มนุษยธรรมในวงการกีฬา ไทยเปิดโอกาสเด็กผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ ฝึกมวยไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอล กับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์ กว่า 4 เดือนที่ผ่านมา สร้างหายนะเลวร้ายให้กับชะตากรรมของผู้บริสุทธิ์อย่างมหาศาล

โดยเฉพาะเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากที่ต้องเสียชีวิต สูญเสียพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง และต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยจากสงครามที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม

ปัจจุบันมีเด็กชาวปาเลสไตน์ที่ลี้ภัยสงครามเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 18 คน

ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มนักกีฬามวยไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือผ่านไปยัง สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA)

ซึ่งหลังจากการเดินทางทางไกลจากเวสต์แบงก์มายังประเทศจอร์แดน และยากลำบากในการเดินทาง เยาวชนได้มาถึงกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับได้เรียนรู้ทักษะ และเทคนิคกีฬามวยไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง

การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการผนึกกำลังกันของ IFMA นำโดย ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ในฐานะประธาน IFMA ร่วมกับมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ นำโดย พันโทหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล รวมทั้ง สเตฟาน ฟ็อกซ์ ประธาน United Through Sport และ เจนิส ลินน์ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของ IFMA ตามหลักมนุษยธรรมสากล

ทันทีที่เดินทางมาถึง เด็กๆ นักมวยไทยชาวปาเลสไตน์ผู้อพยพลี้ภัยสงคราม นำโดย ชาคร อัลชรูฟ ประธานสมาคมมวยไทยแห่งปาเลสไตน์ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ที่ Winning Post สมาคมราชกรีฑาสโมสร ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ

โดยสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมกับมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) การกีฬาแห่งประเทศไทย และ นายอนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ ประธานอนุกรรมการด้านสวัสดิการกีฬา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงานต้อนรับพิเศษให้กับนักกีฬามวยไทยเยาวชนชาวปาเลสสไตน์ ผู้ลี้ภัยสงคราม ในโอกาสที่เดินทางมาพำนักอยู่ในประเทศไทย และจะมีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยอย่างกีฬา “มวยไทย” ซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์อันทรงพลัง และโด่งดังไกลไปทั่วโลก

คณะของเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์ดังกล่าวเข้าพักที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ซอยสุขุมวิท 11 โดยมีสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) เป็นผู้ดูแล โดย สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA และเจนิส ลินน์ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของ IFMA ได้ลงฝึกสอนให้กับเยาวชนชาวปาเลสไตน์ด้วยตัวเอง

เพื่อช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้เรียนรู้แม่ไม้มวยไทย และสร้างเสริมประสบการณ์ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

IFMA มีแนวคิด “ทุกสิ่งเป็นไปได้ด้วยพลังแห่งมวยไทย” โดยที่ IFMA เชื่อว่าเมื่อคนหนึ่งให้ คนสองก็ได้รับความสุข และตั้งแต่ที่ IFMA ก่อตั้งในปี 1993 การให้คืนผ่านทางมวยไทยได้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ IFMA

สำหรับ “มวยไทย” ได้ถูกสืบทอดต่อกันมากว่า 1,000 ปีจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับมวยไทย เช่นเดียวกับชีวิต จุดมุ่งหมายคือการปลูกต้นไม้ เพื่อหวังร่มไม้ที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้นั่ง และมีประสบการณ์ที่น่าจดจำมากมายผ่านแคมเปญ Sport Is Your Gang เป็นในรูปแบบการบริจาคคอมพิวเตอร์มากกว่า 3,000 เครื่องให้แก่เด็กที่ต้องการในพื้นที่ชนบท

การทำงานในแคมป์ผู้อพยพในประเทศไทย ให้การสนับสนุนแก่ผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่น ได้มีทีมผู้อพยพเข้าร่วมทุกครั้งที่มีการแข่งขันมวยไทยชิงแชมป์โลก IFMA World Championship ตั้งแต่ปี 2014 รวมถึง World Games และ European Olympic Games และรายการอื่นๆ อีกมากมาย

เป็นการส่งข้อความให้แก่โลกเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน และความหวัง เนื่องจากเราเชื่อว่ามีหลายครั้งที่หลายๆ คนไม่มีทางเลือก แต่ครอบครัว IFMA มีเสมอ

IFMA ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหประชาชาติ (UNESCO), Generations for Peace, Peace and Sport, Right to Play ฯลฯ เพื่อทำทุกทางที่เราสามารถเพื่อให้เกิดเยาวชนเกิดรอยยิ้มในชีวิต ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง, ความยากจน, ความขัดแย้ง และการย้ายถิ่น “มวยไทย” ไม่ได้เป็นเพียงกีฬาต่อสู้ แต่มีหลักเป็นรูปแบบชีวิต และให้โอกาสในการพัฒนา, เติบโต, ฟื้นฟู และรอยยิ้ม

ขณะเดียวกันมีกว่า 120 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยมีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มาจากประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน, ซีเรีย, ทางใต้ของซูดาน, ยูเครน และปาเลสไตน์

นั่นเป็นเหตุผลที่ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินการเฉพาะกิจเพื่อให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ประเทศเหล่านี้ เช่น เมื่อทีมชาติยูเครนที่มาก่อน เพื่อเข้าร่วมงาน IFMA World Championships, World Games และ European Games ที่ประเทศไทย เพื่อจะได้มีโอกาสเตรียมการเข้าร่วมการแข่งขัน เป็นการแสดงศักยภาพสูงสุดที่จะเป็นได้ และสำหรับ IFMA จะอยู่ข้างๆ เป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัว IFMA เสมอ

ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) กล่าวว่า ทางเรามองเห็นว่าถ้าเป็นมวยไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ซึ่งครั้งนี้เป็นประเทศปาเลสไตน์ที่มีปัญหาในประเทศ แต่ในเรื่องของกีฬามวยไทยเราก็สนับสนุนเยาวชนเหล่านี้ให้พวกเขามีโอกาสมากขึ้น และได้มาฝึกที่เมืองต้นตำรับของมวยไทย ได้มีการฝึกซ้อม และได้พบกับครูมวยไทยที่เก่งๆ

รวมทั้งให้เขาได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย และมวยไทย มีพาไปดูมวยไทยที่เวทีราชดำเนิน เพื่อให้ได้เห็นว่า ประเทศของมวยไทย วัฒนธรรมของมวยไทยเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนเหล่านี้ โดยเขาก็เรียนมวยไทยอยู่แล้วที่ประเทศเขา ครั้งนี้ให้เขาได้มาพบประสบการณ์ตรงจากประเทศที่เป็นตัวแม่ของมวยไทย

ขณะที่ตัวแทนนักกีฬามวยไทยเยาวชนปาเลสไตน์ ได้กล่าวขอบคุณการต้อนรับที่แสนอบอุ่นของทางประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) และมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งรู้สึกประทับใจสำหรับการเดินทางมาเรียนรู้กีฬามวยไทยบนแผ่นดินแม่ของกีฬามวยไทย ณ เมืองไทยในครั้งนี้

เด็กปาเลสไตน์จะพำนักอยู่ในเมืองไทยจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนจะเดินทางไปที่ซาอุดีอาระเบียต่อจนกว่าสงครามจะสงบลง… •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ