลวงเชียงใหม่ เจ้าหลวงธรรมลังกา (พ.ศ.2356-2366) มีคำสั่งให้เหล่าเสนาและประชาชนร่วมกันขุดเหมือง 4 เหมือง โดยขุดลอกเหมืองเดิมที่อาจจะตื้นเขินไป

1) ขุดตั้งแต่แจ่งหัวลินตรงไปถึงแจ่งศรีภูมิเลี้ยวขวาไปถึงแจ่งกะต๊ำ

2) ขุดตามคลองหลวงหน้าวัดดับภัย ตรงไปหน้าวัดพระสิงห์

3) ขุดลอกตามตีนเวียง (ทิศใต้) ด้านตะวันตก ขุดลงไปทิศใต้

4) ขุดคลองเหนือพระราชวังหลวง (เวียงแก้ว) ให้น้ำไหลลงหนองน้ำที่ตั้งอยู่หน้าสนามหลวง (ข่วงหลวง) ถ้าน้ำมาก ให้น้ำไหลตัดผ่านกลางเมืองไปออกที่ประตูเชียงยืน (ทิศเหนือ) และให้น้ำจากเหมืองทุกสายไหลไปออกที่แจ่งคะท้ำ มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้ (คำว่า คะท้ำ – เครื่องมือดักปลา ที่แจ่งคะท้ำจะเป็นที่ดักปลา) แล้วไหลออกสู่ลำเหมืองในกำแพงเมืองชั้นนอก จากนั้นให้นำดินและอิฐมาก่อข้างลำเหมืองทุกสายด้วย ดังความว่า

“…เถิงเดือน 6 แรม 9 ค่ำ วัน 4 พระเป็นเจ้าซ้ำมีอาชญาแก่เสนาอามาจ ประชาราษฎร์ทังมวลขุดเหมือง 3-4 เส้น ต่อเอาแต่แจ่งหัวรินฝ่ายหัวเวียงไปแจ่งสรีภูมิ เกี้ยวไปแจ่งคะท้ำเสนา เส้น 1 ล่องตามคองหลวง (ถนน) หน้าวัดดับภัย วัดพระสิงห์ล่องไป เส้น 1 เลียบตามตีนเวียงฝ่ายวันตกล่อง เส้น 1 มาเหนือพระราชวังหลวง (เวียงแก้ว) เกี้ยวลงหนองหน้าสนามผ่ากลางเวียงเถิงประตูเชียงยืน เกี้ยวออกแจ่งคะท้ำหน้าวัดทรายมูลชุเส้น หื้อก่อด้วยดินและอิฐสองฝ่ายแคมเหมืองชุเส้น…”

 

นอกจากนั้น ยังพบข้อความในโคลงพื้นวัดพระสิงห์ แต่งเมื่อ พ.ศ.2370 เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงประวัติการสร้างบูรณะวัดพระสิงห์ และผู้แต่งได้กล่าวถึงคลองที่ไหลผ่านหน้าวัดพระสิงห์ และหนองน้ำภายในวัดด้วย ดังนี้

 

ลุเถิงขัวเขื่อนข้าม   มุงเหมือง

รืบรืบตีนทังเมือง   ไต่เต้า

คณาเหลือบแลเหลือง   เรืองร่าม  ฤทธิ์เอ่

พร้อมพร่ำมาแล้วเข้า   ข่วงแก้วสีหราม

หมายความว่า มาถึงสะพานข้ามคลองหน้าวัดพระสิงห์ ผู้คนทั้งเมืองก็พาเดินกันข้ามสะพานเข้าไปในวัด มองเห็นคณะพระสงฆ์นุ่งจีวรเหลืองอร่าม ท่านมาพร้อมแล้วก็พากันเข้าไปสู่ลานวัดพระสิงห์ โคลงบทนี้ทำให้เห็นว่า คลองยังคงใช้งานอยู่และมีการสร้างสะพานข้ามไปยังวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ.2370

ซ้ำแถมบึกบวกหั้น   สระสรี   นึ่งเอ่

เลิก็ลุ่มบัวบานมี   เก่าเกื้อ

จังกรแบ่งบานจี   จุมควี่   คนธ์เอ่

รมร่วนมารั้งเรื้อ   เกลือกกลิ้งเอาคนธ์

หมายความว่า ภายในวัดพระสิงห์สมัยนั้นมีหนองน้ำขนาดใหญ่ อยู่ 1 หนอง มีน้ำลึกมาก ในหนองมีดอกบัวทั้งบานและตูม มีกลิ่นหอม แมลงต่างมาเกลือกกลิ้งเอากลิ่นหอมของดอกบัว

สอดคล้องกับแผนที่ของ เจมส์ แมคคาร์ธี ที่เขียนไว้ คำว่า “บวก” ภาษาล้านนา แปลว่า หนองน้ำที่ทำขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สะท้อนถึงระบบการจัดการน้ำใช้อุปโภคบริโภคภายในเมืองได้อย่างดี

หนองน้ำ หรือ บวก เหล่านี้มีกระจายทั่วไปในเมืองและนอกเมือง ขนาดใหญ่มีรวมกันถึง 18 แห่ง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

โคลงนิราศหริภุญไชย ได้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ชัดเจนและยังไม่พบเรื่องนี้ในเอกสารอื่น