ทำไมคนรวย ต้องอยากรวยมากขึ้น

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีมิตรสหายที่เป็นนักวาดการ์ตูนมาปรึกษา เนื่องด้วยเขาต้องการสร้างแคแร็กเตอร์คนรวยขึ้นมา

แต่เนื่องจากว่าในบริบทชีวิตของเราส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักคนรวยเลย

กล่าวคือ อาจรู้จักวิถีชีวิตของพวกเขาผ่านสื่อที่พวกเขาเป็นเจ้าของ หรือปัจจุบันอาจมีช่อง Youtube ที่อาจจะฉายทุกแง่มุมของชีวิตคนรวย

หรือบางคนอาจมีโอกาสรับประทานอาหารกับเจ้าของบริษัท หรืออ่านหนังสือที่พวกเขาเขียน บทสัมภาษณ์ของพวกเขา

แต่น้อยคนที่จะรู้จักกับคนรวย และเข้าใจถึงวิธีความคิดของพวกเขา

โดยเฉพาะคำอธิบายง่ายๆ ที่น่าสงสัยว่า เมื่อเรากินข้าวอิ่มแม้จะมีของอร่อยที่เราชอบมากอยู่ตรงหน้าเราก็ไม่มีความอยากกินอีกต่อไป เพลงที่เพราะฟังไปหลายรอบก็ยังเบื่อ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม น้อยคนที่อยากจะไปดูซ้ำในชีวิตหนึ่งอาจจะไม่กี่ครั้ง

แต่ทำไมคนรวยถึงอยากรวยขึ้นตลอดเวลา และยิ่งรวยมากขนาดใช้ไม่หมดหลายชาติ ก็ยังอยากรวยมากขึ้นๆ ทุกวินาทีไม่เคยเว้น

 

มิตรสหายท่านนี้ ลองศึกษาคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งมันสามารถอธิบายได้ในแง่ของการสะสมทุนทางธุรกิจ ที่กำไรจะต้องถูกนำไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้กำไรต่อไป

หากไม่ปรารถนาที่จะรวยมากขึ้น หรือไม่สามารถสะสมมูลค่าส่วนเกินต่างๆ ได้มากขึ้นๆ ก็ไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้ จึงเข้าข่ายในลักษณะที่หยุดแสวงหาความรวย

เป็นวงจรการหมุนของระบบทุนนิยม เหมือนกังหันวิดน้ำ ที่ต้องวิดไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นน้ำก็จะท่วมกังหันมิดไป

“แต่มันมีอะไรมากกว่าความโลภหรือไม่” ที่ทำให้คนรวยถึงอยากรวยมากขึ้นไปอีก

ผมลองเปรียบเทียบว่าบางครั้งเราเห็นน้ำตกที่สวยงามมากๆ แล้วเราอาจเปรียบเทียบขึ้นมาว่า “น้ำตกนี้สวยงามราวกับภาพวาด”

ฟังแล้วก็ดูปกติ แต่มันฟังดูแปลกเหมือนกัน เมื่อน้ำตกจริงๆ ที่อยู่ตรงหน้ากลับถูกเทียบกับความงามของภาพวาดน้ำตกปลอมๆ เสียอย่างนั้น

ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นในระบบทุนนิยมได้เช่นกันซึ่งเรียกได้ว่าภาวะ “ความวิตถารของสินค้า” หรือการที่เรานำ “วัตถุบางอย่าง” ไปเชื่อมกับนามธรรม จนทำให้ความหมายของมันแตกต่างไปจากทีแรก

เหมือนน้ำตกจริงที่ถูกเชื่อมเข้ากับความงามของน้ำตกปลอม

“ความรวย” ในระบบทุนนิยมก็เช่นกัน

 

ดังนั้น หากผมลองตอบมิตรสหายนักวาดการ์ตูนท่านนั้น พอถึงจุดหนึ่งมันไม่ได้เป็นความโลภ หรือเทคนิคการบริหาร ไม่ใช่การนำเงินไปต่อเงิน รักษาสถานะทางเศรษฐกิจ หรือการสะสมมูลค่าส่วนเกิน

หรือพูดง่ายๆ ในจุดหนึ่งพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ได้ทำเพื่อรักษาบริษัท

แต่พวกเขาเชื่อมโยงความรวยของพวกเขากับนามธรรมหลายอย่าง ซึ่งไม่มีตัวตนถูกสร้างขึ้นมา

และผมเชื่อว่านี่คือแรงผลักที่สำคัญมากกว่าความโลภ

ความโลภเป็นเชื้อไฟแรก แต่หลังจากนั้นมันเป็นนามธรรมอื่น

เข้าในลักษณะ Greed is Good หรือความโลภคือสิ่งดีงามและนำสู่สิ่งดีงาม

พวกเขาไม่ได้ทำงานหนัก ความรวยถึงจุดหนึ่งของพวกเขาไม่ได้เกิดจากการทำงานของพวกเขาเองเลยด้วยซ้ำ

แต่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงนามธรรมความรวย เข้ากับการทำงานหนัก อดทน เสียสละ ทนยากลำบาก

ซึ่งแท้จริงแล้ว คนที่ทำให้พวกเขารวยขึ้นต่างหากคือคนที่ทำงานหนักและยากลำบากในชีวิต

เช่นเดียวกันกับที่พวกเขาเข้าใจว่า ความรวยคือความเหมาะสมคู่ควรกับสิ่งที่พวกเขาได้อุทิศมา

แน่นอนว่าทั้งหมดมันไม่ได้สุจริต ซื่อตรง แต่เมื่อพวกเขารวยขึ้นมันก็จะถูกยอมรับได้โดยง่าย

สุดท้ายปลายทาง นามธรรมหรือคุณค่าต่างๆ ในความหมายที่ดีก็อยู่ข้างพวกเขาทั้งหมด ทั้ง “ซื่อสัตย์ ทำงานหนัก ฉลาด วางแผน มีเครือข่าย เป็นที่รัก น่าเคารพ”

การสะสมความรวยมากขึ้นของพวกเขาเมื่อเชื่อมกับนามธรรม ในลักษณะ “วิตถารของสินค้าแบบนี้” จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่รู้จบ เพราะตัวเลขเงินในบัญชีหรือมูลค่าทรัพย์สินยังพอคำนวณได้ว่า คุณ “รวยที่สุดในประเทศแล้ว” “มีทรัพย์สินเท่ากับคนครึ่งประเทศแล้ว” “มูลค่าหุ้นของคูณสูงที่สุดในตลาด” หรือ “เงินที่คุณมีสามารถใช้ไปได้อีก 500 ปีทั้งครอบครัวโดยไม่ต้องทำงานอะไร”

ทั้งหมดนี้มันยังพอมีตัวชี้วัดว่า คุณก็พอได้แล้ว

 

แต่เมื่อคุณเชื่อมความรวย กับความดี ความงาม ความซื่อสัตย์ อำนาจ อภิสิทธิ์ เครือข่าย ความฝัน อุดมการณ์ ความปรารถนาต่อโลก

มันไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่มีตัวชี้วัดว่าเพียงพอเมื่อไร

และคงพอเป็นเหตุผลได้ว่าทำไมคนรวยถึงหยุดรวยไม่ได้

มันไม่ใช่เรื่องธุรกิจและการรักษาสถานะทางทางเศรษฐกิจ

แต่เป็น “ความวิตถาร” อย่างล้นเกินที่ระบบโครงสร้างโลกทุนนิยมสร้างมา

เหมือนเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบการเรียนรู้ให้คุณทำสิ่งที่ซ้ำ ทำได้ดีขึ้น มีกลวิธีขูดรีดแรงงานอย่างแยบยล สะสมทุนได้ข้ามศตวรรษ

แต่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำมันเพื่ออะไร และโลกได้อะไรจากความรวยนี้

เมื่อคนรวยไม่สามารถหยุดรวยอย่างล้นเกินได้ด้วยตัวเอง

จึงจำเป็นที่สังคมต้องออกแบบให้เกิดการเฉลี่ยทรัพยากรที่เหมาะสมในสังคมต่อไป