ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เล่าถึงปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023, แคมเปญประชาสัมพันธ์ประเทศฝรั่งเศสครั้งใหม่ : “สร้างความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร เลือกฝรั่งเศส”
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปารีส 2024
และการเตรียมเปิดอาสนวิหารนอเทรอดามหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงปารีส
ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023
(France-Thailand Year of Innovation 2023)
“กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ.2022-2024) ที่ลงนามร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 และได้รับแรงผลักดันทางการเมืองที่สำคัญในระดับสูง โดยเริ่มจากการเยือนไทยของประธานาธิบดีมาครง (Emmanuel Macron) ของฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022”
“ต่อมา ในเดือนมกราคมปี 2023 นายออลีวีเย แบ็ชต์ (Olivier Becht) รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศฝรั่งเศสด้านการค้าต่างประเทศ เดินทางมาเปิดกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทยที่กรุงเทพฯ จากนั้นระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม ปีเดียวกัน นางซีลวี เรอตาโย (Sylvie Retailleau) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศส เดินทางเยือนไทยเป็นครั้งแรก และได้ลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเพื่อกระชับความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
“ตลอดปี 2023 มีกิจกรรมที่จัดขึ้นทั้งในฝรั่งเศสและไทยภายใต้เครื่องหมายปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ทั้งหมด 33 กิจกรรม ใน 4 กลุ่มสาขาที่สร้างแรงผลักดันใหม่ต่อความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ได้แก่ 1) สาธารณสุข ความงามและการดูแลสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพ 2) อากาศและอวกาศ 3) สิ่งแวดล้อม 4) อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและสร้างสรรค์”
“มีโครงการใหม่ๆ ในระหว่างปี รวมถึงโครงการของแอร์ปาริฟ (Airparif) หน่วยงานเฝ้าระวังคุณภาพอากาศจากฝรั่งเศส ที่ได้เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ดำเนินโครงการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระดับนานาชาติ AIRLAB Microsensors Challenge เพื่อประเมินประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เข้าร่วมโครงการทั้งภายในและภายนอกอาคาร”
“นอกจากนี้ ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023 ยังถือเป็นปีแห่งความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่อีกด้วย กับการนำส่งดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2) ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู (Kourou) เฟรนช์เกียนา (French Guiana) ประเทศฝรั่งเศส ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัท Airbus ของฝรั่งเศส กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA”
แคมเปญประชาสัมพันธ์ประเทศฝรั่งเศสครั้งใหม่
: “สร้างความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร เลือกฝรั่งเศส”
(Make it iconic, Choose France)
“คนทั่วไปจะสังเกตเห็นได้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสได้เปิดตัวแคมเปญประชาสัมพันธ์ประเทศฝรั่งเศสครั้งใหม่ภายใต้สโลแกน ‘สร้างความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร เลือกฝรั่งเศส’ หรือ Make it iconic, Choose France”
“จุดมุ่งหมายของแคมเปญนี้ก็เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และความโดดเด่นของฝรั่งเศสให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากลโดยเน้นย้ำถึงความกล้าคิด กล้าทำ และจิตวิญญาณแห่งนวัตกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของฝรั่งเศส สะท้อนผ่านพลวัตทางเศรษฐกิจ องค์ความรู้ พลังทางศิลปวัฒนธรรม ศิลปะด้านอาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งแคมเปญนี้มีกลุ่มเป้าหมายกว้างขวาง”
“ส่วนในกรุงเทพฯ เราได้เลือกวิธีการนำเสนอแคมเปญดังกล่าวแบบไม่ซ้ำใคร ด้วยการแสดงข้อความสโลแกนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส บนเรือโดยสารที่ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา”
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
และพาราลิมปิกปารีส 2024
“แน่นอนว่าฝรั่งเศสมีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์หลังจากปี 1900 และ 1924 ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งศตวรรษพอดีนับตั้งแต่การแข่งขันครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นในฝรั่งเศส”
“ในปี 1894 ชาวฝรั่งเศสชื่อ ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) เป็นผู้นำการฟื้นฟูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในยุคสมัยใหม่ ทั้งนี้ เราต้องการทำให้การแข่งขันในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมหกรรมกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของทุกคน”
“เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมได้กล่าวถึงเกี่ยวกับนวัตกรรมและความโดดเด่น ฝรั่งเศสต้องการที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในระหว่างการแข่งขันในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างพิธีเปิด ซึ่งจะจัดขึ้นกลางแม่น้ำแซน (the Seine) หรือการมุ่งเน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน ความเสมอภาค และการเข้าถึงได้โดยง่ายของทุกคน”
อาสนวิหารนอเทรอดามหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงปารีส
เตรียมเปิดอีกครั้งในเดือนธันวาคมปี 2024
“งานบูรณะกำลังคืบหน้าไปอย่างน่าพอใจ ตามเป้าหมายที่ประธานาธิบดีมาครงตั้งไว้ คือการเปิด
อาสนวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Notre-Dame Cathedral) ภายในห้าปี หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้อันน่าสลดใจ”
“และในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นการกลับคืนมาของยอดแหลม (ของอาสนวิหารแห่งนี้) เหนือน่านฟ้ากรุงปารีส”
อาชีพทางการทูตมีผลต่อชีวิต
“ผมเริ่มต้นการทำงานที่กระทรวงต่างประเทศหลังสอบผ่านเมื่ออายุ 21 ปี ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น โดยรู้ตั้งแต่อายุยังน้อยว่านี่คือเส้นทางที่ผมอยากจะเดินต่อไป วิชาชีพก็อย่างหนึ่งประสบการณ์ก็อีกอย่างหนึ่ง การเป็นเอกอัครราชทูตได้ถูกสร้างขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจากการสั่งสมประสบการณ์ในประเทศต่างๆ และในหน้าที่ต่างๆ พร้อมกับระดับความรับผิดชอบที่เพิ่มตามขึ้นมาด้วย เป็นเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่ผมเริ่มต้นอาชีพนี้ ผมรับรองได้เลยว่าความกระตือรือร้นของผมยังคงเดิมไม่เคยเปลี่ยน”
ด้านความร่วมมือทางวัฒนธรรม
“ตั้งแต่ผมมาถึงกรุงเทพฯ มีการขับเคลื่อนความร่วมมือทางวัฒนธรรมอย่างกระตือรือร้นมาก ผมรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญสองรายการซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสร่วมกับหุ้นส่วนฝ่ายไทย กิจกรรมแรกคือ เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชั่น (Beyond Animation Festival) ที่นำภาพยนตร์แอนิเมชั่นล่าสุดมาจัดฉายให้ชาวไทยได้ชมหลายสิบเรื่อง”
“กิจกรรมที่สองคือ Galleries’ Night ซึ่งฉลองการจัดกิจกรรมครบรอบเป็นปีที่ 10 ในปี 2023 กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นเวลาหลายวันในเดือนพฤศจิกายน ที่กรุงเทพฯ และในเดือนธันวาคม ที่บางแสน โดยมีหอศิลป์ แกลเลอรี่ พื้นที่แสดงงานศิลปะ คาเฟ่ และร้านอาหารกว่า 80 แห่งที่เข้าร่วมกิจกรรมเปิดให้บริการในช่วงค่ำ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมผลงานของศิลปินได้ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง”
“ผมเองก็ได้ไปเยี่ยมชมแกลเลอรี่เหล่านี้หลายแห่งโดยรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า พร้อมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเราก็หวังว่าจะขยายกิจกรรมนี้ไปยังเชียงใหม่ในครั้งต่อไปช่วงปลายปี”
“เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ดำเนินการนำภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่องต่างๆ มาจัดฉายในไทย เช่น ‘Anatomie d’une chute’ หรือ ‘Anatomy of a Fall’ ซึ่งได้รับรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งล่าสุด รวมทั้ง ‘La Passion de Dodin Bouffant’ หรือ ‘The taste of things ตำรับรัก ยอดคนก้นครัว'”
“นอกจากนี้ สมาคมฝรั่งเศสทุกแห่งในไทย โดยเฉพาะสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) ศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทยแห่งแรกในไทย ปัจจุบันตั้งอยู่ในอาคารที่มีสถาปัตยกรรมงดงามใกล้กับสวนลุมพินี ยังนำเสนอรายการกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมคุณภาพที่หลากหลาย ตลอดทั้งปีอีกด้วย” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022