กระหึ่มอยู่แค่ในใจ

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

กระหึ่มอยู่แค่ในใจ

 

ในวันที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ไปพบปะประชาชนที่ลพบุรี มีเรื่องหนึ่งที่แม้จะจมหายไปกับกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระแสกางเกงซอฟต์เพาเวอร์ แต่หากผู้เกี่ยวข้องให้ความใส่ใจย่อมต้องถือเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไม่น้อย

นั่นคือการที่มีประชาชนคนหนี่ง แอบยัดกระดาษใส่มือนายกรัฐมนตรี และในกระดาษนั้นมีข้อความขอให้ช่วย “ปราบปรามยาเสพติด”

ที่บอกว่าหากใส่ใจสักหน่อยจะรู้ว่าเรื่องนี้สำคัญในทุกมิติ

ถึงวันนี้ใครที่สัมผัสปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนย่อมต้องรับรู้ปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชนบทคือ “ลูกหลานติดยาเสพติด”

หากไม่หลับหูหลับตา เลี่ยงที่จะมองเห็นต้องได้รับรู้ ได้ยิน ได้ฟังอยู่เสมอว่า ความรุนแรงที่ “ลูกหลานติดยาเสพติด” นั้นก่อความเดือดร้อนให้ชีวิตความเป็นอยู่ของ “พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติโกโหติกา” รวมถึงชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปหนักหน่วง ลูกทำร้ายพ่อ แม่ หลานทำร้ายปู่ย่า ตายาย อาการบ้าคลั่งเพราะเสพยาบ้ามีเกิดขึ้นเป็นข่าวทุกวี่วัน

เป็นความน่าอเนจอนาถของครอบครัว

 

แต่นั่นเป็นแค่มิติด้านความปลอดภัย ยังมีความน่าเศร้าในมิติอื่น อย่างเช่น “ความหวังในอนาคตของลูกหลาน” ซึ่งสำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่แล้ว เป็นความห่วงใยที่สร้างทุกข์หนักเสียยิ่งกว่าเรื่องอื่น มีใครบ้างมองเห็นลูกหลานอนาคตต้องดับลงเพราะยาเสพติดแล้ว ไม่เกิดอาการสิ้นหวัง

ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายถึงกำลังแรงงานวัยหนุ่มสาวไม่พอที่จะดูแลคนเฒ่าคนแก่ เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยความสามารถในการทำมาหากินและสร้างอนาคตที่ดีของคนหนุ่มสาวของแต่ละครอบครัวจมหายไปกับการติดยาเสพติด

เป็นความสิ้นหวังที่ก่อความเศร้าให้ครอบครัวไทยทั่วประเทศ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนด้วยการออกกฎหมายให้การครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ แค่ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด จึงเกิดความเห็นต่างที่ก่อการวิพากษ์วิจารณ์กันหนัก เพราะคนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาจะทำให้สถานการณ์เสพยาเสพติดเลวร้ายขึ้นอีก

แม้ว่าบางส่วนจะเบาใจที่ลูกหลานจะไม่ต้องถูกจำคุกก็ตาม

 

ล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “การแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล”

ในความเห็นต่อ “ผู้เสพยาเสพติด” ร้อยละ 38.09 ให้เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายที่เป็นภัยต่อสังคม ควรถูกจับและลงโทษอย่างจริงจัง, ร้อยละ 25.50 เห็นว่าเป็นผู้ป่วยควรได้รับการบำบัดรักษา, ร้อยละ 23.28 เห็นว่าเป็นผู้ป่วยที่ควรถูกจับเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา, ร้อยละ 12.67 เห็นว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายที่ควรถูกจับลงโทษ, ร้อยละ 0.46 ไม่ตอบ

เมื่อถามถึงความพึงพอใจในผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา ร้อยละ 38.02 ไม่พึงพอใจเลย, รองลงมา ร้อยละ 31.98 ไม่ค่อยพึงพอใจ, ร้อยละ 22.44 ค่อนข้างพึงพอใจ, ร้อยละ 6.64 ระบุว่า พึงพอใจมาก และร้อยละ 0.92 ไม่ตอบ

การที่ประชาชนคนหนึ่งพยายามแอบยื่นกระดาษใส่มือนายกรัฐมนตรี สะท้อนปัญหาความทุกข์ร้อนในจิตใจหลายด้าน

ทางหนึ่งอยากให้ผู้มีอำนาจรับรู้ว่า “ยาเสพติดเป็นปัญหาที่เหลือทน”

ขณะอีกด้านหนึ่งรับรู้ว่า การเปิดหน้าเพื่อร้องเรียนย่อมนำอันตรายมาสู่ตัวเอง ด้วยแวดวงผู้ทำมาหากินกับยาเสพติดนั้นมีความเสี่ยงเกินไปหากเข้าไปทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ทั้งการต้องทนทุกข์ และต้องอยู่ด้วยความกลัวนี้ ทำให้ยาเสพติดเป็นปัญหาที่เกินกำลังของประชาชนทั่วไปที่จะช่วยเหลือตัวเอง

ความกลัวอาจทำให้ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปเรียกร้องให้แก้ปัญหายาเสพติดด้วยเสียงที่ไม่ดังมากพอ แต่ความต้องการให้จัดการเด็ดขาด เพื่อแก้ปัญหาให้ได้นั้นกระหึ่มอยู่ในหัวใจของคนส่วนใหญ่

แน่นอน! ว่าเป็นเสียงที่กำหนดผลเลือกตั้งอยู่ไม่น้อย