เคลื่อนอยู่ใน ‘ความไหวหวั่น’

ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ว่าทุกวันนี้สภาวะจิตใจของคนไทยมีความอ่อนไหว กังวลกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทางที่ไม่แน่ใจว่าเหตุผลเช่นนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อความเป็นไปทั้งในผลกระทบต่อตัวเอง และผลสะเทือนต่อสังคม

เรื่องราวที่สะท้อนความไม่มั่นคงต่อความเชื่อมั่นในระบบที่ใช้บริหารจัดการประเทศอย่างชัดเจนคือ ความคิดความเห็นต่อการพักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” จากการควบคุมไว้ที่ห้องพิเศษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ให้กลับไปบ้าน ซึ่ง “ครอบครัวชินวัตร” เลือกให้ไปอยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”

ทั้งที่หากประเมินจากการดิ้นรนของ “ทักษิณ” ตั้งแต่ถูกทำรัฐประหารปี 2549 ใช้คดีความมากมายบังคับให้ต้องหลบเลี่ยงการถูกลงโทษ ซึ่งผลก็คือต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ คือ “ต้องการกลับบ้าน”

“ความอยากกลับบ้าน” ที่ยิ่งนานวันยิ่งชัดว่ามีพลังมากที่สุดในการกำหนดความคิด และพฤติกรรมของ “ทักษิณ” กลับเหมือนจะถูกมองข้ามว่าเป็นเหตุหลักของการหากลวิธีให้เกิดการ “พักโทษ”

เพราะอิทธิพลของความหวาดกังวล หรือมุ่งที่การต่อสู้เพื่อเอาชนะคะคาน ทำให้ “การกลับบ้าน” กลายเป็น “เกมการเมือง” ที่ส่งผลต่อความคิดของฝ่ายต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “นางแบก-นายหาม” ที่พากันชี้ถึงผลดีในทาง “ทักษิณ” จะทำให้ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

หากติดตามโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะพบว่ามีความคิดความเห็นมากมายกระจายไปตามแต่ความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มคนที่มีต่อ “ทักษิณ” ซึ่งก่อความโกลาหลไม่น้อย จนเลยจากแค่ “ความอยากกลับบ้าน” ไปไกล

ในบางพวก บางคนถึงขั้นเรียกร้อง “รัฐประหาร” กันไปแล้ว

 

การเกิดความหลากหลายระดับโกลาหลทางความคิดนี้ สะท้อนจาก “นิด้าโพล” สำรวจล่าสุด

ในคำถามว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองหลังได้รับการพักโทษของ “ทักษิณ” ร้อยละ 50.38 คิดว่า “ทักษิณ” จะมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 28.93 เห็นว่าการชุมนุมต่อต้าน “ทักษิณ” จะไม่สามารถจุดติดเป็นการชุมนุมใหญ่, ร้อยละ 26.72 เห็นว่าคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยจะลดลงจากบทบาทที่มากขึ้นของ “ทักษิณ”

ร้อยละ 21.68 ระบุว่าการชุมนุมต่อต้าน “ทักษิณ” จะสามารถจุดติดเป็นการชุมนุมใหญ่, ร้อยละ 19.69 ระบุว่าการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเข้มข้นขึ้น, ร้อยละ 19.24 คิดว่าเร็วๆ นี้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี, ร้อยละ 17.63 เชื่อว่า “ทักษิณ ชินวัตร” จะไม่ยุ่งกับการเมืองอีกแล้ว

ร้อยละ 17.02 เห็นว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ร้อยละ 14.43 ระบุว่าประเทศไทยจะดูเหมือนมี “นายกรัฐมนตรี” สองคน, ร้อยละ 12.21 ระบุว่าศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองยังคงอยู่ที่ “ทำเนียบรัฐบาล”, ร้อยละ 11.15 ระบุว่าศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองจะย้ายไปอยู่ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”, ร้อยละ 11.07 เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนตัว “นายกรัฐมนตรี” จากเศรษฐา ทวีสิน เป็น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร, ร้อยละ 9.54 เห็นว่าคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยจะสูงขึ้นจากบทบาทที่มากขึ้นของ “ทักษิณ”

ร้อยละ 6.11 ระบุว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเป็นมิตรกันมากขึ้น และร้อยละ 10.00 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

เหมือนเป็นธรรมดาอยู่เองที่หากมีเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้น จะเกิดความคิดอันหลากหลาย ด้วยแต่ละคนมีประสบการณ์ และความชอบไม่ชอบที่กำหนดมุมมองต่างกัน

ทว่า หากเป็นสังคมที่มีความเชื่ออย่างหนักแน่นในศรัทธาต่ออะไรสักอย่างที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจร่วมกัน ความคิดความเห็นจะไม่กระจัดกระจายไปมากมาย เพราะจะเป็นสังคมที่มีหลักที่จะนำมาใช้กับการคิดวิเคราะห์ได้

มองจากมุมของ “หลักการการอยู่ร่วมกัน”

สถานการณ์ที่เกิดจากเหตุ “ทักษิณอยากกลับบ้าน” ที่ก่อความโกลาหลทางความคิดนี้ เป็นไปได้ว่าเป็นสภาวะที่จะสะท้อนว่าสังคมประเทศเรา ผู้คนหวั่นไหว รู้สึกไม่มั่นคงต่อหลักการการอยู่ร่วมกัน

ซึ่งสังคมเช่นนี้หากความมี “เสถียรภาพ” ไม่ได้ในทุกมิติ จะส่งผลต่อความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง