ว่าด้วย ‘สี’ แห่งโชคลาภ ของตำรวจไทย

อย่างที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า “การเมืองเลว” ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้ได้ “ตำรวจดี”

การเมืองไทยย้อนกลับไปสู่ความเชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจนับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ไม่มีความโปร่งใส ปฏิเสธการตรวจสอบ วัฒนธรรมอำนาจนิยมครอบงำ

ทุก “หลักการ” ต้องสยบ หลีกทางให้กับหลักแห่งอภิสิทธิ์ชน

ประเทศไทยมีโอกาสได้สัมผัสกันก็แต่เพียงนิติธรรมปลอมๆ

ถึงแม้ปรมาจารย์ด้านกฎหมายจะเคยกล่าวว่า กฎหมายไทยนั้นดีอยู่แล้ว แต่ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของกฎหมายไม่มีความหมายอันใด ถ้า “การบังคับใช้กฎหมาย” ถูกบิดเบือน

ตำรวจที่เป็นด่านหน้าด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นจุดเริ่มต้นของการสอบสวนดำเนินคดี แต่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งอำนาจ ตำรวจถูกใช้เป็นแค่ “เครื่องมือ” สำหรับทำลายฝ่ายหนึ่งกับปกป้องคุ้มครองอีกฝ่ายหนึ่ง

ความเจริญก้าวหน้าของตำรวจจึงไม่ได้วัดกันที่ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านวิชาชีพ

ระบบบริหารงานบุคคลของตำรวจฟอนเฟะเหลวแหลก

เป็นโอกาสของ “มือเก็บ” กับ “คนประจบ”!

 

เร็วๆ นี้ อาจารย์กฤษณพงค์ (รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล) รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต โพสต์ในโลกโซเชียลอ้าง “งานวิจัย” พฤติการณ์การกระทำความของตำรวจทั่วโลกว่า มี 1.ทำความผิดเฉพาะตัว 2.ต่างคนต่างฝ่ายต่างก็ทำผิด และ 3.ทำผิดอย่างเป็นระบบเป็นขบวนการตั้งแต่บนถึงล่าง

ชวนให้ฉงนต่อ “วิวาทะ” ระหว่าง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว หรือ “บิ๊กเต่า” รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ถ้าเปรียบ บิ๊กเต่า กับ บิ๊กโจ๊ก จะว่าไปก็ “คนละเบอร์”

คนหนึ่งแค่ “รอง ผบช.ก.” กับอีกคน “รอง ผบ.ตร.” ที่กำลังจ่อจะขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ผู้นำสูงสุดขององค์กรตำรวจ

หากแต่เมื่อปีที่แล้ว “บิ๊กเต่า” สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพัก “บิ๊กโจ๊ก” โดยที่อ้างภารกิจตรวจค้นหาตัวผู้กระทำความผิดคดีเว็บพนันออนไลน์ “มินนี่”

นั่นเป็นคดีที่เรียกกันว่า “ล็อตที่ 1” มีผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 61 คน เป็นพลเรือน 53 คน และตำรวจ 8 นาย

ในล็อตที่ 1 นี้ “บิ๊กโจ๊ก” มีความเห็นว่า กระบวนการตรวจค้นจับกุมส่อไปในทางกระทบชิ่งทำให้ตัวเองเสื่อมเสียชื่อเสียง

เวลาล่วงผ่านไป ถึงสัปดาห์ที่แล้ว “บิ๊กเต่า” เตรียมดำเนินคดีตำรวจอีก 5 นาย

รายนามเริ่มตั้งแต่ 1.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (ผู้บังคับบัญชา) 2.พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ (นอกราชการ) 3.พ.ต.อ.แดนไพร แก้วเวหล รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 4.พ.ต.อ.นฤวัต พุทธวิโร ผู้กำกับการ ตรวจคนเข้าเมือง สุราษฎร์ธานี และ 5.ส.ต.อ.ณัฐนันท์ ชูจักร ผบ.หมู่ สายตรวจ 3 กองบังคับการจราจร ตำรวจนครบาล

“ต้นธาร” ของการค้นหาความจริง เริ่มที่ตำรวจ!

 

“บิ๊กเต่า” กล่าวว่า “ไม่ต้องกลัวการกลั่นแกล้ง เรากำลังทำพื้นที่สีดำให้เป็นพื้นที่สีขาว ตำรวจสีดำ สีเทา ถ้าโดนกำจัดออกไปเป็นสิ่งที่ดี”

แต่ “บิ๊กโจ๊ก” ประกาศสวนว่า เป็นเรื่องแต่งนิทาน

“น้องๆ พนักงานสอบสวนเตรียมตัวได้เลย ติดคุก!” ในท่ามกลางมรสุม ฉายา “โจ๊กหวานเจี๊ยบ” กลับกลายเป็น “เกรี้ยวกราด”

ก่อนหน้านี้ “บิ๊กเต่า” ได้ให้สัมภาษณ์กับ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ในรายการ “กรรมกรข่าว” อย่างเข้มข้นว่า องค์กรตำรวจมีเมฆดำๆ หรือเทาๆ ปกคลุมอยู่นานแล้ว แต่ตำรวจไม่กล้าลุกขึ้นมาพูดหรือทำอะไร ต้องกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดก่อน แล้วจึงจะไปดูแลพี่น้องประชาชน เลี้ยงตำรวจสีดำเอาไว้เขาจะไม่ทำประโยชน์เพื่อตัวเองรึ

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ หรือบิ๊กเต่า ยังกล่าวกับ “สรยุทธ” ด้วยว่า เหมือน “องค์กรอาชญากรรม” ที่รวบรวมเงินทั้งหมดจากทั่วประเทศหรือบางส่วน รวบรวมเข้ามา มีทั้งคนเก็บ คนรับ คนทำบัญชี มีทั้งนักข่าว มีการสร้างเรื่อง มีคนโปรโมต จนทำให้หัวหน้ากลุ่มเจริญเติบโต เมื่อพบเห็นตรงนี้จึงปล่อยผ่านให้เจริญเติบโตต่อไปไม่ได้

“เราต้องเอาตำรวจสีดำออกจากองค์กร” คำกล่าวที่ขึงขังจริงจังนี้ชวนให้รู้สึกหวาดเสียวแทนว่า จากนี้ไป “บิ๊กเต่า” มีแต่ต้องเดินหน้า ถ้าถอย “หงายหลัง”!

 

คดีนี้ไม่ควรจะโฟกัสที่ “คู่ขัดแย้ง”

การสอบสวนดำเนินคดีตาม “ระบบกล่าวหา” เริ่มที่ “ตำรวจ”

พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อรู้พฤติการณ์แห่งคดี รู้ตัวผู้กระทำความผิด และพิสูจน์ยืนยันการกระทำความผิดนั้น

จะว่าไปแล้ว “ระบบกล่าวหา” ก็มีความแฟร์ แต่เมื่อตกอยู่ในฐานะเช่นวันนี้ “บิ๊กโจ๊ก” กลับมีความเห็นว่า “ป.ป.ช.ใช้ระบบไต่สวน รอบคอบกว่าระบบกล่าวหาของตำรวจ”

แม้แต่ระดับ “รอง ผบ.ตร.” อย่างบิ๊กโจ๊ก ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน และใช้คำว่า “ระบบกล่าวหาของตำรวจ”

“ระบบกล่าวหา” เป็นระบบหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมโลก ไม่ได้เป็นสมบัติของตำรวจ

แต่เหตุที่กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ “ระบบกล่าวหา” นั้นก็เพื่อแยกผู้ทำหน้าที่ “สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน” กับหน้าที่ “ตัดสินชี้ขาด” ออกจากกัน

มุ่งหมายให้มีการถ่วงดุลคะคานและตรวจสอบซึ่งกันและกัน

“ระบบกล่าวหา” ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนข้อบกพร่องของ “ระบบไต่สวน”

“ระบบ” ไม่ได้มีปัญหากับการรับมือคดีอาญาที่เกิดขึ้น

ที่มีปัญหาคือ องค์กรตำรวจ!

 

ภารกิจตำรวจคือ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

“เส้นแบ่ง” ระหว่าง “ผู้รักษากฎหมาย” กับ “อาชญากร” ต้องแจ่มชัด!

ตั้งแต่ระดับรัฐบาล จนถึงผู้นำองค์กรตำรวจทุกยุคสมัยไม่เข้าใจ

ผู้นำทางการเมืองที่มาจาก “นายทหาร” ซึ่งเป็นผู้นำคณะรัฐประหารมักใช้ตำรวจแบบเดียวกับทหาร นั่นคือ ให้ทำตามที่ “นายต้องการ”

ตัวแบบตำรวจที่เจริญก้าวหน้าจึงไม่ใช่ตัวแบบวิชาชีพตำรวจ

องค์กรถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการพัฒนาในด้านกิจการตำรวจ ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมให้เป็น “มือสอบสวน” ที่ตระหนักในหลักนิติธรรม มีความเที่ยงธรรม ให้ความเสมอภาค

อุดมการณ์พิทักษ์รับใช้สังคมของตำรวจบิดเบี้ยวไปเพราะความทะเยอทะยานต้องการเป็นใหญ่

การ “เป็นใหญ่” หมายถึง มีอำนาจมหาศาล

เป็นที่มาของผลประโยชน์มหาศาล

โลกตำรวจวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านั้น จนน่าเชื่อว่า “สีเทา” กับ “สีดำ” ยังคงผาสุกกันไปอีกนาน ส่วน “สีขาว” นั้นไม่แน่ใจว่า มีอยู่จริงหรือไม่

ถ้าหาก “มี” ขอให้ไป “รายงานตัว” กับ ผบ.ตร.โดยด่วน!?!!!