SCBX : มุมมอง และความเป็นไป

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยกรณีหนึ่งสะท้อนภาพใหญ่ ระบบธนาคารพาณิชย์ใหญ่ไทยในความเป็นไป

ความเคลื่อนไหวหนึ่งซึ่งผู้คนสนใจกันมาก เกี่ยวกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในนามใหม่ ตั้งใจให้มีมิติกว้างขึ้น-บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

“คณะกรรมการ (บริษัท) พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 10.34 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 34,816 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 ตามงบการเงินรวม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท”

สาระสำคัญรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) เป็นไปตามขั้นตอนทางเทคนิคเพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น (5 เมษายน 2567) อนุมัติต่อไป

เป็นเรื่องฮือฮากันพอควรในแวดวงสังคมธุรกิจไทย ใน 2 ประเด็นที่กล่าวถึงกัน

หนึ่ง – เป็นภาพใหญ่ สะท้อนย้อนแย้ง ระหว่างระบบธนาคารไทย กับภาพรวมทางเศรษฐกิจไทยปี 2566 มองผ่านธนาคารพาณิชย์ใหญ่หลายแห่ง แสดงผลประกอบที่ดีอย่างน่าทึ่ง

สอง – เฉพาะกรณี เอสซีบี เอกซ์ จ่ายเงินปันผลในสัดส่วนสูงอย่างน่าสนใจ ถึง “ร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิสำหรับปี 2566”

นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจย้อนแย้งเช่นกัน กับแผนการใหญ่ขยายเครือข่ายธุรกิจตามโมเดลใหม่

 

ธุรกิจใหญ่ไทยแห่งนี้ เพิ่งผ่านช่วงขยับปรับตัวครั้งใหญ่ จากเรื่องราวกระตุ้นความสนใจสังคมธุรกิจไทยกว่า 2 ปีที่แล้ว (กันยายน 2564) เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ เรียกตนเองว่า SCB Group ได้จัดตั้ง “ยานแม่” ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) “เพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค…”

ไม่กี่เดือนจากนั้น (1 มีนาคม 2565) มีประกาศ กำหนดการซื้อหลักทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็เป็นไปตามแผน

กระบวนการสำคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สิ้นสุดลง เมื่อประกาศให้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งยังใช้เชื่อย่อเหมือนเดิม) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เริ่มซื้อขายวันที่ 27 เมษายน 2565 ขณะเดียวกันได้เพิกถอน ธนาคารไทยพาณิชย์ (ใช้ชื่อย่อใหม่-SCBB) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน “SCB ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก” คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับลักษณะธุรกิจซึ่งสัมพันธ์กันระห่าง SCB กับ SCBB อย่างแยกไม่ออก

ต่อจากนั้น มีเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ต้นปี 2565 (21 มกราคม) ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศแต่งตั้ง ประธานกรรมการบริหารคนใหม่-กฤษณ์ จันทโนทก โดยมีผลและเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการอีก 6 เดือนถัดมา (1 สิงหาคม 2565)

 

อีกมิติที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสนใจมุมมองกว้างทางเศรษฐกิจ ของเอสซีบี เอกซ์ ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนั้น (20 กุมภาพันธ์ 2567) ได้นำเสนอ “คำอธิบายและวิเคราะห์งบการเงินสำหรับไตรมาส 4/2566 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566” ด้วย

“ปี 2566 เป็นปีแรกที่บริษัทฯ ดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้โครงสร้างกลุ่ม SCBX ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมีกำไรสุทธิจำนวน 43.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 จากปีก่อนหน้า กำไรสุทธิของไตรมาสที่ 4/2566 อยู่ที่ 11.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้จากการลงทุน และการควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด” สาระสำคัญโดยย่อของบทสรุปผู้บริหาร ว่าด้วยบทอรรถาธิบายถึงผลประกอบการที่ดีที่สุดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะทางการเงิน” ประกอบ)

เมื่อพิจารณาข้อมูลในรายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่เป็นผลงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ธุรกิจรากฐานดั้งเดิม หรือเรียกว่า Generation 1 หรือ Gen 1 โดยยอมรับว่า “การเติบโตนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะของอัตราดอกเบี้ย”

ขณะที่อีกตอนระบุด้วยว่า “รายได้ค่าธรรมเนียมจะอ่อนตัว”

เชื่อว่าเป็นตามกระแสและบทวิตกวิจารณ์ที่ผ่านมาๆ มีความเชื่อมโยงไม่มากก็น้อย กับบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มเผชิญกับสถานการณ์ Covid-19 โดยได้มีการปรับขึ้น ที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไปแล้วถึง 8 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ย 0.50% (10 สิงหาคม 2565) จนขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50% (27 กันยายน 2566) โดยเฉพาะในปี 2566 มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากถึง 6 ครั้ง

จนมีคำถามที่ดังขึ้นๆ แรงกดดันตามมามากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งมาจากภาคธุรกิจและตัวรัฐบาลเอง ด้วยมีแนวคิดสวนทางกัน ด้วยเชื่อกันอีกทางหนึ่งว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของไทย

ว่าเฉพาะเอสซีบี เอกซ์ กับแผนการใหญ่ใหม่ที่ว่า ดูไปแล้วยังอยู่ในเส้นทางไปไม่ไกลนัก ดังรายงานว่าไว้ “…กลุ่มสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Gen 2) สร้างผลกำไรเล็กน้อย และกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบนิเวศ (Gen 3) มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นเลิศพร้อมเส้นทางที่ชัดเจนในการทำกำไร”

และอีกส่วนหนึ่งก็ว่าไว้

ที่สำคัญว่าด้วยเอสซีบี เอกซ์ กับมุมมองทางเศรษฐกิจกว้างๆ ปีที่ผ่านมา “เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28 ล้านคน ส่งผลให้การจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวต่อเนื่อง ตลาดแรงงานไทยในภาพรวมจึงฟื้นกลับไประดับก่อนโควิด ช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูง” พอให้ภาพสัมพันธ์เชิงบวก บางระดับ

“อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำในปีนี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงในช่วงรัฐบาลรักษาการและความล่าช้าของการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยที่ฟื้นตัวช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวแม้จะมีสัญญาณกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่งฟื้นกลับแตะระดับก่อนวิกฤตโควิด ณ สิ้นปีนี้นับเป็นกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ช้าอันดับท้ายๆ ของโลก”

อีกด้านหนึ่งอีกตอนหนึ่งซึ่งพาดพิงไว้ ไม่แน่ใจว่า เป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร

ในความสัมพันธ์ข้างต้น ได้สะท้อนภาพหนึ่งอย่างชัดเจน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีพลังอิทธิพล มีความเข้มแข็งมากกว่าที่คิด •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com