เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยระส่ำ! จีดีพีส่อต่ำศักยภาพ ฉุดขีดแข่งขันดับ

หลายฝ่ายฟันธงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 น่าจะหลุดออกจากเป้าหมายพอสมควร หลังเผชิญกับมรสุมรุมหนัก ทั้งการส่งออกติดลบ การผลิตถดถอย และการลงทุนที่ร่อยหรอลงเรื่องๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มทรุดตัวลง

สะท้อนจากกระทรวงการคลัง คาดปี 2566 จีดีพีเติบโตเพียง 1.8% มีค่ากลาง 1.6-2.0% ลดลงจากปี 2565 ขยายตัว 2.6% สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่าเตรียมปรับจีดีพีปี 2566 อยู่ที่ราว 2% จากเดิม 2.4% สาเหตุมาจากเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 แผ่วลงชัดเจน และเป็นที่มาของการปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2567 อยู่ที่ 2.5-3% ลดจากเดิมที่ 3.2%

ดูแล้วเศรษฐกิจคล้ายจะเป็นโรคซึมเศร้า แม้จะผ่านวิกฤตโควิดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวกลับไม่ได้เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น หากพิจารณาการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มย้ำกุ้ง จีดีพีจาก 7.1% สู่ 5.3% วิกฤตการเงินโลก จาก 5.3% สู่ 3.1% และวิกฤตโควิดจาก 3.1% สู่ 2.2%

จากแนวโน้มดังกล่าว นักวิเคราะห์ต่างมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญคือปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่ 3% รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

 

ฉายภาพจาก “ปราณี สุทธศรี” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาโดยเป็นผลจาก

1. ปัจจัยเชิงวัฏจักรระยะสั้น เศรษฐกิจโลกที่โตจากภาคบริการส่งผลให้การส่งออกสินค้าทั่วโลกในปีก่อนหดตัว สะท้อนจากดัชนีภาคการผลิตของโลก (เอ็มพีไอ) ชะลอตัวต่อเนื่องมา 14 เดือน ส่วนเครื่องชี้ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน

และ 2. ปัญหาเชิงโครงสร้างไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออก ปัจจุบันไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อาทิ ข้าวไทย ผลผลิตต่อไร่ทรงตัวนานกว่า 20 ปี ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 25% ในปี 2546 มาอยู่ที่ 13% ในปี 2565 ไทยเสียแชมป์และกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียตั้งแต่ปี 2555

ขณะเดียวกัน สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในไทยก็ถูกแทนที่จากสินค้าจีน เช่น มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าจากจีนมาไทยในปี 2566 เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดที่ 14%

รวมถึงการแข่งขันภาคท่องเที่ยวไทยที่คู่แข่งกำลังตีตื้นและบางรายแซงไทยไปแล้ว สะท้อนจากดัชนีการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยว (ทีทีดีไอ) ปี 2564 ไทยอยู่อันดับ 36 จาก 117 ประเทศ ใกล้เคียงกับปี 2562 ขณะที่อินโดนีเซียอยู่อันดับ 32 ขยับขึ้น 12 อันดับจากปี 2562 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับ 52 ขยับดีขึ้น 8 อันดับ

ดังนั้น ภายใต้การแข่งขันสูงสิ่งที่ควรเร่งทำ คือ การปรับกฎกติกาจากภาครัฐบาล เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจจากกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน ลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการปฏิรูปนโยบายเชิงโครงสร้าง อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

 

ด้าน “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ระบุถึงความกังวลใจของเศรษฐกิจไทยในมุมมองนักลงทุน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดี และสู้คนอื่นไม่ได้ ถ้าจะให้ไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง เฉลี่ยจาก 3% เป็น 4-4.5% ทุกปี ต้องใช้มาตรการสร้างความสามารถในการผลิตไทยให้พัฒนาขึ้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายดอกเบี้ย

โดยมาตรการจริงๆ รัฐบาลต้องดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องนวัตกรรม และใส่สินเชื่อต่างๆ เข้าไปในโครงสร้างที่เหมาะสม อาทิ เรื่องการเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ การเปิดรับความเป็นดิจิทัล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการเตรียมการส่งออกไปในพื้นที่กำลังเกิดขึ้น เหล่านี้เป็นการเตรียมการไปสู่การทำนโยบายเหมาะสมจะสร้างฐานเศรษฐกิจขยายตัวที่ 4-4.5% ต่อไป

“ยังมีมาตรการอื่นที่รัฐบาลทำได้ โดยเฉพาะการเปิดประเทศ มีการอนุมัติให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ บริษัทข้ามชาติเข้าไทย ส่งผลให้ได้รับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาตรการเหล่านี้ควรทำไปพร้อมกับการช่วยเหลือทางการเงิน และควรทำเป็นมาตรการระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพ” กอบศักดิ์ระบุ

 

ขณะที่ “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่าจากการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวลดลงเหลือเพียง 2-3% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยร่วงลงเร็วจาก 4% เหลือ 3% ปัญหาหลักคือปัญหาเชิงโครงสร้าง หากไม่แก้ไขจะส่งผลในระยะยาว ดังนั้น นอกจากนโยบายการเงินและการคลัง เรื่องโครงสร้างที่ต้องแก้ไขก็เป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย แต่จะใช้นโยบายทางการเงินจะมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจจะทำได้ไม่ตรงจุด ซึ่งนโยบายการเงินจะเข้ามาดูแลเรื่องเสถียรภาพมากกว่า ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างมีมาก อาทิ การขาดประสิทธิภาพแรงงาน แรงงานมีรายได้น้อย การขาดการลงทุน ภาคการส่งออกขยายตัวช้า

ดังนั้น หลายปัจจัยที่เกิดขึ้น จะใช้นโยบายทางการเงินอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำได้ ต้องใช้นโยบายทางการคลัง มาตรการอุตสาหกรรม หรือมาตรการอื่นๆ จากภาครัฐบาลเข้ามาร่วมด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องทำเรื่องระยะยาว เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง แนวทางแก้ไขเร่งด่วน รัฐบาลต้องเร่งทำ อาทิ เจรจาการค้าเสรีกับหลากหลายประเทศ เพราะการค้าเสรีไทยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติที่เห็นหลายประเทศเลือกไทย แต่เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียล้วนดึงดูดต่างชาติได้เช่นกัน

“ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องการลงทุนน้อย การเร่งการเจรจาการค้าเสรียังทำได้ช้า รวมถึงเมื่อเกิดการลงทุนในไทยยังมีอุปสรรค จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไปในระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเกิดการพัฒนาเชิงโครงสร้างแท้จริง เป็นโจทย์ว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างไร” อมรเทพทิ้งท้าย

กระนั้นแล้ว แม้ประเด็นเศรษฐกิจกำลังถกเถียงกันว่าวิกฤตหรือยัง อาจได้รับคำตอบในเร็ววัน หากต้นเหตุยังไม่ถูกแก้ไข และสุดท้ายเศรษฐกิจไทยกลายเป็นผู้ป่วยระยะโคม่าที่ยากเกินจะแก้…