ทบทวนเส้นทางเสด็จ ‘พระนางจามเทวี’ กับทีม ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ กันอีกครั้ง ณ ซีคอน บางแค

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ใครที่เป็น FC ของคุณ “อดิศักดิ์ ศรีสม” เจ้าของและผู้ผลิตรายการสารคดีชื่อดัง “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” พลาดไม่ได้นะคะกับกิจกรรมพิเศษที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม ศกนี้ ณ ลานอเนกประสงค์ชั้นล่างของห้าง “ซีคอนสแควร์ บางแค” เวลา 13.00-14.30 น.

สืบเนื่องจากการที่ดิฉันได้รับเชิญจาก “อาจารย์รำพัด โกฏแก้ว” เจ้าของ “เฮือนม่อนฝ้าย” นักจัดการศิลปวัฒนธรรมล้านนาแถวหน้าระดับชาติ ให้มาเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “พระนางจามเทวี ราชนารีสามนคร จากลวปุระสู่หริภุญไชยและเขลางค์” เนื่องในงานมหกรรมวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งทางห้างซีคอนสแควร์ บางแค ได้มอบหมายให้อาจารย์รำพัดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีสืบเนื่องมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว

โดยปีนี้อาจารย์รำพัดได้กำหนด Theme งานนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จขึ้นมาสู่ลำพูน (หริภุญไชย) ของพระนางจามเทวี โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองลพบุรี (ลวปุระ) และในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระนางยังได้แผ่ขยายดินแดนไปช่วยโอรสแฝดน้อง “เจ้าอนันตยศ” สร้างเมืองลำปาง (เขลางค์นครและอาลัมพางค์) ณ ลุ่มน้ำวังอีกด้วย

อาจารย์รำพัดได้เห็นว่าตัวดิฉันได้ทำการวิจัยและเรียบเรียงหนังสือเล่มสำคัญคือ “พระนางจามเทวี ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ” ให้กับสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

และต่อมายังได้มีรายการ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ของคุณ “อดิศักดิ์ ศรีสม” ทุ่มเทสมองและจิตวิญญาณจัดทำสารคดีชุดดังกล่าวคู่ขนานกันอย่างละเอียดอีกด้วยจำนวน 3 ตอน โดยออนแอร์ในห้วงเวลาเดียวกัน

ส่งผลให้ผู้คนที่ชื่นชอบสนใจในประเด็นเรื่องปริศนาของตัวพระนางจามเทวีในแง่มุมต่างๆ ก็ดี หรือสนใจเรื่องเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวีว่าตกลงใช้แม่น้ำสายใด ผ่านจุดไหนบ้างก็ดี ติดตามกันอย่างกว้างขวาง ทั้งหนังสือที่ดิฉันเขียน และทั้งคลิปวิดีโอที่รายการประวัติศาสตร์นอกตำราผลิตขึ้น

รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งจำลองรูปโฉมอันงามงดของพระนางจามเทวี ณ วัดทิพย์อักสรอมรอินทร์ (วัดน้อยวังสะแกง) อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน

จนกระทั่งช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ดิฉันในนามของนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในฐานะตัวแทนจังหวัดลำพูน จับมือกับทางเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าลำปาง จัดกิจกรรมใหญ่ระดับภูมิภาคล้านนาชื่องาน “สายสัมพันธ์สองนครา หริภุญไชย-เขลางค์” มีขึ้นที่หน้าลำปางมิวเซียม หรือศาลหลักเมืองลำปาง ระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2566 ภายใต้ชื่อที่ทางฝ่ายลำปางใช้สืบเนื่องจากต่อปีก่อนๆ ว่า “ข่วงหลวงเวียงละกอนครั้งที่ 3”

กิจกรรมครั้งนั้น ดิฉันได้จัดทำบอร์ดนิทรรศการพิเศษชื่อ “พระนางจามเทวี ราชนารีสามนคร จากลวปุระสู่หริภุญไชยและเขลางค์” ขึ้น จำนวน 7 บอร์ด เป็นการขยายเนื้อหาของชื่อหนังสือเดิมที่ใช้เพียงแค่ “ราชนารีสองนคร” กลายเป็น “ราชนารีสามนคร” (เพิ่มเขลางค์มาอีกหนึ่งนคร) ซึ่งอันที่จริงเนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าว บทที่ 6 (บทสุดท้าย) ก็มีเรื่องราวของการแผ่ขยายดินแดนจากหริภุญไชยไปสู่เขลางค์นครอย่างละเอียดอยู่แล้ว

ตัวอย่างบอร์ดนิทรรศการสองชุดที่จะนำเสนอในงาน ชุดแรกสีฟ้าคือ “พระนางจามเทวีราชนารีสามนครฯ” กับชุดสีส้มคือ “พระเครื่องเมืองลำพูน”

เมื่อข้อมูลทุกอย่างเหมาะเจาะลงตัว ทั้งบอร์ดนิทรรศการก็จัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว มาสอดคล้องต้องตรงกันพอดีกับ Theme ที่อาจารย์รำพัดกำหนดนำเสนอต่อซีคอนบางแคในปีนี้ ว่าต้องการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูปูชนียบุคคลผู้เป็นปฐมกษัตรีย์ของนครหริภุญไชย-เขลางค์ นาม “พระนางจามเทวี” ให้เป็นที่รู้จักกันในเชิงลึกมากขึ้นกว่าข้อมูลเดิม องค์ความรู้เดิมที่คนทั่วไปเคยทราบ

อีกทั้งอยากให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนเน้นประเด็นเรื่อง “เส้นทางเสด็จ” อันยาวไกลถึง 7 เดือนโดยชลมารค (ทางน้ำ) จากลพบุรีถึงลำพูน ว่าพระนางแวะพัก ณ จุดใดบ้าง ปัจจุบันยังหลงเหลือชื่อบ้านนามเมืองอยู่บ้างไหม หากเหลือยังมีที่ใดกี่แห่ง เพื่อจะได้ให้ผู้มีศรัทธาต่อปฐมกษัตรีย์ศรีลำพูนพระองค์นี้ สามารถติดตามร่องรอยในเชิงการไปเยี่ยมเยือนสักการะ ต่อยอดด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสืบสานต่อด้านการสืบค้นประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชิงลึกได้ต่อไป

ภาพวาดตอนฤๅษีวสุเทพถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แด่พระนางจามเทวี ตอนอภิเษกพระนางขึ้นเป็นปฐมกษัตรีย์หริภุญไชย วาดด้วยสีน้ำมันสไตล์อาร์ตนูโว ที่หอเจ้าพ่อเตโค อ.เมืองลำพูน

นำมาซึ่งกิจกรรมสำคัญท่ามกลางบรรยากาศกาดหมั้วคัวฮอม ดนตรีพื้นเมือง สะล้อซอซึง การแสดงละครเวที นาฏศิลป์ ที่นำโดย ครูแอ๊ด ภาณุทัต อภิชนาธง และน้องอ้อม รัตนัง ธิดาศิลปินล้านนาชื่อดัง “พ่อครูบุญศรี รัตนัง” กับกิจกรรมสาธิตงานหัตถศิลป์ล้านนาของชาติพันธุ์ต่างๆ

อาทิ การทอผ้าฝ้ายสามสีของชาวลัวะบ้านก้อทุ่ง หรือการเจาะกะลามะพร้าว (ล้านนาเรียกกะโหล้ง) ของชาวกะเหรี่ยงบ้านน้ำบ่อน้อย (ชาวกะเหรี่ยงเรียกกะลามะพร้าวว่า ขอกือ) ต.นาทราย หลังวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ทั้งสองชุมชนอยู่ใน อ.ลี้ จ.ลำพูน

คุณอดิศักดิ์ ศรีสม พิธีกรชื่อดัง เจ้าของและผู้ผลิตรายการ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ให้เกียรติมาร่วมเสวนาที่ซีคอน บางแค วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม ศกนี้

ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ท่ามกลางบรรยากาศที่อวลอบไปด้วยวัฒนธรรมล้านนา ก็คือเวทีเสวนากึ่งวิชาการ (ไม่ได้วิชาการจ๋าจนเกินไป) ระหว่างดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้เขียนหนังสือเรื่องพระนางจามเทวี กับพิธีกรหนุ่ม ผู้ผลิตรายการสารคดีประวัติศาสตร์นอกตำรา คุณอดิศักดิ์ ศรีสม งานเสวนานี้มีขึ้นระหว่างเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ลานชั้นล่างของห้างซีคอน บางแค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมรับฟัง

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถซื้อหนังสือพระนางจามเทวีพร้อมลายเซ็นของดิฉัน (ซึ่งไม่ค่อยได้ฝากวางจำหน่ายที่อื่นมากนัก ส่วนใหญ่ต้องสั่งซื้อตรงทางไปรษณีย์) กับชมบอร์ดนิทรรศการที่ดิฉันย่อยมาจากความหนากว่า 300 หน้า ให้อ่านแบบง่ายๆ

อนึ่ง เวทีเสวนาวันนั้น นอกจากจะคุยเรื่องเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีแล้ว หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังมีประเด็นใดที่คาใจเกี่ยวกับพระนางจามเทวีในทุกมิติ สามารถสอบถามและร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของท่านต่อวิทยากรได้

เนื่องจากเรื่องราวของพระนางจามเทวีนั้น เป็นสิ่งที่ระบุในตำนานอันไกลโพ้น

คุณอดิศักดิ์ ศรีสม พิธีกรชื่อดัง เจ้าของและผู้ผลิตรายการ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ให้เกียรติมาร่วมเสวนาที่ซีคอน บางแค วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม ศกนี้

เรื่องราวทั้งหมดที่เรารับรู้ ล้วนเกิดจากการตีความของนักวิชาการจากรุ่นสู่รุ่น ผิดบ้างถูกบ้าง แต่ก็ควรค่าต่อการศึกษา สืบค้น วิเคราะห์ และไม่ควรหยุดถกเถียงตีความอย่างเด็ดขาด เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาเรื่องพระราชประวัติของราชนารีสามนครผู้นี้ ไม่ได้ทำให้เรารู้จักเฉพาะชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งคนเดียวเท่านั้น

ทว่า เรายังสนุกไปกับการตั้งคำถามว่าในสมัยของพระนางราว 1,300 กว่าปีมานี้ ผู้คนนับถือศาสนาอะไรกันแน่ พุทธแบบไหนหรือ? นิกายอะไร พุทธปนไสย พุทธปนพราหมณ์ เถรวาทหรือมหายาน รวมไปถึงอะไรเป็นแรงดลใจให้ราชนารีนางหนึ่งต้องดั้งด้นขนคนขึ้นไปอย่างทุลักทุเลแบบฉับพลันทันด่วนมากถึง 7,500 ชีวิต (ตัวเลขตามตำนาน) ในขณะทรงพระครรภ์อ่อนๆ ซ้ำสวามีหนีไปบวชอีก?

ไปเพื่อนั่งเป็นนางพระญาแห่งขุนน้ำเมืองเหนือ โดยที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับฤๅษีผู้สร้างเมืองมาก่อนเลยหรือ? มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดเล่า? ฤๅเคยมีสัมพันธ์กันในฐานะลูกสาวบุญธรรมก่อนจะมาเป็นสุนิสา (สะใภ้) กษัตริย์ละโว้ ครั้นเมื่อบ้านเกิดเมืองนอนตกต่ำย่ำแย่ จำต้องกลับไปกอบกู้ซากเดนให้เมืองมาตุคามกลับมารุ่งเรือง

หรือพระนางจามเทวีไม่ได้ถูกเชิญ ทั้งไม่ได้มีสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้นกับทางลำพูนแต่อย่างใดเลย ทว่า พระนางถูกพระบิดาซึ่งเป็นกษัตริย์ละโว้ ส่งตรงให้ไปครอบครอง “บ่อเหล็ก” อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรของชาวลัวะแถวลี้-บ้านโฮ่ง เพราะเหล็กเป็นโลหะหลักในการสร้างความเจริญในยุคนั้น

ทั้งหมดที่เขียนมานี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ พอเรียกน้ำย่อยเท่านั้น รอพบกันวันจริงนะคะ มาร่วมกันจัดหนักจัดเต็ม ในทุกประเด็นที่ท่านสงสัย •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ