การเมือง ศิลปะ ‘นิกสัน’ ถึง ‘เมาเซตุง’ นายทุน ชาวนา

บทความพิเศษ

 

การเมือง ศิลปะ

‘นิกสัน’ ถึง ‘เมาเซตุง’

นายทุน ชาวนา

 

ยิ่งสนทนาบรรยากาศในอิทะกะ คอร์แนล ยิ่งมากด้วยความเข้มข้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสนทนากับนักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นักการทหาร ตลอดจนนักมานุษยวิทยาเท่านั้น

หากแต่ยังขยายวงไปยัง “อาร์ติสต์” จาก “ละแวกหน้าพระลาน”

หากแต่เป็นบรรยากาศที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มชิน กับสีสันใหม่ในทางดนตรี เนื่องจากไชน่า ทาวน์ ของนิวยอร์ก ตรงคะแนล สตรีต อันเป็นย่านสำคัญของการจัดตู้โชว์สินค้าปรากฏการแข่งขันกันอยู่ในที

แฟชั่นใหม่ๆ ที่บินจากนิวยอร์กไปกรุงเทพฯ ออกมาจากแหล่งแฟชั่นเหล่านี้

ร้านหนึ่งจัดแต่งหน้าร้านเป็นพิเศษแบบจีน ข้างในมีสินค้าจีนแดงวางจำหน่ายอย่างอหังการ์ ส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสาน

ร้านจีนหลายร้อยร้านเปิดเพลงจีนระงม เสียงขิม เสียงซอ เสียงผีผา ฯลฯ ดังผาดโผนโจนทะยานออกมานอกถนน กลิ่นธูปควันเทียนของศาลเจ้าแม่กวนอิมกระจายออกมา

บรรยากาศของ “อาร์ติสต์” จาก “ละแวกหน้าพระลาน” อันเคยเป็นความคุ้นตาอย่างยิ่งในอดีตเผยแสดงร้านเบียร์ฮิปปี้ วอชิงตันสแควร์ กรีนนิช วิลเลจ

องค์ประกอบในทาง “ศิลปะ” องค์ประกอบนี้ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลย

 

องค์ประกอบ ใหม่

ละแวก หน้าพระลาน

ถามว่าตัวละครเป็นใครบ้าง เริ่มจากที่เรียกขานว่า “ไอ้น้อย ภักดี” ตามมาด้วย “อรชุน”

ตามมาด้วย “บุญศรี” ตามมาด้วย “ทองเย็น”

ดำเนินไปในบรรยากาศที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งโจทย์ขึ้นจากปรากฏการณ์จริง

บนสมมุติฐานที่ว่า “ถึงแม้จะมีคนจีนบางกลุ่มนิยมเจียงไคเช็คและเกลียดเมาเซตุงไม่น้อย แต่คนจีนทุกคนมีความรู้สึกดีใจเหมือนกันที่ประเทศจีนกำลังมีบทบาททางการเมืองของโลก เขาหยิ่งในความเป็นคนจีน

เขารู้สึกเป็นสุขมากถ้าหากคนทั้งโลกจะหันไปมองเขาเป็นจุดเดียว ไม่ว่าตัวเขาเองจะเกลียดเมาเซตุงขนาดไหนก็ตาม

ปรากฎการณ์ก็คือ จีนที่สนับสนุนเจียงไคเช็คก็โบกธงไต้หวันไปเดินขบวนที่หน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ และจีนที่สนับสนุนเมาเซตุงก็ยกธงแดงไปเดินขบวนพร้อมกันคนละฟากถนน

คำถามคือ สมมุติว่าคนจีนทะเลาะกันเองแล้วก็ฆ่ากันตายหมดในนิวยอร์กใครจะเป็นฝ่ายเดือดร้อนที่สุด

หลายคนอาจคิดว่าเป็นตำรวจนิวยอร์ก หรือรัฐบาลอเมริกา

“ผิด” เป็นเสียงแย้งจาก น้อย ภักดี “คนไทยเดือดร้อนที่สุดเพราะไม่รู้จะไปซื้อกับข้าวได้ที่ไหน”

นี่คือความจริง ความจริงอันดำรงอยู่ภายในบทสนทนา

 

ภาพพิมพ์ นิวยอร์ก

เงาสะท้อน อรชุน

ประเด็นหนึ่งซึ่ง อรชุน อาร์ติสต์ละแวกหน้าพระลานซึ่งกำลังสร้างภาพพิมพ์อยู่ถนนที่ 9 ในนิวยอร์กยกขึ้นมา

“เขาว่าคนไทยอพยพมาจากแถบเขาอัลไต ในประเทศจีนจริงหรือเปล่า”

เป็นการเจาะจงถามนักโบราณคดีจากวังท่าพระไม่ไกลจากละแวกหน้าพระลานเท่าใดนัก

และวันนี้นั่งกรึ่มเบียร์กันอยู่ในย่านกรีนนิช วิลเลจ นิวยอร์ก

“ก็คงมีใครสักคนจนได้แหละน่าที่เคยอยู่ภูเขาอัลไต แล้วก็คงตายเสียก่อนที่จะเดินทางพ้นตีนเขาอัลไต ส่วนคนไทยก็คงจะทำมาหากินอยู่แถวแม่น้ำเจ้าพระยานั่นแหละ ไม่ได้เคยอยู่ที่ไหน ไม่ได้อพยพมาจากไหน”

นี่ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นความหวาดกลัวต่อ “จีน” หากแต่ยังตอกย้ำให้เห็นว่าความคิด “คนไทยมาจากไหน” ได้ตกผลึกทางความคิดของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เห็นได้จากการสะท้อนผ่าน “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” เห็นได้จากการยืนยันผ่านเมด อิน U.S.A. ตอนว่าด้วย “โง่ เง่า เต่า ตุ่น”

เป็นความโง่ เง่า เต่า ตุ่น บนฐานแห่งความไม่รู้จัก “จีน”

 

ผลผลิต จีนแดง

ใน ยู เอส เอ

ความจริง คนอเมริกันมันไม่เห็นกลัวคอมมิวนิสต์ อาจเป็นเพราะประเทศมันใหญ่โต แต่กูเห็นนักเรียนอเมริกันมันอ่านหนังสือจากจีนแดงแล้วอยากอ่านบ้าง

เพราะจะได้รู้เรื่องของจีนแดง

แต่เชื่อไหม ขนาดกูเห็นเพียงหนังสือเมาเซตุงในร้านหนังสือข้างๆ บ้านเราที่ถนนสิบเอ็ด กูยังไม่กล้าแม้แต่จะมองเลย

กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวคนจะเห็น

กลัวจะถูกจับเข้าคุกฐานเลื่อมใสคอมมิวนิสต์ บางทีอยากจะซื้อไปดูสักเล่ม แต่ก็กลัวว่าถ้าหากตำรวจค้นบ้านแล้วพบหนังสืออย่างนั้นก็จะถูกตั้งข้อหาว่ามีเอกสารคอมมิวนิสต์ไว้ในครอบครอง

แสดงให้เห็นว่ามีพฤติการณ์เป็นคอมมิวนิสต์

ขนาดอยู่นิวยอร์กกูยังกลัวเลยเพราะตอนอยู่บ้านแถวอีสานเขาว่ากันอย่างนี้ พอเข้าไปเรียนกรุงเทพฯ เขาก็ห้ามกูก็เลยติดเป็นนิสัย

นี่ถ้าหากให้กูไปรบกับคอมมิวนิสต์กูคงไม่เอา เพราะกลัว

 

ประติมากรรม

จาก กรรมาชีพ

พูดถึงหนังสือคอมมิวนิสต์คุณเคยเห็นหนังสือรวบรวมรูปปั้นดินเหนียวของเขามั้ย ผมซื้อไว้เล่มหนึ่ง

ราคาไม่แพงหรอก ประมาณสักเหรียญเดียวเท่านั้น

แต่พิมพ์รูปด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดีเลย หนาปึก เป็นหนังสือรูปปั้นดินเหนียวที่อาร์ติสต์คอมมิวนิสต์ปั้นเป็นเรื่องราวความลำบากของชาวนาสมัยก่อนที่คอมมิวนิสต์จะครอบครองจีนได้

ทั้งหมดดูเหมือนจะมีร้อยรูปปั้น ปั้นเหมือนจริงและขนาดเท่าคนจริง แสดงไว้ที่แคว้นเสฉวนหรืออะไรนี่แหละจำไม่ได้

แต่สถานที่แสดงเขาไม่เลวทีเดียวเพราะรู้สึกจะเป็นคฤหาสน์โบราณของพวกนายทุนเจ้าของที่ดิน มีลักษณะเป็นศาลเจ้าที่เห็นในบ้านเรา แต่ขนาดใหญ่กว่า เป็นระเบียงล้อมรอบแบบระเบียงคดรอบโบสถ์หรือวิหาร

รูปปั้นก็ตั้งแสดงรอบ ฟีลลิ่งของรูปปั้นนับว่าสมบูรณ์ทีเดียว เพราะอนาโตมี่เขามันมาก กล้ามเนื้อของชาวนาขึ้นเป็นมัดๆ แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากที่ทำนา

และระยะทางที่ชาวนาต้องขนข้าวมาให้นายทุนเพื่อเป็นค่าเช่า

สำหรับรูปของบรรดานายทุนนั้นอ้วนพี ไขมันเต็มหน้าท้อง และทุกสัดส่วนของร่างกายซึ่งตรงข้ามกับโครงกระดูกของเด็กและคนแก่ ของหญิงชรา และกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ของคนหนุ่มที่มีกำลังวังชา

แต่ขณะเดียวกันก็มีท่าอิดโรยและสีหน้าท้อแท้ที่ไม่มีข้าวจะกินเพราะเอามาให้นายทุนกินหมด

ตอนท้ายภาพปั้นนี้แสดงให้เห็นชาวนาเหล่านี้ลุกขึ้นต่อสู้นายทุนโดยการนำของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือคำสอนของเมาเซตุง

 

ความคิด เมาเซตุง

ศิลปะ รับใช้ การเมือง

ผมไม่รู้เรื่องการเมืองแต่เมื่อเห็นภาพปั้นดินเหนียวเหล่านี้แล้วเข้าใจได้ทันทีว่าเมาเซตุงใช้ศิลปะมารับใช้การเมืองได้เป็นอย่างดี

ผมดูแล้วยกย่องคนปั้นว่าเป็นอาร์ติสต์ทีเดียว

เพราะสัดส่วนต่างๆ ลงตัว บางตอนทำรายละเอียดแลเห็นเส้นผมและหนวดเคราหรือรอยยับของเสื้อผ้า แต่บางตอนแสดงให้เห็นอารมณ์ของช่างที่ทำอย่างหยาบๆ แสดงให้เห็นเพียงเส้นรอบรูป ใช้นิ้วขูดๆ ดินให้เป็นรอยของความเคียดแค้นนายทุน

โหนกแก้ม โหนกคิ้ว มุมปากที่เม้มของชาวนาได้อารมณ์ดีมาก ดวงตาของเด็กเล็กๆ บางรูปหวาดผวาต่อการกระทำของนายทุนที่โหดร้าย และเด็กบางคนมีดวงตาแสดงความฉงนสนเท่ห์

โอ๊ย มากมาย

ผมอธิบายไม่ถูก เพราะมีตั้งร้อยกว่ารูป คงใช้เวลาปั้นนานทีเดียวดูแล้วคิดถึงตอนที่เข้าเรียนศิลปากรปีแรกๆ

ปั้นดินเหนียวกัน

เออ คิดถึงภาพปั้นอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันด้วย เพราะรูปลักษณะอย่างเดียวกันหากแต่ของเขาดีกว่าของเรามาก

เพราะไม่เชย

 

ประติมากรรม

ใน จินตนาการ

ทัศนะของ “ศิลปิน” จาก “ละแวกหน้าพระลาน” ก่อเกิดจินตนาการกว้างไกล กว้างไกลจากจีนมาถึงชาวบ้านบางระจัน

เป็นเรื่องในทาง “ประวัติศาสตร์” เป็นเรื่องในทาง “การเมือง”

การเมืองของอเมริกา การเมืองของจีน การเมืองของเวียดนาม โยงยาวไปยังศิลปะในเชิงประติมากรรม

เป็นประติมากรรมในทางการเมือง