สาวบางโพนั้น มาจากไหน

ปริญญา ตรีน้อยใส

หนุ่มหลายคนเชื่อตาม ตู้ ดิเรก อมาตยกุล พากันตะโกนบอกใครๆ ว่า สาวบางโพนั้น โก้จริงๆ

คนหลายคนรู้จักถนนสายไม้ หรือซอยประชานฤมิตร บางโพ แหล่งผลิตและจำหน่ายไม้ เฟอร์นิเจอร์ และงานหัตถกรรมไม้

เจนใหม่หลายคนเลือกบางโพเป็นถิ่นพำนัก ด้วยมีขนส่งมวลชนระบบรางบริการถึงสามสาย คือ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง จากเตาปูน ไปถึงบางไผ่ นนทบุรี และสายสีแดง จากบางซื่อ ถึงศาลายา นครปฐม ทำให้การเดินทางไปไหนๆ สะดวกรวดเร็ว

แต่ดูเหมือนคนเหล่านั้นไม่รู้ว่าบางโพเป็นชุมชนโบราณ และเคยเป็นถิ่นพำนักของชาวญวนมาก่อน

 

ในนิราศภูเขาทอง ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2371 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สุนทรภู่บันทึกไว้ว่า เมื่อเดินทางผ่านบางพลัด ก็ถึงบางโพธิ์

ทุกวันนี้มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ในซอยประชาราษฎร์ 1 แยก 19 ตรงสถานีตำรวจนครบาลบางโพ ติดกับวัดบางโพโอมาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ในแผนที่มณฑลกรุงเทพฯ ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) ระบุวัดบางโพ และคลองบางโพ ที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางทิศตะวันออก ถึงลาดพร้าว และบางกะปิ

ส่วนในแผนที่กรุงเทพฯ ร.ศ.131 (พ.ศ.2454) นอกจากระบุถึงวัดบางโพแล้ว เหนือวัดขึ้นไปยังระบุอีกวัดหนึ่ง คือวัดอนาม

ข้อมูลจากแผนที่ ล้วนแสดงว่าพื้นที่บางโพในอดีตเป็นชุมชนริมน้ำ ในขณะที่พื้นที่ภายในเป็นสวน ต่อเนื่องกับสวนผลไม้อื่นของนนทบุรี ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนในชุมชนว่า สมัยเด็กๆ แถวนี้ยังมีสวนทุเรียนอยู่

รวมทั้งการระบุถึงวัดญวน ที่แสดงว่ามีชาวญวนอาศัยอยู่ที่บางโพมาก่อน

ซึ่งตรงกับข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนชาวญวน ที่มีอยู่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

 

อย่างเช่น ราวปี พ.ศ.2325 องเชียงสือ พร้อมกับผู้ติดตามหนีภัยกบฏ มาที่บางกอก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่บ้านญวน ตรงปากคลองตลาด

ด้วยองเชียงสือนั้น มุ่งที่จะกู้เมืองคืน ในเวลาต่อมา จึงหนีไปกับพวกไม่กี่คน โดยมิได้ทูลลา ทำให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ขัดเคือง สั่งการให้ชาวญวนที่มากับองเชียงสือ ย้ายไปที่บางโพ ให้อยู่ไกลปากอ่าวมากขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2383 ขณะที่ไทยกับเขมรขับไล่ญวนที่เข้ามาในเขมร เกิดโรคระบาดขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงส่งทหารญวนราวหนึ่งพันคนมากรุงเทพฯ ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่บางโพ รวมกับญวนเชื้อสายองเชียงสือ

ด้วยเหตุนี้ บางโพจึงเสมือนเป็นศูนย์รวมแห่งหนึ่งของชาวญวนอพยพ ตรงกับที่ปรากฏในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เมื่อมาถึงบางโพได้กล่าวถึงชุมชนญวน และวิถีชีวิตของชาวญวน ที่ประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำ

 

ชาวญวนที่นับถือพุทธศาสนา เมื่อมาอยู่ที่บางโพ ก็มีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้น คือวัดกว๋างเผือกตื่อ โดยสันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2330 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์อุปถัมภ์มาตลอด โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า วัดอนัมนิกายาราม

หลังจากพระอุโบสถหลังเดิมถูกเพลิงไหม้เมื่อ พ.ศ.2503 และมีการก่อสร้างใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีฉลองพระอุโบสถ เปิดพระรัศมีพระประธาน และทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511

ทุกวันนี้เลยมีแต่วัดญวน ซอยวัดญวน แต่ชุมชนญวนนั้นไม่เป็นที่รู้จัก

เรื่องราวของบางโพ ที่มีความเป็นมากว่าสามร้อยปี เป็นชุมชนที่ผู้คนมาตั้งถิ่นฐาน พร้อมๆ กับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะชาวญวน ที่ต่อมาผสมผสานจนกลายเป็นคนไทย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส