ยุทธการ 22 สิงหา หยิก ‘เล็บ’ เจ็บถึง ‘เนื้อ’ ปม ทัศนะ เป็น อันตราย

สาระนิยาย Psy ฟุ้ง

 

ยุทธการ 22 สิงหา

หยิก ‘เล็บ’ เจ็บถึง ‘เนื้อ’

ปม ทัศนะ เป็น อันตราย

 

ย่างเข้าเดือนพฤษภาคม 2551 สถานการณ์ทางการเมืองทวีความร้อนอย่างยากที่ปัดปฏิเสธได้

ไม่ว่าการวางยาต่อ “สถานะ” นายยงยุทธ ติยะไพรัช

ไม่ว่าการรุกคืบเข้าไปไล่ต้อน นายจักรภพ เพ็ญแข ผ่านปลายหอกแห่งการนำเสนอ “ทัศนะ” อันเป็น “อันตราย”

การดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” จึงเป็นความละเอียดอ่อน

หากเทียบกับ “นักเคลื่อนไหว” ที่แวดล้อมอยู่โดยรอบพรรคพลังประชาชน อาจกล่าวได้ว่า นายจักรภพ เพ็ญแข ดำรงอยู่ในสถานะแห่งหัวหมู่ทะลวงฟัน

แนบแน่นยิ่งกว่า นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์

แนบแน่นยิ่งกว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือแม้กระทั่ง นพ.เหวง โตจิราการ

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ขยับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ขยับ

 

กล่าวสำหรับกรณีของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ถือได้ว่าฝ่ายที่ยืนอยู่กับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นฝ่ายรุก

รุกอย่างต่อเนื่อง

แม้จะได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูงให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่

เพราะอยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง”

การกำหนดให้ นายชัย ชิดชอบ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร สะท้อนให้เห็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองในพรรคพลังประชาชน

เป็นกลุ่มอำนาจอันมีรากฐานมาจาก “บุรีรัมย์”

เป็นกลุ่มอำนาจที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เส้นทาง นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็น “ดัชนี” ชี้ทิศทางในทางการเมือง

เหมือนกับกรณีของ นายจักรภพ เพ็ญแข ที่กำลังกลายเป็น “หัวเชื้อ” อย่างยอดเยี่ยมให้กับการเคลื่อนไหวในลักษณะ 3 ประสานทางการเมือง

เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

พลิกแต่ละจังหวะก้าวทางการเมืองในการรุกไล่และกระหน่ำไปยัง นายจักรภพ เพ็ญแข ก็จะมองเห็นลักษณะอันเป็น “กระบวนการ”

นี่เป็นเรื่องเนื่องแต่ “ปาฐกถา” ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

นี่เป็นเรื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ขณะที่ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นแกนนำ “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือ “นปก.”

เป็นปาฐกถาในยุคก่อน “การเลือกตั้ง”

เมื่อ นายจักรภพ เพ็ญแข ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“กระบวนการ” ฟื้นเรื่องราวก่อน “การเลือกตั้ง” จึงได้เริ่มขึ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะ “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็นคนแรกที่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รับทราบโดยให้เหตุผลว่าปาฐกถาของ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็น “ทัศนคติที่อันตราย”

เป้าหมายต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์ คือ จะยื่นถอดถอน นายจักรภพ เพ็ญแข กรณีการแทรกแซง “สื่อ”

ทัศนะที่เป็น “อันตราย” อาจยังไม่แจ่มชัด

 

ต่อเมื่อ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี พนักงานสอบสวน (สบ.2) สน.บางมด ช่วยราชการ สน.พหลโยธิน เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปราม เพื่อดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากปาฐกถา

รูปธรรมแห่ง “ทัศนะอันตราย” ของ นายจักรภพ เพ็ญแข จึงเริ่มมีการเปิดเผยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ความร้อนแรงของ “ปาฐกถา” เริ่มเป็นที่ “แพร่กระจาย” มากขึ้น

เมื่อผู้นำเพล่าทัพได้นัดหมายหารือกันนอกรอบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ระบุว่า เป็นการหารือในกรณีที่มีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ที่ประชุมผู้นำเหล่าทัพมีมติมอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ประสานกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อให้ดำเนินการกับ นายจักรภพ เพ็ญแข

ระหว่างที่ผู้นำเหล่าทัพมีการเคลื่อนไหว ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ก็ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาเพื่อส่งต่อให้ ป.ป.ช.ถอดถอน นายจักรภพ เพ็ญแข ออกจากตำแหน่ง

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงสั้นๆ ว่า หาก นายจักรภพ เพ็ญแข ชี้แจงสังคมไม่ได้ก็ควรพิจารณาตัวเอง

ถามว่าทางด้าน นายจักรภพ เพ็ญแข ดำเนินการอย่างไร

 

ทันทีที่มีการเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์ ทันทีที่มีการเคลื่อนไหวจากผู้นำเหล่าทัพ นายจักรภพ เพ็ญแข ออกมาปฏิเสธ ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การแปลปาฐกถาที่มีการเผยแพร่มีความคลาดเคลื่อน

จึงประกาศที่จะถอดคำแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยด้วยตนเองเพื่อเป็นการยืนยัน

เป็นคำประกาศในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และต่อมา ในวันที่ 26 พฤษภาคม ก็ได้นำคำแปลฉบับของตนเองออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ขณะเดียวกัน ก็ได้ยื่นใบลากิจเป็นเวลา 7 วัน เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาคำแปลแล้วตัดสินด้วยตนเอง

และยืนยันว่า “ไม่มีความจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะเรื่องนี้”

เมื่อเห็นตัวละครแต่ละตัวที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเหล่าทัพ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็คาดหมายได้เลยว่า การเคลื่อนไหวนี้จะยุติลงได้อย่างง่ายดาย

นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกแถลงตอบโต้ นายจักรภพ เพ็ญแข ว่าแปลผิด 7 ประเด็น

นั่นก็คือ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี รองเลขาธิการพรรคชาติไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ นายจักรภพ เพ็ญแข ลาออกจากตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสอบสวนคดีอันกรมตำรวจได้จัดตั้งขึ้นได้ประชุมและสรุปความเห็นเบื้องต้น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ระบุว่า นายจักรภพ เพ็ญแข มีพฤติกรรมความผิดฐานดูหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ผลที่ตามมาอย่างฉับพลันก็คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ถือได้ว่า นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นเหยื่อในระดับ “รัฐมนตรี” คนแรกที่ต้องทัณฑ์ในทางการเมือง

สะท้อนให้เห็นว่า “ความขัดแย้ง” ที่เคยมีมายังไม่จบลง

ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 อาจทำให้พรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นายจักรภพ เพ็ญแข อาจได้เป็นรัฐมนตรี

และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจได้โอกาสในการบินกลับประเทศพร้อมกับบรรยากาศแห่งการต้อนรับด้วยความคึกคัก

แต่การดำรงอยู่ของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ก็ใช่ว่าจะมั่นคง

นายจักรภพ เพ็ญแข อาจประสบชะตากรรมเป็นรายแรก นายยงยุทธ ติยะไพรัช อาจกำลังเดินฝ่ากับระเบิดที่วางไว้ตลอดสองรายทาง

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีสัญญาณ “เตือน” ไปยัง นายสมัคร สุนทรเวช