สำนึกการเมืองที่พัฒนาแล้ว

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

สำนึกการเมืองที่พัฒนาแล้ว

 

ปรากฏการณ์ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง หลังอดีตนายกรัฐมนตรีได้สร้างตำนานใหม่ด้วยได้รับ “การพักโทษ” ให้กลับมาอยู่บ้าน ตามกำหนดการที่วางไว้

ไม่เพียงทำให้คนทั่วไปคิดถึงความเก่งกาจสามารถของผู้ได้ชื่อว่า “อัศวินแห่งคลื่นลูกที่สาม” ที่ยังวางแผนให้กับความเป็นไปของชีวิตได้ยอดเยี่ยม เกินกว่าใครจะคาดเดาได้

แม้จะมีเสียงตำหนิติติง และแสดงความไม่พอใจต่อระบบการบริหารจัดการของประเทศ โดยถูกมองไปในทางที่เอื้ออภิสิทธิ์ให้คนบางกลุ่มบางพวกเหนือกว่าคนทั่วไป

แต่ดูเหมือนว่าถ้อยคำเหล่านั้นถูกประเมินแค่เกิดจากความคิดที่ “อคติจากความชังที่สะสมไว้ส่วนตัว” มากกว่าจะมองจากสำนึกแห่งความเป็นธรรมในภาพรวมจากต้นจนถึงปลาย เป็นการมองอย่างตัดตอน เพื่อสนองความคิดตัวเองมากกว่า

กระแสที่หลายคนคิดว่าจะปลุกแรงต่อต้านขึ้นมาสำเร็จ จึงกร่อย และจางลงในเวลาไม่นานนัก

เพราะเอาเข้าจริงผู้ที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องมานานพอ ล้วนแล้วแต่ต้องเปิดใจรับฟังการเสนอมุมมองว่า “เรื่องนี้เป็นเกมการเมือง”

เมื่อฝ่ายหนึ่งถูกกระทำก็มีสิทธิที่จะลุกขึ้นสู้

 

ในเรื่องนี้ อย่าว่าแต่ใครอื่น แม้แต่ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ปกติของนักการเมืองประเทศนี้จะต้องถือเป็นหน้าที่ต้องออกมาต่อต้านความเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะที่ส่อแนวโน้มจะก่อกระแสคัดค้านในสังคม กลับเป็นว่า “พรรคก้าวไกล” ถึงกับออกเป็นแถลงการณ์ด้วยท่าทีเข้าอกเข้าใจต่อ “การไม่ได้รับความยุติธรรมในอดีต” ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งทำให้แรงต้านเจือจางลง

และนี่เองที่ก่อมุมวิเคราะห์ว่า “การเมืองไทยเคลื่อนออกจากแรงกดดันที่เอาแต่ก่อความขัดแย้ง “แตกแยก” แล้ว น่าจะมาสู่การเมืองที่อยู่กับเหตุกับผลที่มีประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมเป็นเป้าหมาย มากกว่าที่สาละวนอยู่กับ “ความชอบ ความชังส่วนตัว” เหมือนในอดีตที่เป็นมาอย่างยาวนาน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เปิดใจรับ “กระแสที่เป็นประโยขน์มากกว่า” ดังกล่าว

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมือง”

เมื่อถามถึง “ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง” ร้อยละ 38.93 มองไปที่ว่า เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง, ร้อยละ 20.08 ห่วงความแตกแยกในสังคม, ร้อยละ 19.39 ไม่กังวลใดๆ เลย, ร้อยละ 11.75 เกรงการใช้ความรุนแรงในสังคม, ร้อยละ 9.54 ห่วงความไม่มีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ

ในคำถาม “เชื่อว่าความขัดแย้งมีพรรคและนักการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่” ร้อยละ 44.73 เชื่อมาก, ร้อยละ 27.18 ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 12.06 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 10.84 ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 5.19 ไม่ตอบ

และเมื่อถามถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ ร้อยละ 29.85 ค่อนข้างกังวล, ร้อยละ 27.02 ไม่กังวลเลย, ร้อยละ 22.75 กังวลมาก, ร้อยละ 19.62 ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 0.76 ไม่สนใจ

 

ผลของโพลสะท้อนว่า ความเชื่อเรื่องความขัดแย้งแตกแยกแม้จางคลายไปจากใจคนหลายกลุ่ม หลายพวก แต่สำหรับในใจของคนส่วนใหญ่ยังเป็นความกังวล

เพียงแต่เป็น “กังวล” ที่ห่วงใน “ผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง” มากกว่าที่จะห่วงในทางเป็นไปที่ไม่ถูกใจ

และเมื่อเป็นความกังวลที่มีความเชื่อว่า “เบื้องหลังเป็นเหตุจากการวางเกมต่อสู้ของนักการเมือง”

การคลี่คลายสู่ภาวะที่ดีขึ้น ไม่เอาความชอบความชังส่วนตัวมาเป็นตัวกำหนดอารมณ์ทางการเมือง น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

อย่างที่บอก “ฝ่ายค้าน” ในยุคสมัยนี้ พัฒนามาสู่ไม่เอาแต่ทำลายล้าง แบบหลับหูหลับตาต่อความเป็นเหตุเป็นผล คิดแค่ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” เหมือนที่ผ่านมา