ยุทธการ 22 สิงหา : บทบาท ทัศนะ ‘อันตราย’ จากจักรภพ ไปยัง ยงยุทธ

มีการเคลื่อนไหวอันสะท้อนลักษณะผลกระทบและความต่อเนื่องในทางการเมืองอันแหลมคมและทวีความร้อนแรง

1 มาจาก นายยงยุทธ ติยะไพรัช 1 มาจาก นายจักรภพ เพ็ญแข

กรณีของ นายจักรภพ เพ็ญแข ชี้ให้เห็นถึงความไวอย่างเป็นพิเศษจากกลุ่มอำนาจที่สัมพันธ์กับ “รัฐประหาร”

เพราะมองเห็น “เครือข่าย” และ “สายสัมพันธ์”

เป็นสายสัมพันธ์ที่ระยะหลัง นายจักรภพ เพ็ญแข หันหัวเรือมาอยู่ในแนวทางเดียวกันกับกลุ่มของ นายวีระ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ และ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์

รวมถึงกลุ่มพีซทีวีของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

แน่นอน สุดท้ายปลายทางย่อมโยงไปหยุดอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

ยิ่งเห็นการรุกคืบของ นายจักรภพ เพ็ญแข ยิ่งทำให้เกิดความหวั่นไหว

 

หากมองจากพื้นฐานทางครอบครัว หากมองจากพื้นฐานทางการศึกษา หากมองจากพื้นฐานการประกอบอาชีพ

ไม่น่าเชื่อว่า นายจักรภพ เพ็ญแข จะมาอยู่แถวเดียวกับ นายวีระ มุสิกพงศ์

เนื่องจาก นายจักรภพ เพ็ญแข เกิดในครอบครัวทหาร เนื่องจาก นายจักรภพ เพ็ญแข ฝึกปรือวิทยายุทธ์ในสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คอนเน็กชั่นแรกสุดของ นายจักรภพ เพ็ญแข คือ นายพิชัย วาศนาส่ง

นายพิชัย วาศนาส่ง เป็นบัณฑิตทางด้านสถาปัตยกรรมจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และต่อมาเป็นไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม

อาจจะเริ่มต้นในการเป็นผู้มีบทบาทในเรื่องฉากตามรากฐานที่ร่ำเรียนมา แต่ความสนใจอย่างเป็นการจำเพาะคือข่าวต่างประเทศ

เป็นข่าวต่างประเทศที่แนบแน่นอยู่กับรัฐบาล เป็นข่าวต่างประเทศที่ผูกติดอยู่กับสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร

ตรงนี้เองที่ “จูน” นายจักรภพ เพ็ญแข เข้าหา นายพิชัย วาศนาส่ง

 

ภาพของ นายจักรภพ เพ็ญแข ไม่ว่าเมื่อเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเมื่อเข้าเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโท ณ สหรัฐอเมริกา

จึงเป็นภาพของ “โลกเสรี” เป็นภาพอย่างเดียวกันกับภาพของ นายพิชัย วาศนาส่ง เมื่อวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ

แม้ นายพิชัย วาศนาส่ง จะเคยเข้าไปสัมพันธ์กับกลุ่มยึดอำนาจบางกลุ่ม แต่เนื้อแท้ของ นายพิชัย วาศนาส่ง ก็ยังเป็นนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศในปีกของ “โลกเสรี”

นี่ย่อมเป็นภาพอันจำหลักอย่างหนักแน่นของ นายจักรภพ เพ็ญแข ที่ยาวนานกระทั่งเมื่อถึงยุคพรรคไทยรักไทย

และเมื่อพรรคไทยรักไทยต้องมรสุมจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

การเข้าไปร่วมเวทีเดียวกันกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ของ นายจักรภพ เพ็ญแข จึงถือเป็นกรณีพิเศษและก่อให้เกิดความตื่นตะลึงในทางการเมือง

นี่ย่อมเป็น “แนวทาง” แนวทางที่สร้างความตื่นตาอย่างยิ่งสำหรับ นายจักรภพ เพ็ญแข

 

อย่าได้แปลกใจหากในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 นายจักรภพ เพ็ญแข จะทุ่มกำลังให้กับพรรคพลังประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม

และก็ได้รับการตอบแทนอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ

นั่นก็คือ ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช

ก้าวไกลยิ่งกว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์

ภารกิจของ นายจักรภพ เพ็ญแช คือการเข้ากำกับดูแลงานกรมประชาสัมพันธ์และยึดกุมสื่อในความรับผิดชอบของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียง ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์มาบริหารจัดการ

ผลงานแรก คือ การปรับโฉมใหม่ให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยให้ออกมาในรูปแห่ง NBT

จากยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังเป็น NBT ตราบปัจจุบัน

 

แต่แล้วด้วยความผาดโผนไม่ว่าในฐานะ “รัฐมนตรี” ไม่ว่าในฐานะ “นักเคลื่อนไหว” ทางการเมืองอันได้มาก่อนการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2551

ก็ทำเข้าตา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ทำหนังสือถึง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เพื่อให้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กรณีไปปาฐกถาด้วยภาษาอังกฤษที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 โดยระบุว่าเนื้อหาของการปาฐกถาเป็น “ทัศนคติที่อันตราย” ในทางการเมือง

และพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมที่จะยื่นถอดถอน นายจักรภพ เพ็ญแข กรณีการแทรกแซงสื่อ

กรณี นายจักรภพ เพ็ญแข กลายเป็น “หวอด” แรกแห่งการเคลื่อนไหว

ที่เรียกว่า “ทัศนคติอันเป็นอันตราย” นั้นย่อมเกี่ยวข้องอยู่กับ “สถาบัน” และมากด้วยความละเอียดอ่อน

เห็นได้ชัดว่าอะไรคือ “อาวุธ” ที่จะนำมาใช้เป็น “เครื่องมือ”

 

หากดูไปยังแต่ละ “องค์ประกอบ” ก็จะสัมผัสได้ในแกนอันเป็น “กองหน้า” ในการเคลื่อนไหว

1 เป็นพรรคประชาธิปัตย์ 1 เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

พรรคประชาธิปัตย์เล่นบทในพื้นที่ทาง “รัฐสภา” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเล่นบทในพื้นที่ “ประชาสังคม”

ตระหนักในความหวั่นไหวต่อบทบาทของ นายจักรภพ เพ็ญแข

เนื่องจากประเมินว่าบทบาทในการเป็นสื่อ เป็นนักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ

ระนาบเดียวกับ นายพิชัย วาศนาส่ง ระนาบเดียวกับ นางประทุมพร วัชรเสถียร

นั่นย่อมเป็น “ความหมาย” และกลายเป็น “เครดิต” ในทางการเมืองสร้างสีสันและความน่าเชื่อถือเป็นอย่างสูง

จำเป็นต้อง “ทำลาย” จำเป็นต้อง “ตัดไฟ” แต่ต้นลม

 

ขณะเดียวกัน บุคคลซึ่งตกเป็น “เป้าหมาย” พึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูงนอกเหนือจาก นายจักรภาพ เพ็ญแข แล้ว

ย่อมเป็น นายยงยุทธ ติยะไพรัช

นายยงยุทธ ติยะไพรัช อาจสะสมความจัดเจนทางการเมืองมาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเข้าอยู่ในร่มเงาของพรรคไทยรักไทยก็ได้รับการโปรโมตเป็นอย่างสูงและอย่างรวดเร็ว

ได้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่ออยู่ในบท “พิทักษ์” ก็ร้อนแรง แหลมคม กล้าได้กล้าเสีย

หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ นักการเมืองแนวที่ 1 จำนวน 111 คนถูกตัดสิทธิ จึงเท่ากับเป็นโอกาสให้กับ นายยงยุทธ ติยะไพรัช

แต่ก็เป็น “โอกาส” อย่างชนิดตกเป็น “เป้าหมาย”