ย่างสู่ปีที่ 3 อย่างไม่น่าเชื่อ! สงครามยังรบหนักในยูเครน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ย่างสู่ปีที่ 3 อย่างไม่น่าเชื่อ!

สงครามยังรบหนักในยูเครน

 

“สงครามดำรงอยู่ในปริมณฑลของความไม่แน่นอน ซึ่ง 3 ใน 4 ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้น ตกอยู่ในม่านหมอกของความไม่แน่นอน มากบ้างน้อยบ้าง [แล้วแต่เงื่อนไข]”

คาร์ล ฟอน เคลาซวิทซ์ (นักปรัชญาการสงครามชาวปรัสเซีย)

 

เมื่อรัสเซียตัดสินใจเปิดการโจมตียูเครนในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 นั้น คำถามพื้นๆ ที่เกิดขึ้นทันทีในหมู่ผู้นำตะวันตกและผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศว่า ยูเครนจะสามารถยันการบุกของรัสเซียได้กี่วัน คงไม่ต่างจากความคาดหวังที่เป็นคำถามของผู้นำรัสเซียเช่นกันว่า กองทัพยูเครนจะรบได้สักกี่วัน เป็นไปไม่ได้ที่ทหารยูเครนจะรบได้นานหลายวัน… ทุกฝ่ายที่เฝ้าติดตามสถานการณ์เชื่อว่า สุดสัปดาห์ของอาทิตย์นั้น คีฟซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน น่าจะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซีย และธงรัสเซียจะถูกชักขึ้นเหนืออาคารทำเนียบประธานาธิบดีอย่างแน่นอน

ไม่น่าเชื่อเลยว่า กองทัพยูเครนที่มีขนาดเล็กกว่า ทั้งในส่วนของกำลังพลและยุทโธปกรณ์จะสามารถต้านทานการรุกรานของกองทัพของชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซียได้ และได้นานกว่าที่ทุกคนคิด (รวมทั้งประธานาธิบดีปูติน) ผลจากการรุกรานที่เกิดขึ้น ทำให้ยูเครนกลายเป็น “กับดักสงคราม” ที่กองทัพรัสเซียเข้าไปจมปลัก และก่อให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ จนหลายฝ่ายเชื่อว่า 2 ปีที่ผ่านมาของสงครามยูเครน ได้ทำลายศักยภาพและขีดความสามารถของกองทัพรัสเซียลงอย่างมาก แต่ความสูญเสียดังกล่าวมิได้หมายความว่า กองทัพรัสเซียสิ้นอำนาจในการทำสงคราม จนต้องถอนตัวออกจากสนามรบ แน่นอนว่าในความเป็นมหาอำนาจในทางทหารใหญ่ของโลก รัสเซียยังสามารถรบต่อไปได้อีก

ขณะเดียวกันการโจมตีอย่างไม่จำแนกที่เกิดอย่างต่อเนื่องแก่ประชาชนชาวยูเครนนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของชาวยูเครนในขอบเขตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สงครามยูเครนเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของสงครามตามแบบในศตวรรษที่ 21

 

การยันของกองทัพยูเครน

เป็นความไม่น่าเชื่ออย่างแน่นอน เมื่อสงครามยูเครนเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 3 ในปี 2024 และยังไม่เห็นถึงแนวโน้มที่สงครามจะลดระดับลง… ประมาณการเดิมที่คิดว่า สงครามในยูเครนอาจจะรบไม่นานนัก เช่น การรุกทางทหารของรัสเซียในปี 2014 ในการยึดครองไครเมียและดอนบาสนั้น แม้จะมีการรบอย่างหนัก แต่ก็มี “จุดลง” ด้วยการทำความตกลงยุติความรุนแรง (The Minsk Agreement 2014 และ 2015) เพื่อทำให้สถานการณ์สงครามคลายตัวลง แม้จะไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้จริงก็ตาม

จนอาจต้องกล่าวว่า นับจากชัยชนะในการยึดครองดินแดนของยูเครนในปี 2014 แล้ว ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนไม่อาจจบลงได้อย่างง่ายๆ และยิ่งกระแสประชาธิปไตยและกระแสนิยมตะวันตกขยายตัวมากขึ้นในยูเครน พร้อมกับเสียงเรียกร้องในสังคมที่ต้องการพาประเทศไปทางสหภาพยุโรป มากกว่าความต้องการที่จะกลับไปอยู่กับรัสเซีย (เช่นในยุคของสหภาพโซเวียต) และกระแสเช่นนี้เป็น “ข้าศึกที่แท้จริง” ของระบอบอำนาจนิยมของปูติน และเป็นอุปสรรคใหญ่โดยตรงต่อการขยายอำนาจของรัสเซีย

หากพิจารณาในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ความเป็นรัฐมหาอำนาจของรัสเซียไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากยูเครน และอาจรวมถึงเบลารุสด้วย การขยายอำนาจของรัสเซียในการกลับเข้าควบคุมยูเครนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ “ยุทธศาสตร์ปูติน” ที่ไม่ใช่เพียงการหันกลับสู่การสร้างความเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 เท่านั้น หากยังหมายถึงการผลักอิทธิพลของฝ่ายตะวันตกให้ขยับถอยออกไปไกลจากแนวพรมแดนรัสเซียในปัจจุบันอีกด้วย

ฉะนั้น สงครามของปูตินเพื่อเข้าครอบครองยูเครนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครและรวมถึงตัวประธานาธิบดีปูตินเองด้วยที่คิดว่า สงครามจะกินเวลานาน และอาจนานกว่าที่กำหนดไว้แผนยุทธการเมื่อเริ่มการโจมตี… สงครามก้าวจากปีที่ 1 สู่ปีที่ 2 และพิสูจน์ถึงความผิดพลาดใหญ่ของรัสเซีย แต่ผู้นำทหารรัสเซียเองก็เรียนรู้ที่จะปรับตัว ดังจะเห็นได้ว่าในปีที่ 2 นั้น กองทัพรัสเซียสามารถรับมือกับการรุกกลับของกองทัพยูเครนได้อย่างชัดเจน การรุกกลับของยูเครนในปี 2024 ดูจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

สภาวะของสงครามในปีที่ 2 จึงลักษณะของ “สงครามตรึงกำลัง” คล้ายกับปรากฏการณ์ที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในความเป็น “สงครามสนามเพลาะ” ที่กำลังรบของทั้ง 2 ฝ่ายถูกตรึงอยู่กับที่จากอำนาจการยิงของแต่ละฝ่าย กำลังทหารไม่สามารถเปิดการรุกไปข้างหน้าได้มากนัก จนทำให้เกิดการ “ตรึงกำลัง” อยู่กับแนวสนามเพลาะ อันเป็นแนวป้องกันที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรงเพื่อรับการเข้าตีของข้าศึก สงครามจึงรบอยู่ในพื้นที่แคบๆ ที่มีการป้องกันอย่างแข็งแรง และแนวทุ่นระเบิด

ซึ่งทำให้การรุกคืบหน้าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และนำมาซึ่งการสูญเสียอย่างหนักของกำลังพลทั้ง 2 ฝ่าย เช่นการรบที่บัคมุต

 

ความสูญเสีย

หากเปรียบเทียบแล้ว สงครามยูเครนในปี 2023 มีความคล้ายคลึงกับสภาวะที่เกิดในแนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เห็นถึงความสูญเสียของชีวิตทหารจำนวนมาก ดังปรากฏในรายงานของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ซึ่งระบุว่าจนถึงสิ้นปี 2023 กองทัพรัสเซียเสียทหารไปราว 500,000 นาย แน่นอนว่า การเสียทหารไปถึงครึ่งล้านคนกับสนามรบในยูเครนนั้น ต้องถือเป็นความสูญเสียอย่างหนัก (รายงานของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ อ้างอิงใน The Guardian, 6 มกราคม 2024)

อัตราการสูญเสียกำลังพลของรัสเซียในปี 2023 อยู่ที่ 300 นายต่อวัน ซึ่งถ้าความสูญเสียในอัตราเช่นนี้ยังดำเนินต่อเนื่องในปี 2024 จะทำให้กองทัพรัสเซียประสบปัญหาความขาดแคลนกำลังพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นถึงการประกาศรับ “ทหารรับจ้าง” จากภายนอกประเทศ หรือสำหรับทหารรับจ้างจากภายในประเทศก็มีการประกาศให้นักโทษอาสาสมัครไปรบในยูเครน แทนการรับโทษในเรือนจำ

ตัวอย่างที่เห็นได้ในกรณีนี้คือ รัฐบาลเนปาลไม่อนุญาตให้คนของตนเดินทางไปรัสเซียและยูเครน เนื่องจากมีชาวเนปาลที่เข้าร่วมรบกับกองทัพรัสเซียเป็นจำนวนมากกว่า 200 คน และรายงานล่าสุดคือ ทหารรับจ้างชาวเนปาลเสียชีวิต 10 นาย และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าสูญหายมากกว่า 100 นายในสนามรบที่ยูเครน แม้จะมีชาวเนปาลส่วนหนึ่งเข้าร่วมในกองทัพยูเครน แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก (รายงานของกระทรวงต่างประเทศเนปาล อ้างใน The Guardian, 6 มกราคม 2024)

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำรัสเซียพยายามอย่างมากที่จะแสดงให้สังคมในบ้านตัวเองเห็นว่า สงครามอยู่แต่ในยูเครน และจะไม่กระทบกับพื้นที่ของแนวหลังเส้นเขตแดนรัสเซีย-ยูเครน แต่การโจมตีที่เกิดกับเมืองเบลโกรอด (Belgorod) ในช่วงปลายปี 2023 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าสงครามเข้ามาถึง “บ้าน” ของชาวรัสเซียได้จริง การสู้รบมิได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ของยูเครนเท่านั้น

 

สงครามทางอากาศ

ในทางยุทธการนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ากองทัพอากาศยูเครนมีข้อจำกัด และมีความอ่อนด้อยกว่ากองทัพอากาศรัสเซียอย่างมาก กองทัพรัสเซียจึงพยายามอย่างมากในการเป็นผู้ “ครองอากาศ” เหนือน่านฟ้ายูเครน แต่ก็พบจากรายงานของกระทรวงกลาโหมอังกฤษว่า เครื่องบินรบรัสเซียถูกยิงตกอยู่เนืองๆ ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงก่อนคริสต์มาสนั้น เครื่องบินรบรัสเซียแบบซู-34 ถูกยิงตก 3 ลำ จึงทำให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติการทางอากาศต่อพื้นที่ภาคใต้ที่กองทัพยูเครนเปิดการรุกตอบโต้กลับ

การไม่สามารถที่จะเป็นผู้ครองอากาศได้อย่างแท้จริงนั้น ทำให้กองทัพรัสเซียใช้การโจมตีทางอากาศด้วยอาวุธยิงระยะไกล เช่น จรวด หรือการโจมตีด้วยโดรน นอกจากนี้ ยังมีการใช้จรวดจากเกาหลีเหนือในการโจมตีเมืองคาร์คีฟในวันที่ 2 มกราคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานของจรวดจากเกาหลีเหนือในสงครามนี้ ความชัดเจนของหลักฐานคือ ลักษณะของชิ้นส่วนจรวดแตกต่างจากจรวดแบบอิสกานเดอร์ (Iskander) ของรัสเซีย และคล้ายกับจรวดของเกาหลีเหนือมากกว่า

การสูญเสียการครองอากาศทำให้ปฏิบัติการสนับสนุนทางอากาศต่อปฏิบัติการของหน่วยทหารราบรัสเซียไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น การไม่สามารถโจมตีต่อพื้นที่หัวหาดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนิโปร (Dnipro River) ที่กองทัพยูเครนเข้ายึดสภาวะครอง สภาวะของการสูญเสียอำนาจในการครองอากาศตอกย้ำถึงความล้มเหลวของปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียตั้งแต่เริ่มสงคราม และยังเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อปฏิบัติการทางบกของกองทัพรัสเซียด้วย

ในอีกทาง เนเธอร์แลนด์ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ว่าจะส่งมอบเครื่องบินรบแบบเอฟ-16 จำนวน 42 ลำให้ยูเครน และขณะนี้ได้ทำการฝึกนักบินยูเครนแล้ว รอเวลาประกาศการเข้าประจำการของฝูงบินชุดนี้ ซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ส่วนเดนมาร์กพร้อมที่จะมอบเอฟ-16 ให้จำนวน 19 ลำ และรอการยืนยันที่สหรัฐจะขายเครื่องเอฟ-35 ให้เพื่อทดแทนกำลังในส่วนนี้ สำหรับเครื่องจากเดนมาร์กนี้น่าจะส่งมอบให้กองทัพอากาศยูเครนได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ แม้ว่าในอีกด้านของปฏิบัติการทางอากาศคือ “สงครามโดรน” ที่เป็นอากาศยานราคาต่ำ และนำเข้าจากอิหร่าน แต่มีอำนาจการทำลายในระดับที่สร้างความสูญเสียให้กับสังคมได้อย่างมาก

โดยเฉพาะการโจมตีที่อยู่อาศัยของประชาชน และการสร้างความกลัวให้แก่ประชาชน ดังจะเห็นถึงสถิติการสูญเสียชีวิตของชาวยูเครนที่เกิดการโจมตีของโดรน

 

จุดพลิกผัน 2024

ขณะเดียวกันในช่วงปลายปี 2023 สถานการณ์สงครามมีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลสวีเดนตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปในแลตเวียเพื่อป้องปรามการโจมตีของรัสเซีย โดยไม่รอการเข้าเป็นสมาชิกของนาโตแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าว่าเรา “จะไม่เสียเวลารอการให้สัตยาบันสุดท้าย” ในการรับเข้าเป็นสมาชิกของเนโต้ พร้อมกันนี้ บรรดารัฐยุโรปเริ่มส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึง การเตรียมตัวรับภัยสงครามจากรัสเซีย จนต้องยอมรับว่าสถานการณ์สงครามในยุโรปเป็นเรื่องน่ากังวลของปี 2024

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญในปี 2024 คือบทบาทและท่าทีของรัฐบาลอเมริกันในการสนับสนุนด้านการทหารต่อยูเครน ซึ่งมีสัญญาณของอุปสรรคใหญ่จากการเมืองภายใน การลดลงของความช่วยเหลือทางทหารจากวอชิงตันย่อมเป็น “โอกาสทอง” ของกองทัพรัสเซียในตัวเอง และทำให้เกิดคำถามว่า สหภาพยุโรปจะแบกรับความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากส่วนของสหรัฐได้หรือไม่

แน่นอนว่าเรายังไม่เห็นสันติภาพที่ปลายอุโมงค์ยูเครน สิ่งที่เห็นกลับเป็นด้านตรงข้ามคือ โอกาสของสงครามที่อาจจะยกระดับและขยายตัวมากขึ้น พร้อมๆ กับโลกอาจเห็นการรุกใหญ่ของกองทัพรัสเซียอีกครั้งในปี 2024 อันเป็นผลจากข้อจำกัดทางทหารของยูเครน… สงครามยูเครนในปีที่ 3 จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง!