ไอเดียพิลึกฝึก ‘นกแก้วปากจัด’

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ไอเดียพิลึกฝึก

‘นกแก้วปากจัด’

 

ทันทีที่ผมนั่งลงในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เสียงกระแอมไอก็ดังขึ้นมา “อะแฮะๆๆๆๆ” โต๊ะใกล้ๆ น่าจะสำลักน้ำหรืออาหารล่ะมั้ง ผมคิด เสียงไอยังคงดังออกมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง “แค่กๆๆๆๆ” มันบ่อยเสียจนทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะหันไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

แต่แล้วผมก็ต้องแปลกใจเพราะเสียงนั้นไม่ได้มาจากคน แต่เป็นนกแก้วตัวเขื่องที่กระโดดไปมาอย่างคล่องแคล่วอยู่ในกรงขนาดใหญ่

“มันไอแบบนี้ทั้งวันแหละค่ะคุณลูกค้า น้องน่าจะได้ยินอาม่าข้างบ้านไอบ่อย เลยจำมาไอบ้าง” เจ้าของร้านรีบบอก

ผมอดที่จะยิ้มไม่ได้ ปกติได้ยินแต่คนฝึกนกแก้ว นกขุนทองให้ร้อง “แก้วจ๋า ทองจ๋า” แต่ฝึกให้ไอเหมือนอาม่าข้างบ้าน อันนี้ออกแนวชวนเซอร์ไพรส์

เรียกร้องความสนใจได้แบบไม่ซ้ำใครดี

 

ในปี 2022 มีรายงานออกมาในวารสาร Scientific Reports ว่านกแก้วหลายชนิดอาจเลียนเสียงถ้อยคำต่างๆ ได้มากถึง 600 คำ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เข้าใจความหมายของคำทุกคำ แต่แค่นั้นก็น่าตื่นเต้นแล้ว

และนกแก้วที่ทำให้วงการประสาทวิทยานั้นต้องตื่นตัวกันยกใหญ่ก็คือ นกแก้วสีเทาที่ชื่อว่า “อเล็กซ์ (Alex) ของนักพฤติกรรมสัตว์ชื่อดัง ไอรีน เปปเปอร์เบิร์ก (Irene Pepperberg) จากมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University)”

ถ้ามองย้อนกลับไป ชีวิตของไอรีนแอบเหมือนในนิยาย เธอไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับงานวิจัยในสัตว์เลยก่อนที่จะเจออเล็กซ์ แท้จริงแล้ว ไอรีนเรียนมาเพื่อเป็นนักเคมี เธอจบปริญญาตรีสาขาเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือเอ็มไอที และต่อด้วยปริญญาโทและเอกสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

เรียกว่ามาสายเคมีแบบฮาร์ดคอร์

แต่ในช่วงท้ายของการเรียนปริญญาเอกของเธอ ไอรีนก็ไปสะดุดกับสารคดีตอนหนึ่งของ “โนวา (Nova)” รายการซีรีส์วิทยาศาสตร์จากช่องพีบีเอส (PBS) ที่นำเสนอเรื่องราวของ

“สัตว์และการรับรู้ภาษาของมัน”

 

โนวาตอนนี้จุดประกายความสนใจของเธอ ไอรีนเริ่มค้นพบตัวเอง…เธอรู้ในทันทีว่าสิ่งนี้ต่างหากคือสิ่งที่เธอสนใจและอยากค้นคว้าอย่างแท้จริง ไอรีนตัดสินใจเบนเข็มจากนักเคมีทฤษฎี มาเป็นนักพฤติกรรมศาสตร์ที่เน้นศึกษาเพื่อความเข้าใจ “ภาษาสัตว์” ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดและกล้าหาญมาก

ใครจะรู้ว่ารายการทีวีแค่ตอนเดียวจะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเคมีสาวดาวรุ่งยอมละทิ้งสิ่งที่ร่ำเรียนและตะลุยทำงานวิจัยมากว่า 7 ปี และผันตัวไปตามหาสิ่งที่ใจต้องการ

หลังจากที่จบการศึกษา ไอรีนก็เริ่มวางแผนงานวิจัยของเธออย่างรัดกุม เธอก่อตั้งโครงการวิจัย “การทดลองภาษาในนก (avian language experiment)” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า โปรเจ็กต์อเล็กซ์ (Alex) ขึ้นมา

และสิ่งแรกที่ไอรีนทำสำหรับโปรเจ็กต์นี้ ก็คือตามหานกแก้วที่จะมารับตำแหน่ง “อเล็กซ์”

ไอรีนเริ่มเฟ้นหานกแก้วที่เธอถูกใจ ไม่ช้าไม่นาน ในร้านสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์ ไอรีนก็ได้พบกับนกแก้วหนุ่มสีเทาท่าทางเฉลียวฉลาดและเป็นมิตร

“นี่แหละคือ ‘อเล็กซ์ (Alex)’ ของเธอ” ไอรีนตัดสินใจรับน้องมาเลี้ยง

และเพื่อศึกษาศักยภาพในการเรียนรู้ของนกแก้วอเล็กซ์ ทันทีที่ได้น้องมา ไอรีนก็เริ่มกระบวนการทดลองสอนถ้อยคำต่างๆ ให้กับอเล็กซ์ในทันที

และเธอก็ต้องประหลาดใจเมื่อค้นพบว่าอเล็กซ์นั้นมีความสามารถในการเรียนรู้แบบที่ไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อน

 

ไอรีนเขียนเล่าในหนังสือ Alex & me ของเธอว่า ในเรื่องความฉลาด เธอเชื่อว่าอเล็กซ์นั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าวานร โลมาหรือของสัตว์เลี้ยงลูกน้ำนมอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย

เพราะนอกจากจะจดจำถ้อยคำเจื้อยแจ้วได้กว่าร้อยคำแล้ว อเล็กซ์ยังเข้าใจความหมายของคำศัพท์ที่จำได้ด้วย ไม่ได้แค่จำและท่องไปเรื่อยแบบนกแก้วนกขุนทอง

ที่สำคัญ อเล็กซ์โต้ตอบได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ อีกทั้งยังนับเลขได้ จำแนกสีและรูปร่างของวัตถุได้

และที่สำคัญประท้วงได้ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ… อย่างเช่น เมื่ออเล็กซ์ต้องการกล้วยหอม น้องจะร้องบอกคนเลี้ยงว่า “จะเอากล้วยหอม”

และถ้าน้องได้สิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น ได้ถั่วแทนกล้วยหอม อเล็กซ์จะเริ่มงอนและยืนนิ่ง ไม่ตอบ ไม่พูด

แต่ถ้าเป็นช่วงอารมณ์เสีย ก็จะมีบางทีที่น้องอาละวาด หยิบเอาถั่วขึ้นมาแล้วเขวี้ยงใส่หน้าคนเลี้ยงและร้องโวยวายจนกว่าจะได้กล้วยหอม

และถ้าเหนื่อย อเล็กซ์ก็จะร้องเสียงดังโวยวายว่า “จะกลับแล้ว” และถ้ายังบังคับถามนู่นถามนี่ต่อ ไม่ยอมให้กลับ น้องก็จะเริ่มนิ่งและไม่ให้ความร่วมมือ

ด้วยความเฉลียวฉลาดเกินนกของอเล็กซ์ทำให้น้องกลายเป็นหนึ่งในนกแก้วที่โด่งดังที่สุดในโลกที่ทำให้ทุกคนต้องหันมาฉุกคิดอีกรอบเกี่ยวกับสติปัญญาและศักยภาพในการเรียนรู้ของสัตว์

 

ทว่า ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา ในวันหนึ่งในปี 2007 หลังจากที่อเล็กซ์มีอายุได้ราวๆ 31 ปี… อเล็กซ์จำต้องจากลาไอรีนไปตลอดกาล

“มันเป็นวันที่แย่ที่สุดในชีวิตของฉัน” ไอรีนกล่าว เธอเล่าต่อว่า ถ้อยคำสุดท้ายที่เธอได้ยินจากอเล็กซ์ก็คือ “คุณเป็นคนดี ฉันรักคุณ แล้วเจอกันพรุ่งนี้นะ” ไม่มีใครรู้ว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้คุยกัน…

แม้ว่าชื่อของอเล็กซ์จะย่อมาจาก “การทดลองภาษาในนก” แต่สำหรับไอรีน อเล็กซ์ไม่ใช่เป็นแค่การทดลองงานหนึ่ง แต่เป็นเพื่อนแท้ต่างสปีชีส์ที่ผูกพันกับเธอมานานกว่า 30 ปี

แม้จะสิ้นอเล็กซ์ แต่ความสามารถอันน่าพิศวงของนกแก้วในการเลียนเสียงใหม่ๆ และเรียนรู้ภาษาก็ยังเป็นปริศนาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์มากมายต้องฉงน

 

“ทําไมนกแก้วเลียนเสียงคนได้สบายๆ แต่นกอื่นกลับทำไม่ได้ ได้แค่เสียงร้องจิ๊บๆ แว้ดๆ ไม่กี่เสียง”… ฉีเล่ย เฉา (Zhilei Zhao) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) สงสัย

เป็นไปได้มั้ยว่าสมองของนกแก้ว และนกร้องเพลงนั้นจะมีกระบวนการเรียนรู้เสียงเพลงที่แตกต่างกัน

และด้วยนกทั้งสองกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการที่แยกออกจากกันชัดเจน

คือแยกออกจากกันมาแล้วราวๆ 50 ล้านปี อีกทั้งยังมีความสามารถในการเรียนรู้เสียงที่ต่างกันชัด ประเด็นนี้จึงเป็นคำถามวิจัยที่น่าสนใจมาก…”

ทว่า การเปรียบเทียบสมองนกแก้ว และนกร้องเพลงอย่างซีบราฟินช์ (Zebra finch) นั้น กลับแทบบอกอะไรไม่ได้… แม้จะมีความสามารถแตกต่างกันชัดเจน แต่นกทั้งสองกลุ่มกลับมีสมองที่คล้ายกันมาก ทั้งคู่มีระบบประสาทเรียนรู้เสียงเพลง (neural song system) อยู่สองระบบ นั่นคือ วงจรสมองส่วนหน้าตอนต้น (Anterior Forebrain Pathway, AFP) และวงจรสมองส่วนหน้าตอนท้าย (Posterior Forebrain Pathway, PFP)

จากการศึกษาในอดีต เป็นที่รู้กันว่าในนกร้องเพลง ทั้ง AFP และ PFP มีหน้าที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่สำหรับนกแก้ว สองระบบนี้ทำหน้าที่อะไรบ้างยังไม่มีใครรู้

และเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบบทบาทของ AFP และ PFP ในการเรียนรู้เสียงเพลงของกลไกทั้งสองแบบในนก ฉีเล่ยตัดสินใจทำการทดลองเปรียบเทียบผลของการกดการทำงานของระบบ AFP และ PFP ในนกทั้งสองกลุ่มเป็นการชั่วคราว

และดูว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะออกมาเป็นอย่างไร…

 

ผลที่ได้ก็ทำให้ฉีเล่ยต้องประหลาดใจ เพราะในการเรียนรู้การร้องเพลง การกดการทำงานของ AFP ในนกแก้วคือหายนะ ในขณะที่การกดการทำงานของกลไก AFP แทบจะไม่ส่งผลอะไรเลยกับพฤติกรรมของพวกนกร้องเพลงอย่างซีบราฟินช์

นั่นหมายความว่ากลไกในสมองของนกร้องเพลงกับนกแก้วนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และนั่นคือประเด็นใหม่ที่น่าสนใจสำหรับฉีเล่ย เพราะถ้านกแก้วมีความสามารถในการเลียนเสียงต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งในความเป็นจริง ก็คล้ายๆ กับทักษะในการเลียนเสียงต่างๆ ของมนุษย์ ไม่แน่ถ้าเราศึกษาสมองของมันได้อย่างถ่องแท้ บางทีเราอาจจะเข้าใจกลไกการรับรู้เสียงที่ซับซ้อนของนกแก้วได้ และอาจจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการนี้ได้ในมนุษย์เช่นกัน

การเรียนรู้ทักษะของนกแก้วที่ช่วยให้มันเลียนเสียงได้สารพัดเป็นสิ่งที่ดี และถ้าการเรียนรู้นี้จะสะท้อนให้เห็นถึงกลไกการรับรู้ในสมองมนุษย์ได้ก็ยิ่งดี

แต่บางที สำหรับคนดูแลสวนสัตว์ในศูนย์สัตว์ป่าลินคอห์นชายร์ (Lincolnshire Wildlife Centre)…ถ้าความเข้าใจกลไกในสมองนกนี้จะช่วยให้เขาดัดนิสัยนกแก้วปากเสียได้อาจจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น

เพราะนกแก้วสีเทาวัยคะนองห้าตัว บิลลี่ (Billy) ไทสัน (Tyson) อีริก (Eric) เจด (Jade) และเอลซี่ (Elsie) ที่ทางสวนสัตว์ได้รับบริจาคมาจากทางบ้านเมื่อปี 2020 นั้น เรียนรู้ถ้อยคำที่ไม่ค่อยจะสุภาพนักมาจากเจ้าของเดิม

และพอได้มาอยู่ด้วยกัน พวกมันก็เริ่มรวมตัวกันเป็นแก๊งสามแยกปากสุนัขที่คอยสบถคำด่าออกมาทั้งวันตอบโต้กันไปมา

ด่าคนดู ด่าเด็ก ด่ากันเอง จนเป็นที่ขำขันฮือฮาไปทั่ว

“เราค่อนข้างจะชินกับนกแก้วที่ปากเสีย แต่เราไม่เคยเจอทีเดียวห้าตัว” สตีฟ นิโคลส์ (Steve Nichols) ผู้บริหารสวนสัตว์ลินคอห์นชายร์ให้สัมภาษณ์

 

เขาตัดสินใจจับแยกนกแก้วทั้งห้าเอาไปเลี้ยงหลังฉาก ร่วมกับนกที่เพิ่งรับเข้ามา ไม่เอามาโชว์ออกหน้า เพราะปากเสียเหลือคณาและไปด่าคนดู แต่ที่คาดไม่ถึงคือพวกนกใหม่ที่เพิ่งรับเข้ามาก็เริ่มเรียนรู้จากรุ่นพี่และเริ่มสบถอย่างบ้าคลั่งไม่ต่างห้าตัวแรก ในแก๊งที่เคยมีแค่ห้า ไม่ช้าก็เพิ่มมาอีกสาม ตอนนี้ก็เลยมีแปดหน่อถ้วย กลายเป็นแปดสหายนกแก้วปากตลาดที่ด่ากันทั้งวัน ซึ่งแม้จะฟังดูไม่ดี แต่เรื่องนี้กลับทำให้สวนสัตว์โด่งดังเป็นพลุแตกกลายเป็นไวรัลทั้งในทีวีและในโซเชียล

โดยส่วนใหญ่แล้ว คนดูจะไม่ค่อยซีเรียสที่โดนด่า… ทว่า สตีฟก็ยังอยากจะหาทางดัดนิสัยนกแก้วทั้งแปดอยู่ดี แต่ไม่ว่าเขาจะมีมาตรการอะไรออกมา แก๊งปากเสียทั้งแปดก็ยังเจื้อยแจ้ว แซวไปทั่ว ไม่ยอมหยุด ยังคงด่าคนดูอยู่อย่างสนุกปากเช่นเคย

หมดปัญญา สตีฟลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมนกแก้วหลายคนในทีม และตัดสินใจที่จะสร้างแนวทางขึ้นมาใหม่เพื่อดัดนิสัยนกแก้วปากเสีย

และวิธีการของเขาก็คือ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”

 

สตีฟเผยว่า ในสวนสัตว์มีนกแก้วราวร้อยตัว มีแค่แปดตัวที่สบถถ้อยคำหยาบคาย บางทีถ้าเราเอานกแก้วทั้งแปดเข้าไปรวมกับนกแก้วฝูงใหญ่อีกเก้าสิบกว่าตัว บางที พวกแก๊งแปดแสบอาจจะเริ่มเรียนรู้จากเพื่อนๆ ในฝูงที่อยู่กันอย่างสงบเสงี่ยม และยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นนกแก้วที่เรียบร้อยก็เป็นได้

แต่ส่วนตัว ผมไม่ค่อยจะชอบไอเดียนี้ของสตีฟ… เพราะยังดูค่อนข้างสุ่มเสี่ยง

เป็นไปได้เหมือนกันที่ผลออกมาอาจจะกลับตาลปัตร เพราะไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่านกแก้วทั้งแปดจะตามนกแก้วส่วนใหญ่

ไม่แน่ นกแก้วทั้งฝูงอาจจะเรียนรู้จากแก๊งปากเสียและเปลี่ยนพฤติกรรมไปปากจัดกันทั้งโขยง

และถ้าเป็นเช่นนั้น… บอกเลยว่าไม่อยากจะจินตนาการ!!