อนาคตบนเส้นด้าย เมื่อนิติสงครามไล่ล่า แกนนำอนาคตใหม่ – ก้าวไกล ยุบพรรค – ตัดสิทธิทางการเมือง

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

การดำรงอยู่ในทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกล – และรวมถึงแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ กำลังสั่นคลอน เหตุอันเนื่องมาจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ

5 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลแขวงปทุมวัน สั่งจำคุก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย และนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร คนละ 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 10,200 บาท จากกรณีที่กลุ่มจำเลยร่วมในการชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 (แฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน)

ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงจะคาดหมายได้, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบกับคนจำนวนมากและเป็นความผิดชัดเจน แต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนคดีการชุมนุมคดีนี้เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นาน หลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ ศาลใช้ระยะเวลาอ่านคำพิพากษานานกว่าการชุมนุมดังกล่าวด้วยซ้ำ สุดท้ายถูกจำคุกถึง 4 เดือน ปรับ 20,200 บาท

 

หากวิเคราะห์คำพิพากษาของศาล ที่จะส่งผลกระทบทางการเมืองตามมานั้น ยังมีความเห็นต่างเรื่องการตีความว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ซึ่งดำรงสถานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล จะถูกตัดสิทธิไม่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ตลอดชีวิต ตามมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจบที่การมีผู้ยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย

ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อนหน้า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74

 

คําวินิจฉัยดังกล่าว ราวกับเป็นการเปิดเวทีให้ “นักร้อง” ได้ทำการแสดง 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เช่นเดียวกับกรณีการสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และเข้าข่ายเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรรมการบริหารพรรคก้าวไกลหรือไม่

เช่นเดียวกับนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธาและพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ บรรดา “นักร้อง” ยังมีความพยายาม “ตรวจสอบจริยธรรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจริยธรรม ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุเห็นใจ ส.ส.ทั้ง 44 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็หวังให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

ขณะที่นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล 44 คน ลงนามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

นายธีรยุทธกล่าวว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการลดทอนสถานะการคุ้มครองสถาบัน โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นโดยวิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา และการใช้นโยบายในการหาเสียงมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อีกทั้งยังเป็นไปตามข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนี้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ด้วย

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ ป.ป.ช.รีบนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 มาตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ และจะต้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 หรือไม่

แม้นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. จะสงวนท่าที ขอให้เข้าสู่ชั้นกระบวนการตรวจสอบก่อนว่า คําร้องเข้าองค์ประกอบหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่ และเป็นฐานความผิดอะไร ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบพยานหลักฐานข้อเท็จจริง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

แต่ชนักที่ปักหลัง ส.ส.พรรคก้าวไกลตอนนี้ ย่อมไม่ใช่สัญญาณที่ดี

 

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ก.ก. ให้ความเห็นกรณีที่มีผู้ไปยื่นร้องสอบจริยธรรม ส.ส.ของพรรค ก.ก. 44 คน ว่าการแก้ไขกฎหมายเป็นสิทธิชอบธรรมของ ส.ส. ในฝ่ายนิติบัญญัติ หากทำไม่ได้ก็ควรมีการโต้แย้งตั้งแต่ต้น ให้ไม่สามารถยื่นจนบรรจุเข้าวาระได้ ทั้งนี้ การพิสูจน์พฤติการณ์ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจะสู้คดีอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ต้องเตรียมตัวสำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด ไม่กังวลหากผลการพิจารณาคดีออกมาในทางลบ และ ส.ส.ทั้ง 44 คนถูกตัดสิทธิ เพราะหากดูจาก ส.ส.ของพรรค และผู้มาร่วมทํางาน มีหลายคนที่มีศักยภาพสูง แม้ว่าจะไม่มี ส.ส. 44 คน แต่อุดมการณ์และวิธีคิดของพรรคจะสืบทอดต่อไปได้

ต้องติดตามอนาคตทางการเมืองของแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ – ก้าวไกลต่อไปว่า จะผ่านพ้นนิติสงครามครั้งนี้ได้หรือไม่