มรดกจากเครื่องบินรบ (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 29)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

มรดกจากเครื่องบินรบ

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 29)

 

สงครามและเทคโนโลยีการทหารคือหนึ่งในแรงผลักดันสู่การเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นจุดกำเนิดของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่าง คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต นิวเคลียร์ การบินและการอวกาศ ฯลฯ

แม้แต่ในด้านการแพทย์และชีววิทยา เราก็ได้อ่านเรื่องราวตอนก่อนๆ อย่างการผลิตยาปฏิชีวนะสเกลอุตสาหกรรมช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเรื่องราวของโครงการการระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกส่งต่อสู่กระทรวงพลังงาน (Department of Energy, DOE) ที่กลายมาเป็นผู้ผลักดันโครงการอ่านจีโนมมนุษย์สู่เมกะโปรเจ็กต์ระดับชาติ

สปอนเซอร์ฝั่งเอกชนรายใหญ่ของโครงการจีโนมมนุษย์ก็เป็นมรดกอดีตบริษัทเครื่องบินรบของมหาเศรษฐีนักบินนามว่า Howard Hughes Jr.

Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Hughes เกิดปี 1905 ในครอบครัวเศรษฐีชาวเท็กซัสผู้ร่ำรวยจากการขายเทคโนโลยีหัวขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม

เขาสนใจวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมาตั้งแต่เล็ก ประดิษฐ์วิทยุไร้สายได้เองตอนอายุ 11, มอเตอร์ไซค์ตอนอายุ 12 และเริ่มหัดบินตอนอายุ 14

หลังจากแม่ตายกะทันหันระหว่างตั้งครรภ์และพ่อก็ตายสองปีถัดมาจากโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเขาก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์

Hughes ผู้รับมรดกก้อนโตในวัยเพียง 20 เซ็นสัญญาจะอุทิศเงินให้กับการตั้งศูนย์วิจัยการแพทย์

Hughes ย้ายจากเท็กซัสมาลอสแองเจลิสเพื่อหวังสร้างชื่อในวงการบันเทิง ด้วยแหล่งทุนจาก Hughes Tool Company บริษัทเครื่องขุดเจาะมรดกพ่อ เขาทุ่มเงินไม่ยั้งกับการสร้างและกำกับภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

ผลงานที่ Hughes ร่วมผลิตและกำกับติดชาร์ตประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลรวมทั้งออสการ์

นอกจากนี้ Hughes Tool Company ยังได้เข้าซื้อทั้งค่ายหนัง สตูดิโอ เครือโรงภาพยนตร์ สถานีวิทยุ ฯลฯ

Howard Hughes Jr. มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเครื่องบินรบ
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

ด้วยความสนใจส่วนตัวเรื่องเครื่องบินตั้งแต่เล็ก Hughes ก่อตั้งแผนกการบินภายใต้ชื่อ Hughes Aircraft Company ในบริษัท Hughes Tool Company อีกครั้งที่ Hughes ทุ่มทุนอย่างบ้าระห่ำเพื่อพัฒนาสุดยอดเครื่องบินยักษ์ความเร็วสูงที่เขาหลงใหล

นอกจากงานพัฒนาอากาศยานแล้ว Hughes ยังเป็นนักบินมือฉมังผู้ทำลายสถิติ “บินเดี่ยวรอบโลก” ภายในสี่วันตอนปี 1938 (เรื่องราวชีวิตมากสีสันของ Hughes ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “The Aviator” ในปี 2004 นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio)

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองบริษัทการบินของ Hughes เริ่มรับงานพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานของกองทัพสหรัฐ มีผลงานตั้งแต่เครื่องบินรบ เรดาร์ เลเซอร์ คอมพิวเตอร์ ขีปนาวุธ ฯลฯ

ต้นทศวรรษที่ 1950s Hughes Aircraft Company เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาเอกชนรายใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐและมีรายได้แซงหน้าส่วนธุรกิจเครื่องขุดเจาะน้ำมันไปไกล

ปี 1953 ระหว่างที่ธุรกิจเครื่องบินรบกำลังรุ่งเรือง Hughes ก่อตั้งศูนย์วิจัยการแพทย์ตามคำประกาศของเขาตั้งแต่วัยหนุ่ม

Howard Hughes Medical Institute (HHMI) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานด้านชีววิทยาและการแพทย์

เขาโอน Hughes Aircraft Company มาอยู่ภายใต้ HHMI จนถูกกล่าวหาว่าใช้องค์กรการกุศลแห่งนี้เป็นที่หลบเลี่ยงภาษีให้บริษัทรับเหมาพัฒนาอาวุธและต้องต่อสู้คดีกับสรรพากรอยู่หลายปี

แต่ไม่ว่าจุดมุ่งหมายแท้จริงของ Hughes คืออะไร HHMI ก็กลายเป็นองค์กรเอกชนที่มีบทบาทสำคัญด้านงานวิจัยสายชีววิทยาและการแพทย์

Howard Hughes Medical Institute (HHMI) ศูนย์วิจัยการแพทย์ที่เคยเป็นเจ้าของบริษัทเครื่องบินรบ
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Hughes ตายในปี 1976 แต่ HHMI ยังคงเดินหน้าสนับสนุนงานวิจัยต่อ ตัวเลขทุนสนับสนุนการวิจัยกลับยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจากหลักล้านเป็นหลักสิบล้านและร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี

ในปี 1985 HHMI ขาย Hughes Aircraft Company ให้บริษัท General Motor ได้เงินและหุ้นรวมมูลค่ากว่าห้าพันล้านดอลลาร์และกลายเป็นองค์กรการกุศลที่มีร่ำรวยที่สุดในสหรัฐ

(ปัจจุบัน HHMI ถือกองทุนมูลค่ากว่าสองหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองเพียง Bill & Melinda Gates Foundation เท่านั้น และยังมอบทุนสนับสนุนการวิจัยปีละกว่า 800 ล้านดอลลาร์)

และปี 1985 ก็ดันเป็นปีเดียวกับที่เมกะโปรเจ็กต์จีโนมมนุษย์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ตั้งแต่การประชุมที่ Santa Cruz ตอนต้นปีของ UCSC จนถึงการประชุมที่ Santa Fe ในปีถัดมาของ DOE

อันที่จริง HHMI สนับสนุนงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์มนุษย์มานานแล้ว โดยเฉพาะการสร้างแผนที่ยีน (Gene Mapping) เพื่อระบุตำแหน่งสัมพันธ์ระหว่างยีนต่างๆบนจีโนมโดยอาศัยข้อมูลจากรูปแบบการส่งถ่ายพันธุกรรมร่วมกันของยีน (Genetic Linkage) และศึกษารูปแบบการตัดชิ้นส่วนดีเอ็นเอ ณ ตำแหน่งจำเพาะ (RFLP mapping) นักวิจัยแนวหน้าหลายคนภายใต้การสนับสนุนของ HHMI เริ่มผลักดันให้มีการสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับรวบรวมแผนที่ตำแหน่งต่างๆ ของยีนและชิ้นส่วนบนจีโนม

ดังนั้น เรื่องราวความพยายามอ่านจีโนมทั้งหมดของมนุษย์จึงมาอยู่ในความสนใจของ HHMI ด้วย