‘ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์’ หน้าตาเป็นเช่นไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประเด็นในสังคมไทยมายาวนาน

ราบรื่นบ้าง ขรุขระบ้าง นุ่มนวลบ้าง ร้อนแรงบ้าง

วันนี้ สถานภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กับผู้ว่าการแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กลายเป็นเรื่องราวที่ต้องมีการจารึกเอาไว้

เพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ละม้ายกันในอดีต

เพื่อเป็นแบบแผนสำหรับเหตุการณ์ในวันข้างหน้า

เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวันนี้ไปโดยมีบาดแผลน้อยที่สุดของทั้งสองฝ่าย

แต่ในความเห็นของ “ผู้ว่าการนก” แล้ว ความสัมพันธ์ของเขากับ “นายกฯ นิด” ย่อมจะมีความ “ตึงเครียด” ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างไร

เพราะมันเป็น “ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์ (creative tension) ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางซึ่งดำรงอยู่เสมอเป็นเรื่องปกติ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่ไม่เหมือนกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย”

เป็นส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติกับสื่อ Nikkei Asia ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพื่อตอบคำถามที่โยงกับแรงกดดันที่มาจากรัฐกลางต่อธนาคารกลางที่อยากเห็นการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะรัฐบาลอ้างว่าประชาชนเดือดร้อน มีภาระค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งเศรษฐกิจอยู่ใน “ภาวะวิกฤต” เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของประเทศหดตัวลงเหลือเพียง 1.9% ในปีที่ผ่านมา

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติย้อนว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะโตช้าและต่ำกว่าศักยภาพ แต่ไม่ใช่ “วิกฤต”

อีกทั้งหากลดดอกเบี้ยลงมาตอนนี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ที่รัฐบาลยกขึ้นมาเป็นเหตุผล

เพราะแม้จะลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ทำให้คนจีนมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น และไม่ได้ทำให้จีนสั่งสินค้าจากไทยเพิ่มเติม

อีกทั้งยังจะไม่ช่วยให้รัฐบาลสามารถนำเอางบประมาณปี 2567 ออกมาใช้ได้เร็วขึ้น

ในความเห็นของ ดร.เศรษฐพุฒิ 3 เหตุปัจจัยที่มีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว คือ

การท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

กับการส่งออกที่ยังไม่ฟื้น

และความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณ

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องอัตราดอกเบี้ย

อีกทั้งหากลดดอกเบี้ย “ก่อนเวลาอันควร” ก็อาจจะส่งสัญญาณผิด กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนกู้เงินเพิ่มขึ้น

ซึ่งจะไปซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งไปสู่ 91% ของ GDP แล้ว

 

นายกฯ เศรษฐาโต้กลับว่าทั้ง 3 ประเด็นที่ผู้ว่าการแบงก์ชาตินำมากล่าวนั้นไม่ได้พูดถึง “ประชาชน” เลย

รัฐบาลห่วงปากท้องประชาชนมากกว่าแบงก์ชาติ?

นายกฯ ไม่ได้พูดตรงๆ อย่างนั้น

แต่ก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลอย่างรัฐมนตรีช่วยคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พูดถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่าเป็น “คนอยู่ในหอคอย”

ซ้ำร้ายนี่เป็นส่วนหนึ่งของ “ทุนนิยมไร้หัวใจ” อีกด้วย

 

การแลกหมัดระหว่างคนในรัฐบาลกับแบงก์ชาติร้อนระอุขึ้นตามลำดับ

บางคนบอกว่ารัฐบาลคงอยากจะเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางเป็นคนที่ “พูดกันรู้เรื่อง” มากกว่านี้

แต่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองความเป็นอิสระในฐานะ “มืออาชีพ” ของธนาคารกลางไม่เปิดทางให้ฝ่ายการเมืองปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ง่ายๆ

ยกเว้นจะเป็นความผิดที่ร้ายแรง

ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ปรากฏแต่อย่างไร

จึงมีคำอธิบายจากผู้ว่าการแบงก์ชาติว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนายกฯ นั้นเป็นไปในลักษณะ “ความตึงเครียดที่สร้างสรรค์” หรือ creative tension

อาจฟังดูย้อนแย้งกันอยู่ในตัว

ความตึงเครียดจะสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

 

แต่ความหมายของคำนี้คือสวมหมวกคนละใบ มีหน้าที่ความรับผิดชอบคนละอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้

กำหนดให้รักษาระยะห่างอันเหมาะควร

เพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารนโยบายการเงิน เช่น เรื่องอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

เพราะกลัวจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง

และอาจจะทำลายวินัยการเงินการคลังได้

และนั่นหมายถึงการที่ผู้คนทั้งในประเทศและนานาชาติอาจจะเสื่อมความเชื่อถือในมนต์ขลังของความเป็น “ธนาคารกลางมืออาชีพ”

ที่ต้องตัดสินนโยบายการเงินบนพื้นฐานของหลักวิชาการและการวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์

ที่จะต้องไม่ถูกอิทธิพลอันไม่เหมาะควรของนักการเมืองเข้ามาปนเปื้อน

จึงมีคำว่า “ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์”

ซึ่งแปลว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างบทบาทของธนาคารกลางกับรัฐบาล

เพื่อเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจระหว่างการเมืองกับ technocrats ที่ใช้หลักเศรษฐศาสตร์และวิชาการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน

 

นักการเมืองมีแนวโน้มจะแสวงหา quick win หรือนโยบายระยะสั้นที่สร้างความนิยมทางการเมือง

คนแบงก์ชาติมีความสำนึกที่จะต้องตั้งป้อมไม่ให้ผลประโยชน์ระยะสั้นเหล่านี้มากระทบต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว

แต่ก็ต้องระวังไม่กลายเป็น “รัฐอิสระ” ที่ไม่สนใจไยดีกับความคิดอ่านของคนในซีกการเมือง

จึงเป็นธรรมดาที่จะมีความ “ตึงเครียด” หรือ “ความขัดแย้ง” ที่บางครั้งเรียกว่า role conflict อันหมายความว่าเป็นการออกแบบให้มี “ความขัดแย้งในบทบาทของกันและกัน” เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

หลักปฏิบัติที่ต้องยึดเป้าหมายระยะยาวของชาติโดยไม่ถูกผลประโยชน์เฉพาะหน้ามาบดบังการยืนหยัดทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ และองอาจกล้าหาญนั้นคนแบงก์ชาติยึด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นปูชนียบุคคลมาตลอดจนถึงวันนี้

แต่การมี “ความตึงเครียดอย่างสร้างสรรค์” หรือ “ความขัดแย้งในบทบาท” นั้นไม่ได้แปลว่าฝ่ายนโยบายการเงินกับการคลังของรัฐบาลจะไม่ทำงานร่วมกัน

ตรงกันข้าม หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ

กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติรวมไปถึงสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะต้องประสานกันตลอดเวลา

เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เพื่อปรับแต่งนโยบายให้สอดคล้องกับความผันผวนปรวนแปรที่ยิ่งวันก็ยิ่งจะถี่และรุนแรงมากขึ้นเพราะปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่บางครั้งถูกซ้ำเติมโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึง เช่น กรณีการระบาดของโควิด-19 เป็นต้น

 

โดยทางการแล้ว นายกฯ เศรษฐายืนยันว่าความสัมพันธ์กับผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นไปในลักษณะ “ให้เกียรติซึ่งกันและกัน”

แต่ก็ยังยืนยันว่าจะ “อ้อนวอน” เป็นครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ในที่สาธารณะเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาลดดอกเบี้ย

ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลต่อแบงก์ชาติไม่อาจจะเรียกว่า “เป็นมิตร” นัก

และในบางกรณีบรรยากาศระหว่าง “ทำเนียบรัฐบาล” กับ “บางขุนพรหม” มิอาจจะตีความว่าเป็น “ความตึงเครียดที่สร้างสรรค์” เท่าใดนัก

บางประโยคที่มาจากคนรอบๆ นายกฯ เศรษฐาอาจเข้าข่าย “ความตึงเครียดที่ไม่สร้างสรรค์” ด้วยซ้ำไป

เช่น วลีที่ว่า “อยู่บนหอคอย”

และนอกจากข้อหาว่าด้วย “ทุนนิยมไร้หัวใจ” แล้ว ยังมีการตั้งคำถามทำนองประชดประชันว่า

“ลองไปเดินตลาดบ้างหรือยัง?”

 

“ความตึงเครียดที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์” ระเบิดขึ้นอีกรอบเมื่อนายกฯ ใช้วิธีการ “ส่งเสียงกลางตลาด” เรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรียกประชุมนัดพิเศษ (ก่อนการประชุมที่กำหนดไว้ครั้งหน้า 10 เมษายนนี้) เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25%

การที่ผู้นำฝ่ายการเมือง “ลากเส้นบนทราย” อย่างนี้ย่อมเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผย

ยิ่งทำให้ธนาคารกลางต้องแสดงความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้นอีก

เพราะหากแบงก์ชาติยอมทำตาม “คำเรียกร้อง” ของนายกฯ ก็เท่ากับทิ้งหลักการของความเป็นอิสระของความเป็นธนาคารกลาง

เท่ากับว่านายกฯ เองที่ทำให้แบงก์ชาติยิ่งต้องยึดหลักการที่ “ไม่ยอมให้การเมืองก้าวก่าย” กระบวนการทำงานอย่าง “มืออาชีพ” ของธนาคารแห่งประเทศไทย

“ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์” เคยดำรงอยู่อย่างไรก็ต้องดำรงอยู่ต่อไป ต่อไป

เผลอๆ จะยิ่ง “ตึงเครียด” หนักขึ้นกว่าเดิม เพราะฝ่ายการเมืองต้องการจะสร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน

อย่างนี้คงจะ “ไม่สร้างสรรค์” อย่างที่เราประชาชนอยากจะเห็นและอยากให้เป็นไปเป็นแน่แท้!