กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

 

กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

 

ท่อนท้ายของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2567 เกี่ยวกับคำร้องเรื่องขอให้พิจารณาการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ในกรณีการเสนอขอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ มีข้อความคำวินิจฉัยที่สมควรนำมาเป็นประเด็นพิจารณาคือ

“อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย”

ความหมายเบื้องต้นของข้อความดังกล่าวคือ ไม่ได้ปฏิเสธหรือห้ามการแก้ไขในอนาคต โดยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 122 ยังสามารถแก้ได้ หากเป็นการกระทำด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

แต่คำถามที่ต้องหาคำตอบคือ อะไรคือกระบวนการโดยชอบ อะไรคือกระบวนการโดยไม่ชอบ

 

กระบวนการโดยไม่ชอบ

หากพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวโดยละเอียด จะเห็นการบรรยายถึงสิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่นำไปสู่การวินิจฉัยมีอยู่ 5 ประการ คือ

1) การเสนอแก้ไขกฎหมายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล 44 คน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2564

2) การเสนอนโยบายดังกล่าวในการหาเสียงอย่างต่อเนื่อง

3) การเข้าร่วมรณรงค์และชุมนุมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

4) การเป็นนายประกันผู้ต้องหาในความผิดกฎหมายดังกล่าว

และ 5) การแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขหรือยกเลิกผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์

เมื่อลงลึกในรายละเอียดการเสนอแก้ไขกฎหมาย เป็นการเสนอให้แยกลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกมาจากหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มบทบัญญัติของเหตุการณ์ยกเว้นโทษ ให้สามารถติชมโดยสุจริต การให้มีการขอพิสูจน์ความจริงในคดีทำให้ข้อความมีกระจายสู่สาธารณะทำให้เป็นการเสื่อมพระเกียรติ การให้ความผิดในลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์ทำให้กลายเป็นเรื่องความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบัน เป็นการลดสถานการณ์คุ้มครองของสถาบันและให้สถาบันเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน

เมื่อนำแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายมาใช้ในการรณรงค์หาเสียง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเข้าไปเป็นฝักใฝ่ต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง จึงถือว่าเป็นเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อนำองค์ประกอบทั้งหมดมาร้อยเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำทั้งหมดเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นกระบวนการแก้ไขด้วยกระบวนการนิติบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

กระบวนการโดยชอบในมุมมองของศาล

หากถอดความหมายจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบคงจะหมายถึงการที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการแก้ไขกฎหมาย โดยผ่านช่องทางการเสนอของรัฐสภาและวิธีการที่ระบุในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่หนุนเสริมกันอย่างที่เคยเกิดขึ้นตามคำบรรยายของศาล

มาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ ระบุถึง ช่องทางการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรมี 3 ช่องทางคือ (1) โดยคณะรัฐมนตรี (2) โดยการเข้าชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน และ (3) จากการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ

มาตรา 136 ระบุถึงขั้นตอนว่าเมื่อพิจารณาเสร็จในขั้นสภาผู้แทนราษฎร จะต้องนำไปผ่านขั้นตอนของวุฒิสภา ซึ่งมีกรอบเวลาในการดำเนินการ 60 วัน ซึ่งอาจเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งจะมีกระบวนการระบุไว้ในมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 145 เมื่อผ่านสองสภาแล้ว ก่อนนายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ยังต้องพักรอไว้เป็นเวลา 5 วัน และหากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือจากสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสองสภา หรือนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ก็ยังสามารถส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้อีก

กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบจึงเป็นการตีกรอบให้เกิดการกระทำตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีกระบวนการอื่นๆ เช่น การนำเสนอเป็นนโยบายพรรคการเมือง การเข้าร่วมรณรงค์ชุมนุมทางการเมือง การเป็นนายประกันให้กับคดี ม.112 และ การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะหรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์

 

กระบวนการโดยชอบ ชอบหรือไม่

หนึ่ง การเสนอแก้กฎหมาย โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องจำกัดเนื้อหาหรือไม่ และข้อเสนอใดถือเป็นการเสนอที่ไม่สามารถกระทำได้นั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะตีกรอบในอนาคต เพราะหากยึดถือเพียงเนื้อหาที่เคยเสนอในอดีตเป็นเรื่องที่เสนอไม่ได้ ภายหน้าก็อาจมีเนื้อหาที่แตกต่างเสนอโดยช่องทางต่างๆ ได้อีก

การเสนอแก้กฎหมายจึงควรให้ความไว้วางใจต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีมติด้วยเสียงข้างมากในสภาที่จะเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามที่เหมาะสม โดยมีการพิจารณาถึง 3 วาระ และยังมีขั้นตอนในวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญตบท้าย จึงไม่น่าต้องกังวลว่า จะมีเนื้อหาใดไม่ถูกต้อง

สอง การนำเสนอเป็นนโยบายพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ใช้วิจารณญาณเองว่า นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมควรประกอบการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่ หากเป็นนโยบายที่ไม่ดี ย่อมไม่ได้รับความนิยมและกลายเป็นความเสื่อมถอยในคะแนนเสียงของพรรคการเมืองนั้นเอง

สาม การเข้าร่วมรณรงค์และกิจกรรมทางการเมืองควรเป็นเรื่องความรับผิดชอบของตัวบุคคลหากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นว่าเป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรคให้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ด้วย ซึ่งหากเป็นความผิด คณะกรรมการบริหารต้องรับผิดด้วย

สี่ ประเด็นการเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาคดีอาญา หรือคดีการเมืองใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่ควรมีการไปจำกัดกิจกรรมการดำเนินการ เพราะไม่ว่าคดีอาญาหรือคดีการเมืองใดต้องสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้ไม่มีความผิดและมีสิทธิได้รับการประกันตัว

ห้า การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะและสังคมออนไลน์ เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ผู้แสดงความคิดเห็นต้องรับผิดชอบตนเองในกรณีที่กล่าวข้อความเป็นเท็จ มีการใส่ร้ายให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย ให้ถ้อยคำหยาบคาย หมิ่นประมาท หรือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จสู่สาธารณะ

นอกจากนี้ การตีกรอบกระบวนโดยชอบที่ต้องกระทำในรัฐสภาและกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ยังเป็นการกีดกันประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านการออกกฎหมาย เหมือนกับบอกว่า กระบวนการออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายนั้นต้องกระทำกันในรัฐสภา โดยประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นใดๆ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีผู้ถูกร้องที่หนึ่ง คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้ถูกร้องที่สอง คือ พรรคก้าวไกลที่ถูกวินิจฉัยว่า การกระทำต่างๆ ในอดีตดังกล่าวถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอาจจะมีผลต่างๆ ตามมา รวมถึงการสั่งห้ามการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายอื่นใดเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ให้มีการแก้ไขด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบในอนาคต แต่ย่อมเป็นกรอบให้ผู้อื่นที่แม้ไม่ได้เป็นผู้ถูกร้องไม่สามารถกระทำการในลักษณะดังกล่าวด้วย

กรอบคำว่า กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ จึงอาจนำไปสู่ความไม่ชอบที่จำกัดพื้นที่ของการเสนอกฎหมายไว้ในรัฐสภาเท่านั้นหรือไม่ หรือศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตจะต้องเป็นผู้ให้คำตอบอีกครั้ง