NO ‘Q&A’ ไม่มีนายกฯ 2 คน ไม่มีปรับ ครม.

นักเรียนวิชากฎหมายเบื้องต้นทุกคน จะต้องถูกสอนให้รู้จักคำว่า de facto หรือโดยพฤตินัย กับ de jure หรือโดยนิตินัย

เพราะเวลาจะดูวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ จะดูแต่กระดาษ จะดูแต่กฎหมาย คำสั่งทางการ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูบริบท ดูความเป็นจริง นั่นคือดูพฤตินัยด้วย

เช่นเดียวกับคำถามที่กำลัง “ฮอต” ช่วงนี้ว่า ประเทศไทยมีนายกฯ กี่คน

โดยนิตินัย คือ นายเศรษฐา แต่นายกฯ ในทางพฤตินัย คือนายเศรษฐาคนเดียวใช่ไหม?

คำถามเรื่องประเทศไทยมีนายกฯ กี่คนไม่ได้ลอยมา แต่เหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นรอบหลายเดือนที่ผ่านมาต่างหาก ที่นำมาสู่คำถามนั้น

 

ตลอดหลายเดือนของการนั่งเก้าอี้นายกฯ ของนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องยอมรับว่านายเศรษฐาเป็นคนที่เก็บอารมณ์ดีกว่าผู้นำฯ คนเก่ามากในหลายๆ สถานการณ์

แต่จับสายตา ท่าทางของนายเศรษฐาล่าสุด จังหวะถูกสื่อมวลชนรุมถามเรื่องความกังวลประเทศไทยจะมีนายกฯ 2-3 คน และการปรับ ครม.ที่จะโยงกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หลังประชุม ครม.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ก็จะเห็นท่าทีหงุดหงิด

นายเศรษฐาตอบสวนนักข่าวที่ถามเรื่องนี้ทันทีว่า “คำถามนี้ไม่ควรถาม” พร้อมแสดงสีหน้าออกอารมณ์ไม่ปลื้ม จนสื่อหลายสำนักถึงกับพาดหัวว่า “ฉุน”

อันที่จริง ย้อนกลับไปตั้งแต่หลังตั้งรัฐบาลชุดนี้ ก็มีการถามคำถามนี้มาต่อเนื่อง

ปลายเดือนตุลาคม 2566 นายเศรษฐาเองก็เคยหลุดปากพูดกับสื่อมวลชนวันไปดูหนังเรื่องสัปเหร่อ กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ระหว่างที่ช่างภาพขอให้นายกรัฐมนตรีหันซ้ายและขวา เพื่อถ่ายภาพทุกมุม นายกฯ กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “นายกฯ คนไหน มีสองคนนะ”

เช้าวันต่อมากลายเป็นข่าว ทำให้นายเศรษฐาต้องไปโพสต์ตอบกลับสื่ออาวุโสว่า ประเทศไทยมีนายกฯ “คนเดียวครับ เศรษฐา ทวีสิน”

 

จะเห็นได้ว่า คำถามเรื่องนายกฯ 2-3 คน ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด แต่ที่มาถามกันหนักมากช่วงนี้เป็นเพราะนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดของพรรคเพื่อไทยเพิ่งถูกพักโทษออกมา

นั่นจึงเป็นที่มาของการเดินทางเข้าไปพบนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพราะทันทีที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเคลื่อนไหว คนในสังคมโดยเฉพาะนักการเมืองเพื่อไทยย่อมรู้ว่าที่นี่คือ “ศูนย์กลางอำนาจการเมือง” ที่แท้จริงในวันนี้

การเดินทางไปเยือนของนายเศรษฐาสะท้อนความตั้งใจที่จะให้สังคมเห็น นัยยะหนึ่งคือเพื่อตอกย้ำสถานะและความสำคัญของนายเศรษฐาเอง ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับ ครม.และ ความร้อนแรงของคำถาม “ประเทศไทยมีนายกฯ กี่คน?”

“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการกระทำ วันนี้บอกผมไม่ใช่นายกฯ คนเดียว ก็ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานของผม ยังทำงานทุกวันเหมือนเดิม ยังลงพื้นที่ทุกวันเหมือนเดิม ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้โกรธ ไม่ได้น้อยใจอะไรทั้งสิ้น…” นายเศรษฐากล่าวเปิดใจหลังการเข้าพบนายทักษิณ

ขณะที่ท่าทีของ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาวนายทักษิณ ยิ่งชัดเจนถึงความไม่พอใจต่อคำถามนี้

จังหวะผู้สื่อข่าวถามเรื่องที่มีการวิจารณ์ประเทศไทยมีนายกฯ 2 คน หลังนายเศรษฐาเข้าพบนายทักษิณ น.ส.แพทองธารถึงกับถอนหายใจยาว ก่อนตอบคำถามว่า ตอนนายเศรษฐาเพิ่งขึ้น ตอนอยู่กับดิฉันก็บอกมีนายกฯ 2 คน อยู่กับคุณพ่อก็บอกมีนายกฯ 2 คน ขอให้คุณเศรษฐาทำหน้าที่ของเขาไปดีหรือไม่ ไม่ต้องพูดเรื่องนี้หรือไม่ ส่วนที่ตอนนี้มีกระแสมีนายกรัฐมนตรี 3 คนรวมถึงดิฉันด้วย…” จังหวะนี้ น.ส.แพทองธารถอนหายใจอีกรอบ และกล่าวว่า “อิ๊งเป็นแม่ที่ลูกเป็นไข้อยู่ค่ะ”

ก่อนที่ น.ส.แพทองธารจะขอความร่วมมือจากนักข่าวไม่มาปักหลักที่หน้าบ้าน

ขณะที่ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และอื่นๆ ต่างส่งสัญญาณ “เมิน” ต่อคำถามดังกล่าว เป็นเรื่องปกติของการไปปรึกษาหารือต่างๆ จากผู้มีประสบการณ์ พร้อมยืนยัน ไม่บั่นทอนการทำงานของรัฐบาล

 

แน่นอนว่าหลังจากนี้การเดินทางไปเยี่ยม/เข้าพบนายทักษิณ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า “หัวกระไดไม่แห้ง” เพราะไม่ว่าอย่างไร สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยวันนี้ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องฟังคำแนะนำจากบ้านจันทร์ส่องหล้า

มีคำถามว่า ประเด็นนายกฯ 2-3 คน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เกิดจากการ “ปั่น” ของขบวนการการเมืองฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่?

ถ้าคำตอบว่า “ใช่” แปลว่าผู้ตอบตามไม่ทัน (หรือจงใจตามไม่ทัน) ความคิดความเห็นของผู้คน

อย่าลืมบริบทการเมืองไทยช่วงหลังการเลือกตั้ง 2566 ว่าคนไทยต้องเจอกับอะไรมาบ้างในทางการเมือง

เหตุการณ์ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิด ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น นักเลือกตั้งชาวไทยก็พลันได้เห็นกันหมด หลังการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา

รัฐบาลสูตรพิเศษอันเกิดจากการ “พลิกขั้วเปลี่ยนข้าง” การร่วมใจกัน “แกง” พรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 หรือที่ผู้สื่อข่าวให้ฉายาว่า “แกงส้ม” นั่นแหละ คือปัจจัยสำคัญของการ “ตื่นตัวทางการเมืองใหญ่”

แถมยังเป็นจุดจบของความขัดแย้งทางการเมืองยุคสมัยหนึ่ง เปลี่ยนผ่านมาสู่ชุดความขัดแย้งใหม่

นั่นคือ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยอย่างไม่อาจฝืนได้ แม้จะรู้สึกเจ็บปวด แต่ทำได้อย่างเดียวคือทำใจรับสภาพ

มากกว่านี้คือ นายเศรษฐาจะต้องเจอกับเรื่องแบบนี้อีกไปจนตลอดอายุรัฐบาล

 

ต้องย้ำว่าคำถามและคำตอบเรื่องประเทศไทยมีนายกฯ กี่คน สะท้อนความคิดความอ่านร่วมสมัยของผู้คนในสังคม

เพราะนายทักษิณ คือบุคคลสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในการเมืองไทยรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา วิวาทะทางการเมืองสำคัญที่ผ่านมา ไม่มากก็น้อย ล้วนมี “นายทักษิณ” หรือสิ่งที่เขาทำ เป็นส่วนประกอบสำคัญของการดีเบต

แต่เพราะสถานการณ์การเมืองวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว

พรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา หรือจะย้อนไปถึงพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย แปลว่านายทักษิณไม่ได้รับความนิยมเช่นเดิม

การกลับมาของนายทักษิณในหนนี้ หากนายทักษิณจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระดานการเมืองไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง การ “เดินหมากทางการเมือง” ย่อมต้องเปลี่ยนไปแบบที่นายทักษิณเองก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องทำ

วันนี้สถานการณ์พรรคเพื่อไทยที่มีนายทักษิณเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด ไม่ใช่การเดินหน้า “ประคอง” ความนิยม หรือสร้างความนิยมทางการเมือง แต่คือการ “กอบกู้” และ “ฟื้นฟู” ศรัทธาทางการเมืองกลับมาให้ได้มากที่สุด

แต่ปัญหาก็คือวันนี้เพื่อไทยอยู่ในวงล้อมของ “พลังอนุรักษนิยมจารีต” การต้องกอบกู้ความศรัทธาทางการเมืองจากประชาชน ภายใต้ทรัพยากรที่ควบคุม/ครอบนำโดยระเบียบที่วางไว้โดยฝ่าย “อำนาจเก่า” อาจไม่ใช่สิ่งที่วัฒนธรรมการเมืองแบบทักษิณถนัดนัก

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยหลังจากนี้จึงพยากรณ์ได้ว่าไม่มีอะไรอยู่ในระดับ “หวือหวา” ยังทรงตัวเช่นนี้ต่อไป

บางทีอาจจะต้องรอให้ ส.ว.ชุดนี้หมดจากอำนาจ หรืออาจจะต้องรอให้ทิศทางการมี “รัฐธรรมนูญใหม่” ชัดเจนมากขึ้น ความเป็น “เพื่อไทย” และ “วัฒนธรรมการเมืองแบบทักษิณ” อาจจะปรากฏได้อย่างเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

 

แต่กว่าจะถึงวันนั้น ไม่รู้ว่าจะเหลือ “แพชชั่น” กันอยู่ไหม

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพื่อไทย แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้การทำงานของนายเศรษฐายังมี “แพชชั่น” อยู่

จากการขึ้นเหนือล่องใต้ ลุยอีสาน บินต่างประเทศ ในนาม “เซลส์แมนประเทศ”

ยิ่งปรากฏการประกาศ 8 วิสัยทัศน์นําไทยเป็นหนึ่งสัปดาห์ก่อน ยิ่งชัดว่า นายเศรษฐายังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเพื่อไทยเวลานี้ ในการประคับประคองสถานการณ์

เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นอะไรที่คนการเมืองพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยเจอมาก่อน ยิ่งนานวัน ยิ่งเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา

แต่หนึ่งในภูเขานั้นที่ขัดขวางเพื่อไทย เอาเข้าจริง ไม่ใช่ “ก้าวไกล” แต่คือ “ประชาชน”

นั่นแหละหนา …คือราคาที่เพื่อไทยต้องจ่าย