จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (7)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (7)

 

ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

ในยุคของกุบไลข่านยังได้มีการจัดตั้งโรงเรียนกว่าสองหมื่นแห่ง แม้จะเป็นไปได้ที่ตัวเลขนี้อาจสูงเกินจริง แต่ก็เป็นความจริงที่กุบไลข่านทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างสูงยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น กุบไลข่านยังทรงให้การสนับสนุนการละครที่ถูกละเลยจากวัฒนธรรมจีนมานานอีกด้วย ทั้งยังร่วมในการแสดงในบางครั้ง

บทละครในยุคนี้ไม่เพียงให้ความบันเทิง หากยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับคุณธรรม คล้ายกับละครของวิลเลียม เช็กสเปียร์ (ค.ศ.1564-1616) ของทางยุโรป จนยุคนี้ถูกจัดให้เป็นยุคทองของการละคร

ด้วยว่ากันว่ามีบทละครใหม่ที่ถูกนำมาแสดงอยู่ราว 500 เรื่อง และมีอยู่ 160 เรื่องเหลือตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ความเฟื่องฟูของการละครในยุคนี้ทำให้ฐานะของนักแสดงและนักร้องสูงขึ้น และกลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งผิดกับค่านิยมของวัฒนธรรมจีนที่ดูแคลนบุคคลในแวดวงนี้เทียบเท่ากับโสเภณี นางบำเรอ หรืออาชีพอื่นที่ไร้ความสำคัญ

และด้วยความเฟื่องฟูของละครในยุคนี้ก็ได้กลายเป็นรากฐานให้กับงิ้วของจีนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะงิ้วเป่ยจิง (งิ้วปักกิ่ง) ที่มีชื่อเสียง

 

เศรษฐกิจการค้าในยุคของกุบไลข่านแพร่ไปกว้างไกลมากกว่ากองทัพเสียอีก และทำให้จักรวรรดิมองโกลกลายเป็นเหมือนบรรษัทมองโกล ในยุคนี้มองโกลได้รักษาเส้นทางการค้าข้ามจักรวรรดิ และมีคลังจัดเก็บเสบียงอาหารกระจายอยู่ทั่วยี่สิบถึงสามสิบไมล์

คลังเหล่านี้มีสัตว์ที่ใช้ในการขนส่ง โดยจะมีผู้นำทางให้แก่พ่อค้าผ่านภูมิประเทศที่ยากลำบาก จากเขตแดนการค้าที่กว้างไกลเช่นนี้ทำให้กุบไลข่านมีปศุสัตว์เป็นของพระองค์เองอีกด้วย

ปศุสัตว์เหล่านี้ตั้งอยู่ในเปอร์เซียและอิรัก ซึ่งมีอูฐ ม้า แกะ และแพะเป็นสัตว์เลี้ยงหลัก ในขณะที่พวกมองโกลในเปอร์เซียจะส่งสิ่งของให้แก่เครือญาติของตนที่อยู่ในจีน สิ่งของที่ว่าได้แก่เครื่องเทศ เหล็ก อัญมณี ไข่มุก และผ้า

ส่วนราชสำนักมองโกลในจีนก็จะส่งเครื่องถ้วยชามและยาไปยังเปอร์เซียเป็นการตอบแทน การค้าในยุคนี้ดำรงอยู่ได้แม้จะเกิดการศึกในบางครั้ง

ที่สำคัญคือ ในยุคนี้ยังมีการขยายการค้าไปสู่ดินแดนใหม่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมทางการเมืองอีกด้วย ด้วยการส่งเสริมให้ข้าแผ่นดินชาวจีนหลายพันคนให้อพยพไปตั้งสถานีการค้าที่เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ชวา และสุมาตรา

และเป็นการขนส่งทางเรือที่มีขึ้น-ล่องตามแม่น้ำไปยังท่าเรือ โดยที่หลังจากนั้นชาวจีนเหล่านี้ก็ค่อยๆ ขยายไปประกอบอาชีพอื่นในเวลาต่อมา

การที่ชนชั้นสูงมองโกลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้านี้ทำให้เห็นว่า ชนชั้นสูงมองโกลไม่ได้มีค่านิยมดังชนชั้นสูงชาวจีน ที่เห็นว่าการค้าเป็นสิ่งที่ไร้เกียรติ สกปรก และไม่ถูกครรลองคลองธรรม อีกทั้งยังเห็นว่าพ่อค้ามีฐานะสูงกว่าหัวขโมยเพียงชั้นเดียว

ซึ่งชาวมองโกลไม่เห็นด้วยกับค่านิยมภายใต้ทัศนคติเช่นนี้ของชาวจีน

 

จากเหตุนี้ จักรวรรดิมองโกลจึงเลื่อนฐานะของพ่อค้าให้อยู่เหนือทุกศาสนาและทุกอาชีพอย่างเป็นทางการ จะเป็นที่สองรองจากข้าราชการเท่านั้น ส่วนบัณฑิตในลัทธิขงจื่อก็ถูกลดจากชั้นสูงสุดของสังคมจีนลงมาเช่นกัน คือลดลงมาให้มีฐานะต่ำกว่าโสเภณี แต่เหนือกว่าขอทาน

อย่างไรก็ตาม ด้วยการส่งเสริมการค้าดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเรียกขานสินค้าบางชนิดในเวลาต่อมาเช่นกัน ตัวอย่างที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ก็เช่นสินค้าจำพวกผ้า

เช่น ผ้าไหมที่มีเนื้อเรียบลื่นและเป็นมันที่รู้จักกันในตะวันตกว่า ผ้าซาติน (satin) นั้น ได้จากชื่อของเมืองท่าเซย์ตุนของมองโกล ผ้าหรูชั้นสูงที่เรียกว่า ผ้าไหมดามัสก์ (damusk silk) ได้จากชื่อเมืองดามัสกัสที่เป็นเมืองที่สินค้าทั้งหมดจากเปอร์เซียจะถูกส่งไปยุโรป

หรือผ้าเนื้อละเอียดประณีตที่มาร์โค โปโล ได้กล่าวว่าทำในเมืองโมซุล (Mosul) ก็คือผ้าเมาสลิน (mouslin) ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ หรือผ้ามัสลิน (muslin) ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น

 

ผลงานของกุบไลข่านยังมีไปถึงการจัดทำปฏิทินขึ้นมาใหม่อีกด้วย ปฏิทินนี้ถูกทำขึ้นให้ใช้ได้กับทุกดินแดนที่ยึดครองอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งจะต้องมีการคำนวณในทางดาราศาสตร์ในแต่ละดินแดนให้สอดคล้องกัน

จะว่าไปแล้ว กุบไลข่านก็ไม่ต่างกับจักรพรรดิจีนบางพระองค์ที่มีผลงานเป็นที่กล่าวขานตรงที่ว่า ผลงานดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ใช้อำนาจทางการทหารมากำราบดินแดนต่างๆ ได้แล้ว ระหว่างที่ใช้อำนาจเช่นนั้นย่อมสร้างความทุกข์ระทมให้แก่ราษฎรในดินแดนเหล่านั้น

ครั้นเวลาผ่านไปอำนาจดังกล่าวก็ถูกใช้ไปในทางเศรษฐกิจ และสร้างความรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่ราษฎรหรือดินแดนเหล่านั้น โดยหลังจากนั้นต่อมาความเสื่อมจึงได้คืบคลานเข้ามาเมื่อจักรวรรดิเกิดความอ่อนแอ

 

ผลสะเทือนจากอำนาจอันกว้างไกล

การขยายดินแดนของมองโกลตั้งแต่สมัยเจงกิสข่านมาจนถึงสมัยกุบไลข่านนั้น ทำให้จีนมีขัณฑสีมาที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้การขยายดินแดนนี้มิใช่ฝีมือของชาวจีนโดยตรง

แต่เมื่อขยายได้สำเร็จ สิ่งที่ไหลบ่าเข้าไปยังดินแดนเหล่านี้กลับคือวัฒนธรรมจีนเป็นกระแสหลัก และเมื่อกล่าวเฉพาะในส่วนของจีนเอง การยึดครองจีนหลังโค่นล้มซ่งไปแล้วก็ยังความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน

ผลสะเทือนในประเด็นแรกก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนในเรื่องของชนชั้น เพราะเมื่อชาวจีนอยู่ใต้ปกครองของมองโกลแล้ว ชาวจีนก็ย่อมมิใช่พลเมืองชั้นหนึ่งอีกต่อไป และทำให้โครงสร้างทางชนชั้นในสังคมจีนเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โดยในช่วงปลายรัชสมัยของกุบไลข่านนั้น พบว่า ใน ค.ศ.1290 ทะเบียนราษฎร์จากการสำรวจของของหยวนระบุว่า ครัวเรือนในขณะนั้นมีอยู่ราว 13.19 ล้านครัวเรือน และคิดเป็นจำนวนประชากร 58,834,711 ล้านคน

ตัวเลขนี้ถูกระบุในเวลาต่อมาว่า ยังมิได้รวมประชากรในมณฑลอวิ๋นหนันที่มองโกลเพิ่งตีมาได้ไม่นาน และที่อยู่กระจัดกระจายตามจังหวัดหรือเมืองต่างๆ ที่มีพื้นที่ต่ำชื้น และตามภูเขา หรือที่อยู่ตามอารามในรูปของภิกษุสงฆ์หรือนักบวช

ตลอดจนในกองทัพและทาสในครัวเรือนหรือทาสติดที่ดิน