เรื่องน่าสนใจของการวิ่งมาราธอน

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เรื่องน่าสนใจของการวิ่งมาราธอน

 

การแข่งขันวิ่ง บุรีรัมย์ มาราธอน 2024 เพิ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 มีนักวิ่งจากทั่วโลกกว่า 30,000 คนลงแข่ง

แมตธิว แซมเปรู (Matthew Samperu) จากประเทศเคนยา ครองแชมป์ฝ่ายชาย ทำเวลา 2.09.54 ชั่วโมง

แชมป์คนไทยฝ่ายชาย คือ สัญชัย นามเขต ครองแชมป์เป็นสมัยที่ 5 เวลา 2.34.43 ชั่วโมง

มาราธอนหญิง แชมป์คือ ชารอน เชลิโม อารูโช (Sharon Chelimo Arusho) จากเคนยา ทำเวลา 2.27.59 ชั่วโมง

แชมป์คนไทยฝ่ายหญิง คือ ลินดา จันทะชิด ทำเวลา 2.59.26 ชั่วโมง

 

สมัยนี้คนรุ่นใหม่ชื่นชอบการแข่งขันที่ท้าทายความอึด เช่น การวิ่งมาราธอน หรือไตรกีฬา ซึ่งในมุมมองของหลายๆ คนก็ไม่ได้แปลกใจที่ผู้ชายจะมาแข่งขันมาราธอน เพราะเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยพละกำลัง ซึ่งผู้ชายมีมากกว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ส่วนผู้หญิง ในอดีตนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันมาราธอน เพราะคนมองว่าร่างกายอ่อนแอเกินไปที่จะแข่งขัน และบอกการวิ่งระยะไกล จะทำลายสุขภาพของผู้หญิง

แต่ในการแข่งขัน Boston Marathon เมื่อปี 1967 แคทเธอรีน สวิตเซอร์ (Katherine Switzer) คือผู้ที่พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถวิ่งมาราธอนได้

แคทเธอรีนสมัครเข้าแข่งขันวิ่งมาราธอนพร้อมกับแฟนหนุ่ม โดยเธอใช้ชื่อ K. Switzer ไม่มีใครเอะใจว่าจะเป็นชื่อของผู้หญิง

แต่เมื่อเริ่มการแข่งขันและวิ่งไปได้ไม่กี่กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ก็สังเกตเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิง ซึ่งในตอนนั้นถือว่าผิดกฎการแข่งขัน จึงวิ่งเข้าไปดึงตัวเธอออกมา พร้อมกับตะโกนว่า “ออกไปจากการแข่งขันซะ แล้วก็เอาเบอร์วิ่งแข่งมาให้ฉัน!” (“Get the hell out of my race and give me those numbers!”)

แต่แฟนหนุ่มของแคทเธอรีนก็มาช่วยขวาง และผลักเจ้าหน้าที่ออกไปเพื่อให้เธอได้วิ่งต่อ เธอใช้เวลา 4 ชั่วโมง 20 นาทีจึงเข้าเส้นชัย

5 ปีหลังจากเหตุการณ์วันนั้น ทุกคนก็สามารถเข้าร่วมแข่ง Boston Marathon ได้ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และภาพของแคทเธอรีนเมื่อปี 1967 ก็กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ทำให้ผู้หญิงได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันวิ่งระยะไกลอย่างมาราธอน

 

ในการแข่งขันมาราธอน ยังไม่มีนักวิ่งมาราธอนคนไหน วิ่งได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย บอกว่าอาจจะต้องรออย่างน้อยอีก 11 ปี คือในปี 2032 กว่าจะมีนักกีฬาที่วิ่งมาราธอนได้เร็วกว่า 2 ชั่วโมง

ดร.ไซม่อน แองกัส (Dr. Simon Angus) ได้ทำการวิเคราะห์สถิติโลกอย่างเป็นทางการของนักวิ่งมาราธอนชายและหญิงตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา และได้สร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาว่านักวิ่งมาราธอนสามารถวิ่งได้เร็วขึ้นเท่าไรตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

และก็พบว่ามีโอกาสที่จะมีนักวิ่งมาราธอนทำลายกำแพงสองชั่วโมงได้ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2032 เพียงแต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีใครทำได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ต้องรอให้ผ่านปี 2032 ไปก่อนถึงจะมีโอกาสที่จะมีนักกีฬาที่วิ่งมาราธอนได้เร็วกว่า 2 ชั่วโมง

จากการวิเคราะห์ของ ดร.ไซม่อน พบว่ามีโอกาสเพียงแค่ 1% ที่จะมีนักวิ่งมาราธอนผู้หญิงทำเวลาได้เร็วกว่า 2 ชั่วโมง

โดยเวลาที่ผู้หญิงจะสามารถทำได้ดีที่สุดในอนาคตคือ 2.05.31 ชั่วโมง