จุฬาฯ-อุเทน กับ ‘ข้อเท็จจริง’ อีกบางประการ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษาเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง

เป็นข่าวเกี่ยวกับโรงเรียนแพทย์ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สาระสำคัญมีอยู่ว่า มีศาสตราจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กรุณาบริจาคเงินให้กับโรงเรียนแพทย์แห่งนั้นเป็นจำนวนมหึมามหาศาล ดูเหมือนว่าแปลเป็นเงินไทยแล้วน่าจะตกประมาณ 30,000 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้โรงเรียนแพทย์สามารถนำไปเก็บดอกออกผล และจะทำให้นักศึกษาของโรงเรียนแพทย์แห่งนั้นไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิตอีกเลยตลอดไป

ส่วนคนที่จ่ายค่าหน่วยกิตของปีนี้ไปแล้ว ก็จะได้เงินจำนวนนั้นคืนด้วย

บรรยากาศในวันที่ข่าวดีเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของนักศึกษาในที่ประชุม ทุกคนเฮฮากันอย่างสุดขีด

เป็นผม ผมก็จะเฮไปกับเขาด้วย เพราะค่าหน่วยกิตหรือค่าเล่าเรียนโรงเรียนแพทย์เมืองฝรั่งในแต่ละปีไม่ใช่ถูกๆ ครับ

 

ความจริงเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า สถาบันการศึกษาขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องมีเงินคงคลัง หรือเงินรองรังไว้สำหรับเก็บดอกออกผล รวมตลอดทั้งจำเป็นต้องมีธุรกิจที่เป็นน้ำบ่อทรายทำให้เกิดรายได้มาบำรุงเลี้ยงสถาบันการศึกษาแห่งนั้นด้วย

ยิ่งถ้าเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เราเรียกว่า “มหาวิทยาลัย” ความจำเป็นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมากและไม่อาจมองข้ามไปได้

ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กซึ่งตั้งอยู่ในเมืองนิวยอร์กที่ผมได้ไปเรียนวิชากฎหมายระดับปริญญาโทเมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน เขามีน้ำบ่อทรายบ่อสำคัญ คือโรงงานสปาเกตตี ที่เขาไปซื้อหุ้นเอาไว้หรือใครยกหุ้นให้ผมก็ไม่แน่ใจนัก

และเงินปันผลหรือเงินรายได้จากโรงงานสปาเกตตีนี้เอง ที่ช่วยให้โรงเรียนกฎหมายแห่งนั้นสามารถดำเนินกิจการได้โดยราบรื่นและนักศึกษากฎหมายตาดำๆ เช่นผมก็เสียค่าหน่วยกิตแต่พอสัณฐานประมาณ ไม่ต้องเก็บกันเต็มอัตราศึก

เงินทุนที่เป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับอุดหนุนกิจการของมหาวิทยาลัยแบบนี้ เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Endowment

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ข้อมูลที่มีเผยแพร่อยู่ทั่วไปปรากฏว่า ในปีคริสต์ศักราช 2022 มหาวิทยาลัยแห่งนั้นมีเงินกองทุนแบบนี้อยู่ 49.444 พันล้านเหรียญ หรือ 49.444 billion USD เทียบเป็นเงินไทยก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทยในปัจจุบัน

ไม่รู้ว่าจะเขียนเลข 0 กันกี่ตัวดีเลย

 

ที่เล่าสู่กันฟังมานี้ไม่ได้คิดว่าเห็นช้างขี้แล้วต้องขี้ตามช้าง เพียงแต่อยากจะบอกว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีเงินรายได้อื่นนอกจากเงินรายได้จากงบประมาณแผ่นดินและเงินที่เก็บได้จากนิสิตนักศึกษา

เงินรายได้ส่วนนี้คือเงินที่มหาวิทยาลัยต้องจัดระดมทุนหรือมีกิจการพาณิชย์เป็นของตัวเองเพื่อเป็นแหล่งรายได้ประเภทนี้ ทั้งนี้ บนหลักการพื้นฐานคือทุกอย่างเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเงินได้ก็นำมาใช้ประโยชน์เพื่อมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

เราต้องนึกนะครับว่า ถ้าเรามุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยในบ้านเมืองของเราสามารถทำหน้าที่เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง เราจะหวังแต่เพียงพึ่งพางบประมาณแผ่นดินย่อมไม่เป็นการเพียงพออย่างแน่นอน

เพราะงบประมาณแผ่นดินของบ้านเรานั้นเป็นคุณพ่อคุณแม่ลูกดก มีรายจ่ายมากมายที่ต้องเฉลี่ยกันไปในระหว่างบรรดาลูกหลายคน

กิจการบางอย่างของมหาวิทยาลัยซึ่งในสายตาของมหาวิทยาลัยมีความสำคัญ อาจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลำดับรองตามสายตาของคนจัดสรรงบประมาณก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น การมีภาควิชาปรัชญาอยู่ในมหาวิทยาลัย ถ้าคิดในเรื่องกำไรขาดทุน หรือความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินแล้ว การเรียนวิชาที่ไม่สามารถไปทำมาหากินได้โดยตรงแบบนี้ก็คงอยู่ในลำดับท้ายของบัญชีจัดสรรงบประมาณเป็นแน่

หรือถ้าคณะวิชาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งอยากจะทำวิจัยในหัวข้อเรื่องที่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐได้ยินแล้วรู้สึกไม่ปลาบปลื้มพอใจ เช่น ความคุ้มค่าของการซื้อเรือดำน้ำมาดำเล่นในคลองแสนแสบ นึกหรือครับว่าจะตั้งของบประมาณเพื่อการวิจัยนี้ได้สำเร็จ

มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีอิสระในทางการเงินตามสมควรเพื่อสามารถทำหน้าที่ความเป็นมหาวิทยาลัยได้อย่างครบถ้วน

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2459

สภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเกี่ยวกับสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งสภาได้เลือกหาทุกแห่งที่เห็นว่าเหมาะ แล้วเห็นว่าที่ตำบลประทุมวันของพระคลังข้างที่ “…เปนที่อยู่ในท่ามกลางพระนคร ไชยภูมิ์เหมาะดี สมควรจะเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยหลักพระนครสืบไป…ทรงพระมหากรุณาล้นเหลือ พระราชทานที่รายนี้ให้เช่าเข้าผลประโยชน์ของพระคลังข้างที่ที่ได้อยู่เดี๋ยวนี้ และพระราชทานให้เช่าโดยไม่มีกำหนดปี นับว่าโรงเรียนนี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ส่วนพระองค์เปนอย่างยิ่ง…”

ด้วยทรงตระหนักแน่แก่พระราชหฤทัยว่า นอกจากการใช้พื้นที่เพื่อการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยจะได้แบ่งพื้นที่บางส่วนจัดการหาผลประโยชน์ เพื่อบำรุงเลี้ยงมหาวิทยาลัยในระยะยาวด้วย

 

ผมขอขยายความว่า สาเหตุที่ไม่ได้พระราชทานที่ดินให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นกรรมสิทธิ์ในครั้งนั้น เพราะที่ดินแปลงนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดไว้ในพระราชพินัยกรรมว่าให้จัดประโยชน์พระราชทานเป็นเบี้ยเลี้ยงชีพแก่บาทบริจาริกา

ดังนั้น เมื่อพระราชทานให้มหาวิทยาลัยเช่า จึงทรงพระกรุณาให้คิดค่าเช่าแต่เพียงเท่าราคาที่จีนผู้ปลูกผักอยู่ในที่ดินแปลงนี้เคยชำระแก่พระคลังข้างที่เท่านั้น เพื่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยจะได้นำไปจัดให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ในราคาที่เห็นสมควร และได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างนั้นบำรุงมหาวิทยาลัย

เมื่อประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แล้วไม่ถึงหนึ่งปี ในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2460 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาในประเด็นนี้โดยตรงว่า

“…ข้าพระพุทธเจ้ากำลังจัดการที่ดินสระประทุม ซึ่งได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นโรงเรียน…บัดนี้ได้ผลทวีขึ้นจนนับว่ามีกำไรแล้ว ท้องที่นี้นับวันแต่จะเจริญ บัดนี้ตลาดก็เริ่มติดขึ้นที่ปลายถนนบรรทัดทองตรงถนนหัวลำโพงแล้ว ต่อไปนักเรียนทวีขึ้น ที่ว่างเปล่ากลายเปนบ้านเปนเมืองขึ้น จะได้เป็นขุมทรัพย์อันหนึ่งสำหรับมหาวิทยาลัย…”

ต่อมาอีกเป็นเวลานานเกือบสามสิบปี บาทบริจาริกาผู้ได้รับพระราชทานผลประโยชน์มีจำนวนน้อยลง และพระคลังข้างที่มีเงินรายได้จากทรัพย์สินอื่นเพียงพอที่จะจัดเบี้ยเลี้ยงชีพพระราชทานบุคคลจำนวนนั้นได้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลเอก อ. พิชเยนทรโยธิน หรือเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน) จึงได้ตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482

จุฬาลงกรณ์จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

 

น่าจะต้องเล่าเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า พระราชดำริเรื่องการพระราชทานเช่าที่ดินเพื่อมหาวิทยาลัยนำไปจัดประโยชน์บำรุงการศึกษานั้น เป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินสองฝั่งของถนนบรรทัดทอง ซึ่งอยู่ในเนื้อที่ของที่ดินแปลงที่ว่านี้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ก็ได้พระราชทานเงินให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสร้างตึกแถวที่ถนนบรรทัดทอง สำหรับเก็บค่าเช่าเป็นเงินบำรุงการศึกษา ตามแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ในนานาประเทศด้วยพระองค์หนึ่ง

เวลานี้ท่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงทราบกันทั่วไปแล้วว่า ประเด็นความเห็นต่างของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่เรียกชื่อกันโดยทั่วไปว่า “อุเทนถวาย” กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับที่ดินจำนวนประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของอุเทนถวายอยู่ในปัจจุบัน กำลังเข้าไคล และต้องตามดูกันต่อไป ว่าจะมีพัฒนาการไปข้างไหน

ผมได้แสดงความเห็นในประเด็นทางกฎหมายซึ่งเป็นวิชาชีพโดยตรงของผมต่อสาธารณะไปบ้างแล้ว จะพูดซ้ำอีกในทีนี้ก็เกรงว่าท่านทั้งหลายจะเบื่อเสียก่อน

วันนี้จึงขอฉีกแนว นำข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งมากล่าวเพิ่มเติม อย่างที่เล่ามาแล้วข้างต้น

ด้วยความหวังว่าข้อมูลเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการมองดูภาพรวมของเรื่องราวทั้งหมด

แถมอีกนิดหนึ่งตอนท้ายด้วยครับว่า ที่ดินส่วนนี้ตั้งอยู่ระหว่างคณะเภสัชศาสตร์กับบางส่วนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนแม่บทว่าด้วยการใช้พื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้วและไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประการอื่น ได้กำหนดว่าพื้นที่นี้ ในอนาคตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่พื้นที่สำหรับจัดประโยชน์ทางพาณิชย์อย่างแน่นอน

ใครคิดไปสร้างศูนย์การค้าแทรกลงตรงนั้น ต้องส่งไปตรวจสมองแล้วล่ะครับ

เรื่องสำคัญอย่างนี้ต้องพูดกันด้วยเหตุผล ด้วยพยานหลักฐาน

ห้ามมโนเองเป็นอันขาด นะขอรับ