Museo Aero Solar โครงการศิลปะบอลลูน จากถุงพลาสติกเหลือทิ้งเพื่อทบทวนความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินระดับโลกผู้มีชื่อว่า โทมัส ซาราเซโน (Tomás Saraceno) ศิลปินร่วมสมัยชาวอาร์เจนตินา ผู้อาศัยและทำงานในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เขามักสร้างสรรค์ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของสิ่งมีชีวิต

และมักให้ความสำคัญกับการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และการสำรวจผลกระทบจากสังคมในยุค Capitalocene (ปรากฏการณ์ที่อธิบายเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ทุนนิยมเติบโตและขยายตัวซึ่งแสดงออกให้เห็นในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ถูกใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ)

กว่าสองทศวรรษ ซาราเซโนริเริ่มโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งโครงการ Museo Aero Solar (2007-ปัจจุบัน) หรือมูลนิธิ Aerocene (2015-ปัจจุบัน) ที่รณรงค์ให้เกิดสังคมที่ปลอดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากลัทธิทุนนิยมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ ซาราเซโนนำเสนอโครงการ Museo Aero Solar, open-source and collaborative project since 2007, 2023 ที่เป็นการร่วมมือของชุมชนชาวเชียงราย ในการรวบรวมถุงพลาสติกเหลือใช้มาร่วมกันสร้างเป็นผลงานประติมากรรมจัดวางรูปบอลลูนขาดใหญ่

คล้ายกับสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่กำลังหายใจเข้าออกอยู่

นอกจากบอลลูนที่ว่านี้จะสามารถลอยกลางอากาศได้ด้วยการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนชาวเชียงรายและผู้ที่มาเยี่ยมชมเข้าไปภายในเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจรรมต่างๆ ภายในบอลลูน อย่างการวาดภาพลงบนตัวบอลลูนได้อีกด้วย

ผลงานชิ้นนี้ของซาราเซโน นอกจากจะเป็นการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดขยะพลาสติกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้ผู้คนในชุมชน

ซาราเซโนกล่าวถึงที่มาที่ไปของการสร้างสรรค์โครงการนี้ของเขาในเชียงรายว่า

“ผมใช้เวลาในเมืองเชียงรายกว่า 10 วัน เพื่อเก็บสะสมถุงพลาสติกเหลือใช้จำนวนมากที่นี่ ผลงานชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้คนมากมายในเชียงราย ในวันเปิดให้เข้าชมงาน เรายังเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมกับตัวงาน ทั้งเด็กนักเรียน คนท้องถิ่น และผู้ชม ร่วมกันวาดรูปบนถุงพลาสติก ผลงานชิ้นนี้ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่ผู้คนต่างนำเอาถุงพลาสติกมาให้เราเพิ่มตลอดเวลา”

“ที่ผ่านมา การใช้ถุงพลาสติกอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เวลาที่เราออกไปข้างนอก ซื้ออาหาร เราจะได้ถุงพลาสติกมาอย่างน้อย 3 ถุง พอไปซื้อกาแฟก็จะมีถุงพลาสติกและถุงพลาสติกอีกเรื่อยๆ”

“ดังนั้น เวลาผมไปซื้อของที่ไหน ผมก็มักจะบอกว่า ไม่เอาถุงพลาสติก ผมหวังว่าผลงานชิ้นนี้น่าจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคพลาสติกในชุมชนนี้ได้ ไม่มากก็น้อย”

“โครงการครั้งนี้เกิดจากความคิดที่ว่า เราจะทำให้ฝันร้ายกลายเป็นฝันดีได้อย่างไร”

“เราจะทำให้ดิสโทเปีย (โลกอันมืดมน) กลายเป็นยูโทเปีย (โลกในอุดมคติ) ได้อย่างไร”

“เราจะสามารถรณรงค์ให้มีกฎหมายในการควบคุมการใช้วัตถุดิบอย่างถุงพลาสติก หรือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ได้อย่างไร ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมีกฎหมายแบนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้ว”

“นอกจากจะมีแนวคิดที่สะท้อนถึงการที่มนุษย์มีความเกี่ยวพันกับถุงพลาสติกแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นการทดสอบว่า อย่างน้อยที่สุด ตัวผมเองสามารถบินขึ้นบนอากาศได้ด้วยถุงพลาสติกเหลือใช้เหล่านี้ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับสิ่งที่เราสื่อสารผ่านมูลนิธิ Aerocene ของเรามากว่า 20 ปี ในการคิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ในการบินบนอากาศ”

“ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น มันสามารถบินขึ้นและรับน้ำหนักได้ 1-2 กิโลกรัม แต่งานบางชิ้นของเราสามารถบินขึ้นและรับน้ำหนักคนได้ 1-2 คน โดยอาศัยแค่พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เท่านั้น”

“ผลงานของเราเป็นการหลอมรวมการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างปัญหาขยะพลาสติกที่ล้นเกิน กับจินตนาการและความเป็นไปได้ของเราเข้าไว้ด้วยกัน นี่คือแนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้”

“ก่อนหน้าที่จะเปิดงาน ผลงานชิ้นนี้บินขึ้นไปแล้วสองครั้ง และเราคิดว่าหลังจากไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งนี้จบลง เมื่อเรารวบรวมถุงพลาสติกและภาพวาดบนถุงให้มากกว่านี้ เราจะนำผลงานชิ้นนี้ขึ้นบินอีกครั้ง”

ในทางกลับกัน ถึงแม้ขยะพลาสติกจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน พลาสติกก็เป็นวัตถุดิบที่มีคุณประโยชน์หลายประการเช่นเดียวกัน เพราะอย่างน้อยที่สุด ถ้าไม่มีถุงพลาสติก ซาราเซโนก็คงไม่อาจสร้างผลงานอันน่าทึ่งชิ้นนี้ขึ้นมาได้

“ผมคิดว่าพลาสติกไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาคือมีมนุษย์จำนวนมากใช้พลาสติกจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกัน เราทำโครงการที่ทำให้เกิดการสร้างบทสนทนาในหมู่มิตรสหาย และชุมชนต่างๆ ในหลายประเทศ ด้วยแนวคิดที่ริเริ่มการใช้ถุงพลาสติกซ้ำหลายครั้งในหนึ่งหรือสองปี โดยการล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะถุงพลาสติกหนึ่งใบ สามารถอยู่ได้เป็นเวลานาน”

“ถ้าเราโยนถุงพลาสติกใบหนึ่งทิ้ง มันจะอยู่ไปได้หลายร้อยปีก่อนที่จะย่อยสลาย นั่นหมายความว่า พลาสติกเหล่านี้มีอายุขัยยืนยาวกว่ามนุษย์มากๆ เราจึงควรใช้งานมันอย่างรอบคอบและมีจิตสำนึกรับผิดชอบ ในบางวัฒนธรรมทำเช่นนั้น แต่ก็ยังมีในวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ใช้พลาสติกอย่างไม่ระมัดระวัง จนทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ผลงานในโครงการนี้ของเราคือการใช้พลาสติกอย่างรอบคอบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“นอกจากการนำพลาสติกเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ โครงการนี้ยังเป็นการรณรงค์ในการใช้พลังงานทดแทนอีกด้วย เพราะโดยปกติ เราใช้ก๊าซโพรเพนเป็นเชื้อเพลิงในการทำอากาศร้อนให้บอลลูนอากาศร้อนขึ้นบิน”

“ดังนั้น เมื่อคุณขึ้นบินด้วยบอลลูนอากาศร้อน นั้นเป็นอะไรที่มีความไม่ยั่งยืนอย่างมาก เพราะมันใช้พลังงานจำนวนมาก แต่แทนที่จะใช้การเผาไหม้ของก๊าซโพรเพน เราใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์แทน โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานเลยแม้แต่น้อย”

“งานของเราเป็นบอลลูนเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างจากบอลลูนอากาศร้อนอย่างมาก เพราะมันคือ บอลลูนพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar balloon)”

นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างผลงาน และมีปฏิสัมพันธ์กับตัวงานแล้ว ซาราเซโนและทีมงานยังเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถทำโครงการนี้ขึ้นด้วยตัวเองอีกด้วย

“สิ่งสำคัญเกี่ยวกับโครงการนี้คือ Museo Aero Solar เป็นโครงการที่เปิดเสรีโดยไม่มีลิขสิทธิ์ ทุกๆ คนมีสิทธิ์ในการทำบอลลูนแบบนี้ของตัวเองขึ้นมาได้ คุณสามารถติดต่อให้เราช่วยให้คำแนะนำคุณในการทำได้ แม้จะเป็นการสื่อสารทางไกลก็ตาม”

“ในปีนี้ เรามีโครงการนี้ในเมืองฮอกไกโด ญี่ปุ่น ในเมืองมาร์แซย์ ฝรั่งเศส ในเมืองบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา และในตอนนี้ที่เชียงราย และทุกโครงการเกิดขึ้นจากการช่วยเหลือผ่านการสื่อสารทางไกล และพวกเขาสร้างผลงาน Museo Aero Solar ขึ้นด้วยคำแนะนำ หรือจากเว็บไซต์ https://aerocene.org/ ของเรา”

กับคำถามที่ว่า หลังจากมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งนี้จบลงแล้ว ผลงานชิ้นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปบ้าง ซาราเซโนและทีมงานเผยให้เราฟังว่า

“ชุมชนในเชียงรายแห่งนี้จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับผลงานชิ้นนี้ การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับคนในชุมชนที่สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา โดยปกติ หลังจากที่ผลงานเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันสามารถถูกนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ในสถานที่อื่นหลากหลายสถานที่ มันสามารถเป็นพื้นที่สำหรับชุมชน ถ้าคุณอยากจัดงานเฉลิมฉลอง คุณสามารถใช้ Museo Aero Solar เป็นพื้นที่จัดงานข้างในได้ ถ้าใครอยากใช้สอนนักเรียน จัดงานเต้นรำ งานปีใหม่ หรืออะไรก็ตาม ตอนนี้สิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวเชียงรายแล้ว เราหวังว่าผลงาน Museo Aero Solar แต่ละโครงการ จะถูกใช้งานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ให้มากที่สุดเท่าที่ชุมชนต้องการ”

“โครงการนี้ของเราคือการสะท้อนสิ่งที่โลกทุนนิยมตะวันตกส่งต่อค่านิยมการบริโภคสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างสิ้นเปลืองให้ประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ผลงานในโครงการนี้คือการส่งสารทางการเมืองว่า เราควรจะระมัดระวังเกี่ยวกับแนวคิดในการเชิดชูโลกตะวันตกที่ล่อลวงให้เราบริโภคอย่างล้นเกินด้วยสินค้าที่สร้างขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล”

“เราทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อส่งขยะพลาสติกที่คุณส่งมาให้เรา กลับคืนไปให้พวกคุณ และยังสอนพวกคุณให้บินอีกต่างหาก!”

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน Museo Aero Solar ของ โทมัส ซาราเซโน ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย ถนนธนาลัย ตำบลเวียง เปิดให้เขาชม (ฟรี) ทุกวัน เวลา 09.00-18.00 น. •

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thailandbiennale.org/, https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/499, https://studiotomassaraceno.org/

ขอบคุณภาพจาก GroundControl, ณัฐกมล ใจสาร •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์