Making the Disappeared Appear กระบวนการเปิดเผยสิ่งที่ถูกลบเลือนไปในประวัติศาสตร์ ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อว่า

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานศิลปะในเชิงคอนเซ็ปช่วล

เธอสนใจในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

และตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิต

รวมถึงสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์อื่นๆ ผ่านผลงานหลากสื่อหลายแขนงอย่างงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, วิดีโอจัดวาง และศิลปะจัดวางปฏิสัมพันธ์ (Interactive installation)

วันทนีย์ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 53 ในปี 2007, เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2022 และเทศกาลศิลปะนานาชาติ The 7th Anyang Public Art Project (APAP7) 2023

เธอยังแสดงนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก

อย่างนิทรรศการ BIENALSUR, The State of Things ที่ Museum of Contemporary Art of Rosario อาร์เจนตินา, นิทรรศการ Watch and Chill: Streaming Art to Your Homes ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ M+ ฮ่องกง, นิทรรศการ ERRATA : COLLECTING ENTANGLEMENTS AND EMBODIED HISTORIES ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่, นิทรรศการ A Life Beyond Boundaries (The Geography of Belonging) ที่ JWD Art Space กรุงเทพฯ, นิทรรศการ Displace, Embody ที่ UP Vargas Museum ฟิลิปปินส์, นิทรรศการ Transocean Express ที่ Galer?a Presen?a โปรตุเกส และนิทรรศการเดี่ยว A Broken Ladder และ The “end of history” will not come tomorrow ที่ Gallery VER กรุงเทพฯ

วันทนีย์ยังเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการเดี่ยวในโครงการ Artist-to-Artist ในงานแสดงศิลปะร่วมสมัย Frieze London ที่คัดเลือกโดย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช อีกด้วย

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในการทำงานของวันทนีย์คือการทำงานในเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมองระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ

ผลงานของเธอเป็นการพยายามทำความเข้าใจและแสดงการเคารพสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ที่มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ ทั้งในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน และความรักความผูกพัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานร่วมกับ บอยซ์ (Beuys) นกแก้วแอฟริกันเกรย์ (ที่เธอหยิบยืมชื่อมาจากของ โจเซฟ บอยซ์ (Joseph Beuys) ศิลปินชาวเยอรมันยุคหลังสงครามผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะ) ในผลงานชิ้นสำคัญของเธอหลายต่อหลายชุด

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 วันทนีย์นำเสนอผลงาน Making the Disappeared Appear (2023) หรือ กาลก่อนกลืน ผลงานวิดีโอจัดวางเฉพาะพื้นที่ ที่สืบค้นความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์ และผลกระทบจากการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ

ผ่านผลงานที่บันทึกเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหล่าบรรดาสัตว์ที่เคยดำรงอยู่ และหายสาบสูญไปจากพื้นที่ในเชียงแสน เชียงราย หรือดินแดนล้านนา ที่บอกเล่าโดยคนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่

ผ่านภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นจากการใช้เวลาศึกษาและลงพื้นที่หาข้อมูลอย่างเข้มข้นจริงจัง

ผลงานของวันทนีย์ขับเน้นให้ผู้ชมเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และวัฒนธรรม รวมถึงการพัฒนาเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้สัตว์เหล่านี้ถูกลบหายไปจากพื้นที่แห่งนี้ ทั้งในเชิงกายภาพในธรรมชาติ และในเชิงประวัติศาสตร์ หรือในความทรงจำของผู้คน

“จุดเริ่มต้นของงานชุดนี้คือ เมื่อเราลงพื้นที่ในอำเภอเชียงแสน เราค้นพบว่าในเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองเก่า นั้นมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จากหนังสือ มังรายศาสตร์ ที่บันทึกไว้ว่าเคยมีแรดในเมืองเชียงแสน จากตัวกฎหมายที่พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับราคาของแรดในยุคสมัยนั้น”

“เรายังค้นพบภาพพิมพ์ชิ้นเล็กๆ ของนักมานุษยวิทยา ที่เขียนภาพของแรดในเมืองเชียงแสนเอาไว้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราคิดว่าอยู่ดีๆ ก็มีสิ่งมีชีวิตที่เราไม่คิดว่ามันจะมีมาก่อนที่นี่ สิ่งนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า เมื่อ 700 กว่าปีก่อน เราสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดในเมืองเชียงแสน ที่หายไปด้วยเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาพื้นที่ของเมือง”

“หลักฐานการมีอยู่ของสัตว์เหล่านี้ไม่เพียงพูดถึงตัวของพวกมันเอง หากแต่ยังพูดถึงหลายสิ่งหลายอย่างรอบๆ ตัว อย่างประเด็นทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แห่งนี้”

“เราก็เลยตามร่องรอยตรงนั้น จนทำให้เจอหลายๆ สิ่ง เราคิดว่าแรดที่หายไปอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การคิดหรือการมองในสิ่งอื่นที่มากกว่าเรื่องของแรดตัวเดียว”

“ในขณะเดียวกัน พอเราตามร่องรอยไปเรื่อยๆ เราก็ค้นพบทั้งความเชื่อ และความจริงหลายๆ อย่าง ซึ่งเราสนใจว่าจะทำงานกับลักษณะเหล่านี้ได้ยังไง”

“พอเราตามจากรอยแรด เราก็ไปค้นพบหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร (ต.แม่ยาว จ.เชียงราย) ซึ่งเลี้ยงช้างไว้ทำมาหากิน เราก็สืบค้นว่าช้างเหล่านี้มาจากไหน ก็พบว่ากะเหรี่ยงและช้างเหล่านี้อพยพมาหากินแถบนี้ เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้พวกเขาไม่มีที่อยู่ จนต้องอพยพลงมา”

“จากช้าง เราก็ตามไปอีก เราก็พบว่า ในช่วงสงครามเย็น มีคนเห็น นกกระเต็นเฮอร์คิวลิส เป็นสัตว์ป่าที่อพยพมาอยู่ที่เชียงแสน ซึ่งกล่าวกันว่า ถูกพบเห็นเป็นตัวแรกและตัวเดียว ก็ถูกจับไปสตัฟฟ์ เพื่อเก็บเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย”

“จากนั้นเราก็ตามไปจนเจอเรื่องของเสือไฟ ซึ่งเป็นสัตว์ในตระกูลแมว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนล้านนา ว่าหนังเสือไฟสามารถช่วยไล่ผีได้ จนทำให้มันถูกล่าจนกลายเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์”

“เรายังสนใจเรื่องของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นสายน้ำที่เป็นหัวใจของชุมชนทั้งหมด และระบบนิเวศอันสำคัญในพื้นที่แถบนี้ ไม่เพียงแค่ระบบนิเวศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องราวของ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อีกด้วย”

“เรายังสนใจการขับร้องพื้นบ้านของล้านนาอย่าง จ๊อยซอ ซึ่งเป็นวัตนธรรมมุขปาฐะ ที่เล่าเรื่องราวสืบต่อกันมาผ่านเสียงเพลง เป็นเหมือนไดอารีที่พูดถึงชีวิตในชุมชนท้องถิ่น โดยเราเอาเนื้อหาที่เราแต่งให้นักแต่งเพลงจ๊อยซอชาวล้านนา แปลงเป็นเพลงพื้นบ้านแบบจ๊อยซอ และขับร้องออกมา เพื่อใช้เป็นเสียงประกอบในงานชุดนี้”

“เราหยิบเอาสิ่งเหล่านี้มาถ่ายทอดผ่านงานวิดีโอจัดวางในงานชุดนี้ โดยถ่ายทำเนื้อหาเรื่องราวในพื้นที่ของเมืองเชียงแสนที่เราค้นพบเหตุการณ์เหล่านี้”

เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอันน่าเหลือเชื่อว่าเคยมีอยู่ในเมืองแห่งนี้ ถูกร้อยเรียงผ่านผลงานวิดีโอจัดวาง 5 จอ ที่จัดแสดงในห้องมืดของพื้นที่โกดังใหญ่อันว่างเปล่า ส่งผ่านภาพ เสียง และเรื่องราวในผลงานชุดนี้ให้สร้างความรู้สึกอันน่าพิศวงและกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราตั้งคำถามและอดคิดตามไปกับศิลปินอย่างช่วยไม่ได้

จะว่าไป ผลงานชุดนี้ของวันทนีย์ก็มีนัยยะที่ไม่ต่างจากชื่อผลงาน นั่นคือการพยายามพูดถึงสิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึง และทำให้สิ่งที่ไม่ปรากฏหรือสูญหายไปในอดีตกาล ปรากฏขึ้นแก่สายตาของผู้คนในปัจจุบันนั่นเอง

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “Making the Disappeared Appear (2023)” ของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน ช้างแวร์เฮ้าส์ (โกดังห้วยเกี๋ยง) ทางหลวงหมายเลข 1290 อำเภอเชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคํา

เปิดให้เข้าชม (ฟรี) ทุกวัน เวลา 09:00-18:00 น.

แถมท้าย เผื่อมิตรรักแฟนศิลปะท่านใดตระเวนดูงานศิลปะจนท้องหิว เราขอนำเสนอร้านอาหารเด็ดโดนใจในเมืองเชียงแสน แนะนำโดย กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

เริ่มจากร้านกาแฟอย่าง Gravity Cafe’ & More, Bake Time Coffee&Bakery, มองดูน้ำคาเฟ่, Star Doi Coffee

หรือร้านอาหารเที่ยงอย่าง ร้านข้าวเปียกเส้น เจียงแสน แม่หล้า, ร้านอาหารเวียงเหนือ โรงแรมอทิตา เชียงแสน, ร้าน See eye to eye, ร้าน Dé Balcony Chiang Saen Cafe & Restaurent, ร้านข้าวซอยน้อยเหรียญทอง

และร้านอาหารเย็นอย่าง ครัวอารยา เชียงแสน, ร้านครัวเจตนาริมโขง, ร้านครัวโจรสลัด, Golden time cafe& restaurant, ร้านอาหารจีนยูนาน เลียบแม่น้ำโขง, ร้านเขยเจียงแสน ร้าน Mekong Pizza

ปิดท้ายในยามค่ำคืนกับร้าน Ba(r)nana เชียงแสน ใครสนใจก็แวะไปชิมกันได้ตามอัธยาศัย •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์